ในการปรับตั้งเครื่องประสาทหูเทียมนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใช้งานจะต้องแยกแยะเสียงและบอกผู้ปรับตั้งเครื่องว่าระดับเสียงสัญญาณที่ทำการกระตุ้นให้ฟังนั้นมีลักษณะเสียงเป็นอย่างไร เช่น เสียงเบาไป เสียงดังพอดีแล้ว หรือเสียงดังเกินไป ทั้งนี้เพื่อหาตำแหน่งที่ผู้ใช้งานรู้สึกว่าได้ยินเสียงดังพอดีในทุก ๆ ช่องสัญญาณ ซึ่งหากสามารถหาจุดที่ดังพอดีได้ครบทุกช่องสัญญาณก็จะส่งผลให้ผู้ใช้งานได้รับฟังเสียงที่มีคุณภาพ 

ในผู้ใช้งานที่เป็นผู้ใหญ่จะสามารถบอกระดับความดังของเสียงได้ แต่สำหรับการปรับตั้งเครื่องในเด็กนั้นส่วนใหญ่เด็กจะยังไม่สามารถบอกเรื่องเสียงดัง-เบา-พอดีได้  ดังนั้นวันนี้ผู้เขียนจึงขอแนะนำเคล็ดลับในการฝึกสอนเด็กให้รู้จักเสียงดัง-เสียงเบาให้ผู้ปกครองนำไปสอนบุตรหลานกันค่ะ 

 

สำหรับเด็กที่ไม่เคยรู้จักเรื่องเสียงดัง-เสียงเบามาก่อน แนะนำให้เริ่มต้นฝึกจากเสียงกลอง เนื่องจากเด็กสามารถใช้ประสาทสัมผัสด้านอื่นๆร่วมกับการฟังเพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น ซึ่งในการใช้กลองมาสอนเรื่องดัง-เบานั้น เราจะสามารถบอกใบ้เด็กได้ผ่านท่าทางการตีที่แตกต่างกันในขณะที่ตีกลอง โดยเด็กจะเรียนรู้จากการมองเห็นไปพร้อมๆกับการฟังเสียง ซึ่งการฝึกให้ทำจากง่ายไปยาก โดยในครั้งแรกเราจะให้เด็กใช้ทั้งตาและหูช่วยกันก่อน เมื่อสอนหลายๆครั้งจนเด็กเกิดการเรียนรู้และเข้าใจแล้วจึงค่อยลดตัวช่วยลงให้เหลือเฉพาะการใช้หูเพื่อฟังเสียงอย่างเดียว(ไม่ให้ดูท่าตีกลองแล้ว ให้เด็กตั้งใจฟังเสียงกลองเพียงอย่างเดียว) 

Tips  เสียงดัง – ตีกลองดังๆ โดยการทำท่าเงื้อมือตีกลองไกลๆ เพื่อสร้างจุดสังเกตให้เด็กจำ ว่าท่านี้เป็นวิธีการตีกลองเพื่อให้เกิดเสียงดัง

Tips เสียงเบา – ตีกลองเบาๆ โดยการขยับมือให้ห่างกลองน้อยที่สุด เพื่อสร้างจุดสังเกตให้เด็กจำ ว่าท่านี้เป็นวิธีการตีกลองเพื่อให้เกิดเสียงเบา

*สำหรับบ้านที่ไม่มีกลอง สามารถใช้กะละมังหรืออุปกรณ์อื่นๆทดแทนได้ตามความสะดวก*

Tips เสียงดัง  – ใช้วิธีตะโกน เพื่อออกเสียงดังๆ 

Tips เสียงเบา – ใช้วิธีกระซิบ เพื่อออกเสียงเบา

ซึ่งหลังจากที่เด็กเริ่มเข้าใจและแยกแยะเสียงระหว่างเสียงดังและเสียงเบาได้แล้วนั้น ผู้ปกครองสามารถเพิ่มการสอนให้รู้จักเสียงที่ดังพอดีได้โดยการพูดออกเสียงในระดับปกติ อาจใช้ภาพขนาดต่างๆเป็นสื่อกลางให้เด็กเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น 

**ในกรณีที่เด็กเริ่มรู้จักชื่อตนเองแล้วให้ใช้เสียงเรียกชื่อของเด็กมาใช้ในการสอนได้เลย**

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *