โรคหูชั้นกลางอักเสบ คืออะไร?

โรคหูชั้นกลางอักเสบ คือ โรคที่พบได้บ่อยในเด็ก เนื่องจากภูมิต้านทานของเด็กยังน้อย และยังเจริญไม่เต็มที่ นอกจากนี้เด็กมีอุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจสูง เช่น 

  • โรคเยื่อบุจมูกอักเสบเฉียบพลัน หรือโรคหวัด
  • โรคไซนัสอักเสบ
  • เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน 

ซึ่งอาจจะเป็นเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย ที่มักจะผ่านจากจมูก และ โพรงหลังจมูก เข้าสู่หูชั้นกลางผ่านทางท่อยูสเตเชี่ยน ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมระหว่างโพรงหลังจมูก และหูชั้นกลาง

 

สาเหตุของโรคหูชั้นกลางอักเสบ

โรคหูชั้นกลางกลางอักเสบเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน คือ

  • สาเหตุใหญ่ คือ เกิดจากการติดเชื้อในหูชั้นกลาง 
  • สาเหตุอื่น ได้แก่ การทำงานที่ผิดปกติของท่อยูสเตเชี่ยน การเป็นหวัด และโรคภูมิแพ้ มักพบการเกิดโรคในช่วงฤดูหนาว และเด็กส่วนใหญ่ที่มีหูชั้นกลางอักเสบจะมีเป็นหวัดมาก่อนหน้า โดยในเด็กท่อยูเสตเชี่ยนจะวางตัวในแนวระนาบกว่าในผู้ใหญ่ จึงมักพบการติดเชื้อในหูชั้นกลางได้มากกว่าผู้ใหญ่

pastedGraphic.png

ซึ่ง เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี จะพบปัจจัยเสี่ยงมากกว่าในเด็กโต และผู้ใหญ่ดังนี้

1. เด็กที่ต้องอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน (Day-Care) หรือ ในบ้านที่มีเด็กจำนวนมาก

จะมีโอกาสสัมผัสเชื้อโรคทำให้เป็นหวัดง่าย หรือสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เกิดโรคภูมิแพ้ง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุร่วมของการเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบ

2. การที่เด็กต้องสัมผัสควันบุหรี่จากผู้ปกครองหรือญาติที่สูบบุหรี่ภายในบ้าน (smoking parent)

พบว่า ควันบุหรี่จะทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจทั้งหมด รวมทั้งที่ช่องคอหลังโพรงจมูก เยื่อบุผิวของหูชั้นกลาง และท่อยูสเตเชี่ยน ทำให้เซลล์เหล่านี้เปลี่ยนไป

นอกจากนี้ยังรบกวนการทำงานของเซลล์ขนกวัด ทำให้ไม่สามารถโบกพัดสารคัดหลั่งต่าง ๆ ได้ตามปกติเมื่อสารคัดหลั่งไม่ถูกพัดพาไปจะทำให้มีโอกาสติดเชื้อไวรัส และแบคทีเรียง่ายขึ้นทั้งในระบบทางเดินหายใจ และในหูชั้นกลาง 

3. เด็กที่มีภาวะเพดานโหว่ หรือโครงสร้างทางศีรษะ และใบหน้าผิดปกติ 

กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่เปิดท่อยูสเตเชี่ยนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ

4. การให้เด็กนอนดูดขวดนม 

เด็กที่นอนหงายดูดขวดนม มีโอกาสเกิดการไหลย้อนของของเหลว และเป็นสาเหตุของหูชั้นกลางอับเสบได้มากกว่าการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดา เนื่องจากการดูดนมมารดา มารดาจะอุ้มเด็กในท่าศีรษะสูงเป็นการป้องกันการไหลย้อนกลับของของเหลวจากช่องคอหลังโพรงจมูกเข้าสู่หูชั้นกลางได้ โดยเฉพาะใน 6 เดือนแรก สามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการกลับเป็นซ้ำของโรคได้ เพราะในน้ำนมมารดามีภูมิคุ้มกันชนิดที่ต่อต้านแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส ซึ่งภูมิคุ้มกันนี้มีผลป้องกันเด็กไปตลอดช่วงอายุ 3 ปีแรก 

 

อาการที่แสดงถึงการมีภาวะหูชั้นกลางอักเสบ 

  • หูอื้อ ระดับการได้ยินลดลง (หากเป็นทั้ง 2 ข้างอาจเรียกไม่หัน หรือเปิดโทรทัศน์เสียงดัง)
  • ปวดหูข้างที่เป็น อาจรู้สึกแน่น ๆ ภายในหู หรือมีเสียงดังในหู
  • มีไข้สูง (ในเด็กเล็กอาจร้องไม่หยุด โดยเฉพาะเวลากลางคืน และกระวนกระวาย อาจดึงใบหูข้างที่ปวด รวมถึงอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และชักได้)

คำแนะนำ

หากผู้ปกครองสังเกตพบอาการผิดปกติดังกล่าวนี้ แนะนำให้พาบุตรหลานไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษากันแต่เนิ่น ๆ นะคะ เพราะถ้าพาไปเร็วยังมีโอกาสรักษาให้หายเป็นปกติได้ค่ะ แต่หากปล่อยไว้ให้เป็นเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน นอกจากเด็กจะไม่ค่อยได้ยินเสียงและส่งผลกระทบต่อการพัฒนาภาษาและการพูดแล้ว การติดเชื้ออาจทำลายอวัยวะในหูชั้นกลางหรือลามเข้าสู่หูชั้นในทำให้สูญเสียการได้ยินแบบถาวรได้ด้วยค่ะ

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *