แคะหู

แคะหู

เหตุใดเราจึงไม่ควร แคะหู ?

: ก่อนที่เราจะพูดถึงเหตุผลในการที่เราไม่ควร แคะหู เรามาทำความรู้จักกับขี้หูกันก่อน

ขี้หู คือสิ่งที่ร่างกายของเราสร้างขึ้นมาเอง เพื่อเคลือบผิวหนังในบริเวณช่องหูชั้นนอก ซึ่งขี้หู ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ไขมัน เซลล์เยื่อบุผิวหนังที่หลุดลอกในรูหู และสารคัดหลั่งที่ผลิตจากต่อมขี้หูที่อยู่ในบริเวณรูหู มีหน้าที่คอยดักฝุ่น และเชื้อราไม่ให้เข้าไปในช่องหู สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อในช่องหูได้

ขี้หูมีลักษณะเหมือนขี้ไคล สามารถเคลื่อนที่หลุดออกมาจากช่องหูเองได้ ในขณะที่เราเคี้ยวอาหาร ดื่มน้ำ หรือขณะสนทนา แต่หากขี้หูมีการไปเกาะตัวกับฝุ่นหรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ อาจทำให้เกิดการอุดตันของขี้หูภายในช่องหู ซึ่งขี้หูอาจเกาะกันเป็นก้อนแข็งทำให้รู้สึกเจ็บภายในช่องหูได้

ในกรณีของผู้ที่มีภาวะผิดปกติของช่องหู เช่น มีภาวะรูหูแคบหรือว่ามีภาวะติดเชื้อของรูหูชั้นนอก แพทย์แนะนำว่าไม่ควรทำความสะอาดรูหูเลย  เพราะขี้หูจะอุดตันได้ง่ายกว่าคนทั่วไป(ข้อมูลจากภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล RAMA Channel)

หรือเมื่อน้ำเข้าหูหลังจากว่ายน้ำหรืออาบน้ำสระผมเสร็จหลายคนมักทำความสะอาดหูด้วยคอตตอนบัด ซึ่งการใช้คอตตอนบัดแคะหรือปั่นหูอาจก่อให้เกิดขี้หูอุดตันและเกิดอันตรายต่อหูได้ เนื่องจากคอตตอนบัดที่มีขนาดใหญ่เกินไปอาจดันขี้หูให้เข้าไปลึกกว่าเดิม หรือ อัดให้ขี้หูแน่นจนเกิดช่องหูอุดตันทำให้เกิดอาการหูอื้อและการได้ยินเสียงลดลงได้ ส่วนคอตตอนบัดที่เล็กเกินไปอาจเข้าไปลึกจนถูกเยื่อแก้วหูทำให้ปวดหูหรือแก้วหูทะลุได้

ดังนั้นจึงไม่ควรใช้คอตตอนบัดแคะหูหรือปั่นหู สำหรับการดูแลสุขอนามัยช่องหูประจำวัน แนะนำให้ใช้เพียงปลายนิ้วก้อยคลุมผ้าขนหนู แหย่เช็ดทำความสะอาดภายในรูหูและบริเวณใบหู ในขณะที่ช่องหูเปียกหลังการอาบน้ำหรือสระผมก็เพียงพอแล้ว

แคะหู

บางคนอาจมีการสะสมของขี้หูภายในช่องหูทำให้มีความรู้สึกว่ามีขี้หูเยอะมาก จนมีอาการคันหรือระคายเคืองภายในช่องหู แนะนำให้ไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับหู เพื่อทำการตรวจรักษา และนำขี้หูออกให้อย่างถูกวิธีเพื่อความปลอดภัยของช่องหูเราค่ะ  

ในบางรายแพทย์สามารถทำการดูดขี้หูหรือคีบขี้หูออกมาได้เลย แต่ในบางรายที่มีขี้หูแข็งและอัดแน่นภายในช่องหู อาจต้องหยอดยาละลายขี้หูเพื่อให้ขี้หูอ่อนนุ่มก่อนจึงจะสามารถนำขี้หูออกได้

การมีขี้หูสะสมส่งผลกระทบต่อการได้ยินเสียงของคุณได้ หากคุณมีขี้หูเยอะเมื่อขี้หูเปียกน้ำหลังอาบน้ำหรือสระผม ขี้หูจะพองตัวขึ้นจนทำให้คุณรู้สึกหูอื้อได้ หากมีขี้หูสะสมเยอะจนเกิดการอุดตันภายในช่องหูสามารถทำให้คุณหูตึงหรือรู้สึกได้ยินเสียงเบาลงจากปกติได้

หากท่านรู้สึกว่ามีขี้หูมากเกินไปควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์นำขี้หูออกให้ ไม่ควรปั่นหู หรือ แคะหู ด้วยคอตตอนบัดเอง เพราะอาจก่อให้เกิดผลเสียได้

วิธีการป้องกันการสะสมของขี้หู

  • ระวังไม่ให้น้ำเข้าหู เนื่องจากหากขี้หูโดนน้ำหรือมีน้ำเข้าหู ขี้หูจะพองตัวขึ้น และอุดตันในช่องหูทำให้เกิดอาการหูอื้อได้
  • ไม่ใช้คอตตอนบัดหรือไม้แคะหู เนื่องจากการแคะหูบ่อยหรือรุนแรงเกินไป จะทำให้เกิดระคายเคืองและทำให้เชื้อโรคผ่านชั้นผิวหนังลงไปทำให้ช่องหูเกิดการถลอกเป็นแผลและเกิดการอักเสบได้ ซึ่งหากเป็นแผลอักเสบเรื้อรังอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดมะเร็งในช่องหูได้ (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับไม้แคะหูได้ที่ ระวัง “ไม้แคะหู” ควรหยุดใช้ก่อนจะสาย )
  • ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณช่องหูรอบนอกเป็นประจำ โดยทำความสะอาดด้วยผ้าแห้งทุกครั้งหลังอาบน้ำหรือสระผม(ใช้เพียงปลายนิ้วก้อยคลุมผ้าขนหนู แหย่เช็ดทำความสะอาดภายในรูหูและบริเวณใบหู ในขณะที่ช่องหูเปียกหลังการอาบน้ำหรือสระผม)

 

วิธีการดูแลสุขภาพหูสำหรับผู้สูงอายุ

ในผู้สูงอายุรูหูจะผลิตขี้หูลดลง ทำให้รูหูแห้งและมีอาการคันได้ ซึ่งเมื่อมีอาการคันไม่ควรแคะหรือปั่นหู หากสงสัยว่ามีขี้หูควรไปพบแพทย์ เพื่อเอาขี้หูออก หากพบแพทย์แล้วไม่พบว่ามีขี้หูแพทย์จะแนะนำให้ใช้น้ำมันมะกอกหยอดรูหูสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เพื่อให้รูหูหายแห้ง (ไม่ควรหยอดเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ )

แนะนำวิธีสังเกตขี้หูที่ผิดปกติ

การมีขี้หูเปียก มีกลิ่นเหม็น มีหนอง มีเลือดออกร่วมด้วย มีอาการคันหู การได้ยินลดลง หน้าเบี้ยว หรือมีอาการปวด บวม แดง รู้สึกร้อนๆ ภายในช่องหู ร่วมกับมีไข้ ควรรีบพบแพทย์ เนื่องจากอาจไม่ใช่แค่ภาวะขี้หูเปียกตามปกติ แต่เป็นอาการที่บ่งบอกว่าอาจเป็นได้หลายโรค เช่น โรคขี้หูอุดตัน โรคหูอักเสบ และโรคมะเร็งในช่องหูได้ ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมเพื่อประกอบการวินิจฉัยโรคอย่างละเอียด

แคะหู

ผลเสียของการแคะหูด้วยคอตตอนบัดเอง

  • ขี้หูอาจถูกดันเข้าไปด้านในช่องหูลึกขึ้นกว่าเดิม
  • อาจเกิดขี้หูอุดตันในช่องหู ทำให้เกิดอาการหูอื้อ หรือได้ยินเสียงลดลง
  • การแคะหู หรือปั่นหูแรงๆ ทำให้หูชั้นนอกถลอก อักเสบ และเกิดการติดเชื้อได้

จะเห็นได้ว่าโดยปกติแล้ว เราไม่จำเป็นต้องแคะขี้หูเลย นอกจากจะเกิดความผิดปกติขึ้นกับขี้หูที่สามารถสังเกตได้จากอาการต่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งแนะนำให้ไปพบแพทย์เฉพาะทางหูมากกว่าการแคะขี้หูเอาเอง

 

สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับโรคหูเพิ่มเติมได้ที่ บทความ

image by Freepik

Line Official : @hearlifeth

Facebook: https://www.m.me/hearlifethai

หรือโทร 02-693-9411

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *