เครื่องช่วยฟัง แบบไหนดี ที่เหมาะกับคุณ : เครื่องช่วยฟัง คือ เครื่องขยายเสียงขนาดเล็กที่ช่วยขยายเสียงพูดและเสียงสิ่งแวดล้อมให้ดังขึ้น ในปัจจุบันมีเครื่องช่วยฟังหลากหลายรูปแบบที่ผู้ใช้งานสามารถเลือกพิจารณาใช้ได้ตามความต้องการ เพื่อความสะดวกในการตัดสินใจเลือกเครื่องช่วยฟังให้เหมาะสมกับตนเอง ท่านสามารถพิจารณาเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของเครื่องช่วยฟังแต่ละรูปแบบได้ดังต่อไปนี้ค่ะ
เครื่องช่วยฟังแบบพกกระเป๋า (Pocket aid) หรือ เครื่องช่วยฟังแบบกล่อง (Body hearing aid)
มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า และมีสายต่อจากตัวเครื่องเข้าสู่หูฟัง
ข้อดี:
- เครื่องมีขนาดใหญ่ จับเหมาะมือ ปรับง่าย เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ
- มีกำลังขยายมาก เหมาะสำหรับผู้ที่สูญเสียการได้ยินอย่างรุนแรง
- แบตเตอรี่หาซื้อง่าย มีราคาไม่แพง (แบตเตอรี่ชนิด AA)
- ราคาถูก
- หากหูตึงเท่า ๆ กันทั้ง 2 ข้าง สามารถใช้ร่วมกันได้ในเครื่องเดียวโดยการต่อสาย Y cord แยกเสียงเข้าทั้งสองหู
ข้อเสีย:
- เครื่องมีขนาดใหญ่ ทำให้เห็นความพิการอย่างชัดเจน
- มีสายรุงรัง ทำให้จำกัดการเคลื่อนไหว
- การฟังเสียงไม่เป็นธรรมชาติ เนื่องจาก ไมโครโฟนรับเสียงอยู่ที่บริเวณหน้าอก ทำให้ไม่สามารถแยกทิศทางของเสียงได้
- มีเสียงรบกวนมาก บางครั้งมีเสียงเครื่องเสียดสีกับเสื้อผ้า
เครื่องช่วยฟังแบบทัดหลังใบหู (Behind-The-Ear hearing aid: BTE)
มีลักษณะเป็นเครื่องรูปร่างโค้ง ๆ ใช้เกี่ยวที่บริเวณหลังใบหู มีท่อพลาสติกใสต่อเพิ่มออกมาจากตัวเครื่องประกอบเข้ากับพิมพ์หู
ข้อดี:
- การฟังเสียงเป็นธรรมชาติ เพราะไมโครโฟนอยู่ที่บริเวณหู
- ไม่เกะกะรุงรัง เนื่องจากไม่มีสาย ทำให้เกิดความคล่องตัว
- สามารถใช้ได้กับผู้ที่สูญเสียการได้ยินน้อยจนถึงสูญเสียการได้ยินระดับรุนแรง
- เครื่องเกาะอยู่บริเวณหลังหู (หากผมปิดบริเวณหูก็จะมองไม่เห็นเครื่องเลย)
- สามารถถอดส่วนพิมพ์หูออกไปล้างทำความสะอาดได้ กรณีที่เครื่องสกปรกมาก ๆ หรือมีขี้หูอุดตัน
ข้อเสีย:
- ไม่สะดวกสำหรับผู้ที่ใส่แว่น
- ค่าใช้จ่ายสูงกว่าแบบกล่อง หากหูเสื่อมทั้ง 2 ข้าง ต้องใส่ 2 เครื่อง
- ต้องใช้แบตเตอรี่เฉพาะของเครื่องช่วยฟัง
- หากผู้ป่วยมีเหงื่อมากหรือใส่น้ำมันแต่งผม อาจทำให้เครื่องเกิดความชื้นและชำรุดได้ง่าย
เครื่องช่วยฟังชนิดสั่งทำใส่ในช่องหู (Custom – made hearing aid)
เป็นเครื่องช่วยฟังแบบสั่งทำเฉพาะบุคคล ภายในบรรจุ microphone, amplifier และ receiver อยู่รวมกันในแบบพิมพ์ซึ่งมีรูปร่างและขนาดพอดีกับช่องหูของผู้ใช้แต่ละคน สามารถสั่งทำได้หลายขนาด ขึ้นกับระดับของการสูญเสียการได้ยิน ซึ่งหากหูเสื่อมเล็กน้อยก็จะสามารถสั่งทำขนาดเล็ก ๆ ได้ โดยมีเลือกให้เลือกสั่งทำได้ 3 ขนาดดังนี้
- เครื่องช่วยฟังในช่องหูแบบเต็มหู (In-The-Ear, ITE) เหมาะสำหรับผู้ที่มีระดับการได้ยินไม่เกิน 85 dB
- เครื่องช่วยฟังในช่องหูแบบปานกลาง (In-the-Canal, ITC) เมื่อใส่ไว้ในช่องหู จะมองเห็นจากภายนอกเพียงเล็กน้อย เหมาะสำหรับผู้ที่มีระดับการได้ยินไม่เกิน 70dB
- เครื่องช่วยฟังในช่องหูแบบเล็ก (Complete In the Canal: CIC) มีขนาดเล็กมาก ตัวเครื่องซ่อนอยู่ภายในช่องหูเกือบทั้งหมดแทบมองไม่เห็น มีเพียงสายเอ็นเล็ก ๆ ที่ยื่นออกมาเพื่อความสะดวกเวลาใส่และดึงออก เครื่องรูปแบบนี้เป็นที่นิยมใช้มากสำหรับผู้ที่กังวลเรื่องความสวยงาม เหมาะสำหรับผู้ที่มีระดับการได้ยินไม่เกิน 50 dB แต่การสั่งทำเครื่องรุ่นนี้มีข้อจำกัดเรื่องสรีระหูของแต่ละคนด้วย เนื่องจากบางคนช่องหูเล็กมากก็อาจทำไม่ได้
ข้อดี:
- เครื่องมีขนาดเล็ก ทำให้คล่องตัว
- สามารถใส่ได้ง่ายในขั้นตอนเดียว เนื่องจากมีตัวเครื่องเพียงชิ้นเดียว
- การฟังเสียงเป็นธรรมชาติมากขึ้น เพราะไมโครโฟนอยู่ในหู
- ฟังโทรศัพท์ได้สะดวกขึ้น
- มีข้อดีในด้านความสวยงาม เพราะผู้อื่นมองไม่ค่อยเห็น เห็นความพิการน้อยลง โดยเฉพาะแบบ CIC แทบจะไม่เห็นความพิการเลย
- เครื่องมีขนาดเล็กโดยเฉพาะ CIC จะช่วยขยายเสียงที่ความถี่สูงได้มากกว่า
ข้อเสีย:
- เครื่องมีขนาดเล็ก ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ และในผู้ที่มีปัญหามือสั่น
- มีความจำกัดด้านกำลังขยาย ไม่สามารถใช้กับผู้ที่สูญเสียการได้ยินมากๆได้
- ไม่สามารถใช้กับผู้ที่มีขนาดช่องหูเล็กมาก รวมทั้งเด็กเล็กเนื่องจากขนาดของช่องหูยังโตไม่เต็มที่
- ต้องใช้แบตเตอรี่เฉพาะของเครื่องช่วยฟัง (ขนาด 1.4 โวลต์)
โดยทั่วไปเครื่องช่วยฟังสามารถจัดประเภทคร่าว ๆ ได้เป็น 3 รูปแบบดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นค่ะ
ก็จบกันไปแล้วนะคะกับเรื่อง เครื่องช่วยฟัง แบบไหนดี ที่เหมาะกับคุณ ? หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้ที่กำลังตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องช่วยฟังไม่มากก็น้อยนะคะ
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเลือกเลือกซื้อเครื่องช่วยฟังควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลหรือที่ศูนย์บริการเครื่องช่วยฟังเฉพาะทางนะคะ นอกจากการตัดสินใจเลือกรูปแบบที่เราชอบและตรงความต้องการแล้ว เรายังจะต้องเลือกฟังคุณภาพเสียงของเครื่องแต่ละรุ่น แต่ละแบบ ด้วยค่ะเพราะสิ่งสำคัญที่สุดของการใส่เครื่องช่วยฟังคือคุณภาพเสียงที่เราพึงพอใจและต้องใส่สบายค่ะ
สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับโรคหูเพิ่มเติมได้ที่ บทความ
Line Official : @hearlifeth
Facebook: https://www.m.me/hearlifethai
หรือโทร 02-693-9411
No responses yet