จากบทความก่อนหน้านี้ เราได้เห็นภาพรวม สิ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับการเปิดเครื่องประสาทหูเทียมในครั้งแรก แต่เราอยากให้คุณเข้าใจว่า การเปิดเครื่องครั้งแรกนั้น ไม่ใช่ขั้นตอนสุดท้ายในเส้นทางการได้ยินของคุณ โดยในช่วงสัปดาห์แรก และเดือนแรกหลังจากการเปิดใช้งาน คุณจะได้รับคำแนะนำหลายอย่าง เพื่อปรับตั้งค่าการได้ยินร่วมกับแพทย์ของคุณและการปรับเครื่องครั้งที่ 2 มักจะเกิดขึ้นหลังจากการเปิดเครื่องครั้งแรกไปประมาณ 1 เดือน

ดังนั้นในครั้งนี้ เราจึงได้รวบรวมเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อช่วยให้คุณได้ทราบเกี่ยวกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้

เดือนแรกของคุณที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ใหม่ ๆ

เมื่อเครื่องประมวลเสียงของคุณได้ถูกปรับตั้งค่าเพื่อเปิดใช้งาน คุณจะได้สัมผัสกับเสียงใหม่ ๆ มากมาย เสียงทั้งหมดที่คุณได้ยินนั้น เปรียบเสมือนเป็นการออกกำลังกายให้กับสมองของคุณ และด้วยการออกกำลังกายซ้ำ ๆ นี้ สมองของคุณจะมีการเปลี่ยนแปลงและตีความเสียงต่าง ๆ ออกไป

และแน่นอนว่า ขอบเขตของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยการได้ยินของบางคนอาจจะเปลี่ยนไปอย่างมาก ในขณะที่คนอื่น ๆ อาจจะเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ซึ่งสิ่งใดจะเกิดขึ้นกับคุณก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น 

  • ระยะเวลาและระดับของการสูญเสียการได้ยินก่อนการผ่าตัดฝังเครื่องประสาทหูเทียม
  • สาเหตุของการสูญเสียการได้ยิน
  • รวมถึงอายุของคุณด้วย

เครื่องประสาทหูเทียมเป็นอุปกรณ์ที่จะได้รับการปรับตั้งค่าอย่างละเอียดเพื่อการได้ยินของคุณ

ในระหว่างการปรับเครื่อง เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าเหล่านี้ เจ้าหน้าที่จะทำงานร่วมกับคุณเพื่อปรับตั้งค่าเครื่องประสาทหูเทียม

เป้าหมายหลักของการปรับเครื่อง คือ เพื่อให้แน่ใจว่าเสียงนั้นเป็นเสียงที่เหมาะสม โดยเสียงที่เหมาะสมคือ เสียงที่ฟังสบายสำหรับคุณ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้แน่ใจว่า การปรับตั้งค่าการได้ยินครั้งนี้เหมาะกับคุณ

แม้ว่าเสียงบางเสียงอาจฟังดูไม่สบายเท่าไหร่ในตอนแรก ซึ่งมันอาจไม่เป็นที่พอใจ แต่มันไม่แย่เสมอไป เพราะว่าคุณอาจไม่ได้ยินเสียงเหล่านั้นมานานหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเสียงในความถี่สูง เช่น ตัวอักษร F หรือ S เนื่องจากเสียงเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเข้าใจคำพูด แพทย์อาจแนะนำให้คุณฝึกฟังเสียงเฉพาะเหล่านี้ แต่ถ้าหากว่ามีเสียงใดที่ดูเหมือนดังเกินไป จนทำให้คุณรู้สึกอึดอัดหรือเจ็บเกินไป คุณควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบทันที โดยไม่ต้องรอให้ถึงการนัดหมายครั้งต่อไป

รวมถึงการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเกี่ยวกับประสบการณ์การได้ยินของคุณหลังใช้งานเครื่องประสาทหูเทียม จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถปรับเครื่องให้เหมาะสมกับคุณได้ โดยคุณอาจช่วยจดบันทึกการได้ยินที่คุณได้ยินหรือไม่ได้ยินในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เป็นประจำทุกวัน เช่น ที่บ้าน ที่ร้านอาหาร หรือในรถ และจดบันทึกว่า เสียงที่ได้ยินในสถานการณ์ต่าง ๆ นั้น เป็นอย่างไร ดังแค่ไหน เสียงแหลม ๆ ดังขึ้นหรือไม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ทำการปรับตั้งค่าเครื่องของคุณ

และข้อมูลที่จดบึนทึกเหล่านั้น ยังช่วยติดตามการตั้งค่าต่าง ๆ ที่คุณใช้อีกด้วย เพื่อให้ทราบว่าคุณใช้โปรแกรมไหน ใช้บ่อยแค่ไหน หรือคุณปรับตั้งค่าคุณสมบัติอื่น ๆ ด้วยหรือไม่ เช่น การปรับลดเสียงลมรบกวน หรือการปรับทิศทางของไมโครโฟน การแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเกี่ยวกับการตั้งค่าการได้ยินของคุณจะช่วยให้พวกเขาสามารถปรับตั้งค่าเครื่องของคุณได้ดียิ่งขึ้น

(แน่นอนว่าบางครั้งอาจเป็นเรื่องยากที่จะจดจำการตั้งค่าทั้งหมดเหล่านี้ แต่หากว่าคุณใช้เครื่องประมวลเสียงรุ่นใหม่ เช่น SONNET, SONNET 2, RONDO 3 คุณจะไม่ต้องกังวล เนื่องจากเครื่องประมวลเสียงรุ่นดังกล่าว มีฟังก์ชั่น Datalogging ในตัว ซึ่งจะทำหน้าที่บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งค่าเหล่านั้น)

หลังจากใส่เครื่องประสาทหูเทียมครั้งแรกแล้ว ให้ฝึกการได้ยิน

หลังจากที่คุณปรับเครื่องเรียบร้อยแล้ว คุณอาจรู้สึกว่าเสียงแตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก แต่ไม่เป็นไร เนื่องจากวิธีที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะการได้ยินและการฟังของคุณ คือการฝึกฝนการได้ยินและการฟัง 

แล้วเราต้องฝึกยังไง?
เริ่มต้นด้วยการขอคำแนะนำจากแพทย์ หรือเข้าร่วมกิจกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยินและการฟังของเรา

 

ข้อมูลจาก
One Month After Cochlear Implant Activation | The Hearing People: MED-EL (medel.com)

 

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *