หูดับ

หูดับฉับพลัน

ประสาทสัมผัสการได้ยินเป็นหนึ่งสิ่งที่ช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่เมื่อวันหนึ่งเสียงที่เคยได้ยินกลับดับหาย หรือเบากว่าที่เคยได้ยิน คำถามที่เกิดขึ้นภายในใจของเราคงหนีไม่พ้น “แล้วเราจะต้องทำอย่างไรต่อไป อาการหูดับนี้จะแก้ไขหรือรักษาให้หายดีได้หรือไม่” แน่นอนว่าผู้ที่มีอาการ หูดับฉับพลัน คงมีคำถามมากมายที่เกิดขึ้นในหัวและอาจยังหาทางออกไม่เจอ

วันนี้ hearLIFE มีเรื่องราวของโรคในด้านการได้ยินที่เรียกได้ว่าสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลันกับผู้คนทุกเพศทุกวัยอย่าง “โรคหูดับฉับพลัน” มาเล่าให้ทุกท่านได้ทราบถึงความน่ากลัวของโรคนี้ เพื่อที่จะได้ดูแลตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหูดับฉับพลันค่ะ

หูดับฉับพลันหรือ Sudden Sensorineural Hearing Loss เป็นภาวะของหูที่เกิดการสูญเสียการได้ยินอย่างรวดเร็ว โดยจะลดลงมากกว่า 25-30 เดซิเบล ภายในช่วงเวลา 72 ชั่วโมง โดยปกติแล้วจะพบว่าผู้ป่วยมักจะเกิดอาการหูดับแบบฉับพลันแค่เพียงข้างใดข้างหนึ่ง แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการของโรคหูดับฉับพลันพร้อมกันทั้งสองข้างได้เช่นกัน 

หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่าโรคหูดับฉับพลันจะมีอาการที่คล้ายคลึงกับอาการหูอื้อจากการได้ยินเสียงดังติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้หลายคนชะล่าใจกับอาการที่เป็น เพราะในปัจจุบันผู้ป่วยจำนวนมากมักจะไม่ทราบว่าสาเหตุที่เกิดอาการของโรคหูดับฉับพลัน แต่แพทย์ได้วินิจฉัยอาการที่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหูดับฉับพลันไว้ดังต่อไปนี้

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหูดับฉับพลัน

  • การติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หัดเยอรมัน ไข้หวัดใหญ่ งูสวัด อาจส่งผลให้เกิดการอักเสบของเซลล์ประสาทหูหรือภายในรูหู เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถส่งต่อผ่านระบบไหลเวียนเลือด  ไปสู่ประสาทหูชั้นในได้
  • การไหลเวียนเลือดในหูน้อยกว่าปกติ ซึ่งมีโอกาสเกิดได้จากภาวะความดันต่ำ หรือภาวะการเสียเลือดเป็นจำนวนมาก
  • ภาวะแทรกซ้อนของโรค เช่นโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่อาจทำให้เกิดโรคหูดับฉับพลันได้เช่นกัน
  • ภาวะน้ำในหูไม่เท่ากันขั้นรุนแรง ซึ่งจะเกิดการกดเบียดเซลล์ประสาทหู และมักจะมีอาการเวียนหัว ทรงตัวไม่อยู่ หากอาการรุนแรงขึ้นก็อาจทำให้เกิดโรคหูดับฉับพลันได้
  • การรับประทานยาฆ่าเชื้อในกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์รุนแรง จึงควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับยาทุกครั้ง เนื่องจากหนึ่งในผลข้างเคียงมีโอกาสทำให้ประสาทหูชั้นในเกิดความเสียหายและกลายเป็นโรคหูดับฉับพลันได้
  • พักผ่อนน้อย เมื่อร่างกายพักผ่อนน้อยลงมีโอกาสทำให้ภูมิตก หรือภูมิคุ้มกันทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ ทำให้ร่างกายอ่อนแอและมีโอกาสทำให้เกิดโรคหูดับฉับพลันได้
  • การฟังเสียงดังซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน เช่น เมื่อเราฟังเพลงหรือเจอเสียงดังติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจทำให้เซลล์ประสาทหูเกิดความเสียหายและเป็นโรคหูดับฉับพลันได้

จับสังเกตอาการน่าสงสัยอาการ หูดับฉับพลัน

ความน่ากลัวของโรคหูดับฉับพลันคือ เราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าอาการหูดับฉับพลันจะเกิดขึ้นในวันไหนหรือเวลาใด โรคหูดับฉับพลันเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และถึงแม้ว่าเมื่อเกิดภาวะหูดับแล้วจะมีโอกาสที่ผู้ป่วยจะกลับมาได้ยินอีกครั้งก็ตาม แต่ประสิทธิภาพในการได้ยินเสียงก็อาจจะไม่เต็ม 100 % ตามที่เคย

อาการที่สามารถสังเกตได้ง่ายที่สุดคือมีอาการหูดับภายใน 3 วัน โดยผู้ป่วยจะรู้สึกได้ชัดเจนว่าไม่ได้ยินเสียงหรือได้ยินเสียงเบาลงหรือได้ยินเสียงเหมือนมาจากในระยะไกลแม้จะยืนพูดคุยอยู่ใกล้กัน ไม่สามารถจับคำพูดที่ได้ยินได้ ในผู้ป่วยบางรายอาจได้ยินเสียงก้องภายในหู มีเสียงรบกวนในหู  มีอาการหูอื้อ รู้สึกแน่นในหูหรือมีความรู้สึกคล้ายว่ามีอะไรบางอย่างติดอยู่ภายในหูเกิดขึ้น โดยอาการของโรคหูดับฉับพลันนี้จะมีข้อสังเกตอีกหนึ่งประการคือ แม้ว่าจะไม่ได้ยินเสียงแต่ก็จะไม่มีอาการปวดบริเวณหูร่วมด้วย

รู้ก่อน ดูแลตัวเองได้ก่อน

สำหรับใครที่กังวลว่าตนเองจะมีโอกาสเป็นโรคหูดับฉับพลันหรือเปล่า วันนี้ hearLIFE เรามีคำแนะนำในการดูแลตัวเองสำหรับทุกคนด้วยนะคะ

  • หลีกเลี่ยงการเข้าสู่พื้นที่ที่เกิดเสียงดังติดต่อกันเป็นเวลานาน และไม่ควรสวมใส่หูฟังที่เปิดเสียงดังติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • ทานอาหารที่ปรุงสุกอยู่เสมอ และควรหลีกเลี่ยงการทานเนื้อสัตว์ที่มีลักษณะกึ่งสุกกึ่งดิบ เพื่อลดโอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสที่อาจทำให้เกิดโรคหูดับฉับพลันได้
  • ลดการทานอาหารรสจัดมากเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน ไขมันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูง
  • หลีกเลี่ยงการแคะหูที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุแก้วหูทะลุ เพราะมีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อภายในรูหูได้ในอนาคต

แต่หากมีอาการที่คล้ายคลึงกับโรคหูดับฉับพลัน แนะนำให้เข้าพบแพทย์โดยด่วนเพื่อที่แพทย์จะทำการวินิจฉัยเบื้องต้น ก่อนจะส่งตรวจการได้ยิน “Audiogram” ผลลัพธ์ที่ได้จะออกมาเป็นกราฟแสดงระดับการได้ยินของหูแต่ละข้าง ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการได้อย่างชัดเจนว่าเป็นโรคหูดับฉับพลันหรือไม่

สำหรับใครที่กำลังมีความกังวลว่าตนเองจะมีโอกาสเป็นโรคหูดับฉับพลัน แนะนำให้สังเกตอาการของตัวเองเป็นระยะตามข้อสังเกตเบื้องต้นที่hearLIFE แนะนำนะคะ  เมื่อเกิดอาการที่ผิดปกติกับหูและการได้ยินอย่าชะล่าใจนะคะ เพราะ hearLIFE อยากให้คุณมีสุขภาพหูที่ดีอยู่เสมอ

 

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *