นับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน คนไทยมักจะมีความเชื่อที่ถูกปลูกฝังเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่อยู่ในความทรงจำมานานนม แต่ทราบไหมคะว่าความเชื่อบางอย่างก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเสียเท่าไร หลายคนยังคงจดจำความเชื่อที่เป็นความเข้าใจผิด วันนี้แอดมินเลยนำความเชื่อเกี่ยวกับ หูตึง ที่ทุกคนเข้าใจผิดพร้อมกับความจริงมาเล่าให้ทุกคนฟังกันค่ะ

อาการ หูตึง เกิดขึ้นเฉพาะในคนแก่เท่านั้น

หูตึง

ความเชื่อความเข้าใจของแต่ละคนมักจะเข้าใจว่า เมื่อแก่ตัวไปแล้วจะเกิดอาการหูหนวกหรือหูตึง ข้อมูลในส่วนนี้เป็นความจริงเนื่องจากเมื่อคนเราอายุมากขึ้นเซลล์ประสาทหูก็จะเสื่อมสภาพลงได้จากการใช้งานมานาน 

แต่ความจริงแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆอีกที่สามารถทำให้คนเรามีอาการหูตึงได้โดยไม่ต้องรอให้แก่เลยค่ะ ยกตัวอย่างเช่นการรับฟังเสียงในชีวิตประจำวัน บางคนอาจใช้ชีวิตอยู่กับเสียงดังอยู่ซ้ำๆทุกวัน วันละหลายชั่วโมงติดต่อกัน เช่น การรับฟังเสียงจากหูฟัง เสียงจากเครื่องดูดฝุ่น เสียงจากเครื่องยนต์ เสียงเพลงในสถานบันเทิง เป็นต้น  การทำงานในที่เสียงดัง เช่น โรงงานอุตสาหกรรม บนท้องถนน หรือ บนเครื่องบิน ซึ่งเสียงที่ดังเกินไปสามารถทำให้เซลล์ประสาทหูชั้นในถูกทำลายได้เช่นกัน และก่อให้เกิดภาวะหูตึงขึ้นได้ก่อนวัยอันควรค่ะ 

นอกจากนี้โรคประจำตัวบางโรค หรือยาบางชนิดเมื่อทานแล้วก็อาจมีผลกระทบต่อหูและเป็นพิษต่อหูได้ สามารถทำให้เกิดอาการหูตึงได้เช่นกันค่ะ

โรคหูตึงสามารถรักษาได้

รักษา หูตึง

จริงอยู่ที่ว่าโรคหูตึงสามารถรักษาได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ทุกคน หากภาวะหูตึงเกิดขึ้นแบบชั่วคราวก็อาจรักษาให้หายได้ เช่น อาการหูตึงหรือได้ยินเสียงเบาลงจากการที่มีขี้หูอุดตันในรูหู หรือการอักเสบของรูหูหรือหูชั้นกลาง เมื่อไปแพทย์และรักษาแล้วก็การได้ยินก็อาจกลับมาเป็นดังเดิมได้  

อาการหูดับหรือหูตึงฉับพลันก็มีโอกาสรักษาให้หายได้เช่นกัน หากได้รับการรักษาที่ทันท่วงที โดยเมื่อสังเกตได้ถึงอาการผิดปกติของหูว่าได้ยินเสียงเบาลงหรือได้ยินเสียงไม่เท่ากันในหูทั้งสองข้าง มีอาการหูอื้อ หูดับ หรือมีเสียงรบกวนในหู ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยไว้นานก็อาจช่วยเหลือไม่ทันทำให้เกิดเป็นภาวะหูตึงถาวรได้

สำหรับผู้ที่หูตึงที่มีสาเหตุมาจากอายุที่เพิ่มขึ้น หรือมีการสูญเสียการได้ยินชนิดประสาทหูเสื่อม ซึ่งเซลล์ขนในหูชั้นในถูกทำลายลงไปแล้ว หรือเกิดภาวะหูตึงถาวรแล้วก็จะไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติได้ 

โรค หูตึง คือเวรกรรมเก่าในอดีต ไม่สามารถป้องกันได้

หูตึง เป็นเวรกรรม

ในความเป็นจริงแล้วอาการหูตึงไม่ได้เกิดจากเวรกรรมหรือกรรมเก่าตามที่ใคร ๆ ต่างพูดกัน แต่โรคหูตึงอาจเกิดขึ้นได้จากหลายๆสาเหตุซึ่งมีทั้งจากสาเหตุที่เราป้องกันไม่ได้เช่นกรรมพันธุ์ เช่นผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัว ปู่ ย่า ตา ยาย เคยมีประวัติหูตึง หูหนวก ก่อนวัยอันควร แต่สำหรับสาเหตุอื่นๆที่เราสามารถป้องกันได้ เช่น จากการใช้งานหูอย่างไม่ถนอม การฟังเสียงดังติดต่อกันเป็นประจำ เป็นต้น ดังนั้นเราจึงสามารถดูแลหูและถนอมการได้ยินของเราให้มีสุขภาพดีได้ ซึ่งก็จะป้องกันการเกิดโรคหูตึงได้เช่นกัน

หากไม่มีอาการผิดปกติก็ไม่ต้องตรวจหู

ตรวจหู

ความจริงเราสามารถตรวจสุขภาพหูและการได้ยินได้เสมอ เสมือนการตรวจโรคอื่นๆในโปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อเป็นการตรวจวัดระดับการได้ยินประจำปีและเพื่อค้นหาความผิดปกติทางการได้ยินได้แต่เนิ่นๆ เนื่องจากบางคนอาจไม่มีอาการผิดปกติแสดง หรือมีอาการน้อยมากจนไม่รู้สึกถึงอาการที่ผิดปกติ  การตรวจเฝ้าระวังเพื่อป้องกันและรักษาแต่เนิ่นๆจะช่วยให้สุขภาพหูของคุณมีอายุการใช้งานที่ยืนยาวได้

สั่งซื้อเครื่องช่วยฟังมาใช้เอง

เครื่องช่วยฟัง

หลายคนมักเข้าใจว่าเครื่องช่วยฟังเป็นเพียงเครื่องที่ช่วยขยายให้เสียงที่ได้ยินมีความดังเพิ่มขึ้น ทำให้หลายคนเคยสั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์หรือร้านค้าทั่วไป ซึ่งความจริงแล้วเครื่องเหล่านั้นเป็นเพียงเครื่องขยายเสียงที่สามารถขยายเสียงให้ดังเพิ่มขึ้นได้เท่านั้น การซื้อเครื่องขยายเสียงเหล่านี้มาใช้งานอาจเป็นการทำร้ายหูตนเองทางอ้อมเนื่องจากเป็นการขยายเสียงโดยรวมทุกย่านความถี่ ซึ่งทุกเสียงจะถูกขยายให้ดังขึ้นเมื่อเพิ่มเสียง ซึ่งเครื่องจำพวกนี้ไม่ได้รับการปรับตั้งค่าให้เหมาะสมตามระดับการเสื่อมของหูแต่ละคนที่อาจมีระดับการได้ยินในช่วงความถี่ต่างๆที่แตกต่างกัน เช่น บางคนมีการเสื่อมเฉพาะเสียงแหลม บาคนมีการเสื่อมเฉพาะเสียงทุ้ม เป็นต้น ดังนั้นหากผู้ป่วยใช้เครื่องที่ดังไปในช่วงความถี่ที่ไม่ต้องการการขยายเสียงก็อาจเป็นสาเหตุที่หูจะเสื่อมเพิ่มขึ้นกว่าเดิมได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้คุณภาพเสียงก็อาจไม่ดีเท่าเครื่องช่วยฟังที่ซื้อจากโรงพยาบาล 

การเลือกซื้อเครื่องช่วยฟังควรไปซื้อที่โรงพยาบาลหรือศูนย์การได้ยินที่มีเจ้าหน้าที่เฉพาะทางด้านการแก้ไขปัญหาการได้ยินให้บริการ เนื่องจากจะต้องมีการตรวจวัดระดับการได้ยินก่อน เพื่อนำผลตรวจการได้ยินมาใช้ในการคัดเลือกเครื่องช่วยฟังและปรับตั้งค่าให้เหมาะสมกับการสูญเสียการได้ยินของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อคุณภาพเสียงที่ดี ฟังสบาย และไม่ทำลายหูเพิ่ม

ควรศึกษาข้อมูลรายละเอียดของเครื่องช่วยฟัง ได้แก่ รูปแบบ ขนาด คุณสมบัติการทำงาน ระบบงานทำงานเช่น ระบบตัดเสียงรบกวน ตัดเสียงลม ขยายเสียงเฉพาะเสียงพูด มีระบบบลูทูธ เชื่อมต่อโทรศัพท์ หรือปรับผ่านแอปพลิเคชั่นได้ เป็นต้น โดยเลือกรูปแบบและคุณสมบัติการใช้งานที่เหมาะสมกับตัวเอง รวมไปถึงการเลือกซื้อจากบริษัทในการจัดจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ ได้รับการรับรอง และมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้บริการด้วย

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *