ได้ยิน เสียงดังจากในหู ควรทำอย่างไร? 

คนรอบข้างของคุณได้ยินเสียงนี้เหมือนกันหรือไม่? ถ้าไม่ แสดงว่าคุณมีอาการเสียงดังในหู

อาการเสียงดังในหู คือ การที่คุณได้ยินเสียงบางอย่าง แต่ในความจริงแล้วไม่มีเสียงใด ๆ เกิดขึ้น เสียงดังในหูเกิดจากการสร้างเสียงขึ้นมาเองจากเส้นประสาทการได้ยิน เสียงที่เกิดขึ้นจากอาการเสียงดังในหูมีหลากหลายรูปแบบ เช่น เสียงวิ้ง เสียงลม เสียงคลื่น เสียงฮัม เสียงซ่า เสียงจิ้งหรีด หรือเสียงน้ำตก เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดความรำคาญ และทำให้ความสามารถในการฟังจับใจความลดลง เพราะมีเสียงดังในหูรบกวนอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ความสามารถในการฟังเสียงที่เข้ามาจากภายนอกนั้นลดน้อยลง

 

 

อาการเสียงดังในหูนี้สามารถเกิดขึ้นชั่วคราวแค่ 1-2 วินาทีขณะที่อยู่ภายในห้องเงียบ ๆ หรือสามารถเป็นแบบเรื้อรัง และมีอาการได้ทุกวัน บางครั้งก็เป็นเสียงที่ผู้มีอาการจะสามารถได้ยินได้เพียงคนเดียว หรือบางครั้งก็จะเป็นเสียงที่คนอื่น ๆ ก็ได้ยินด้วยเมื่อใส่อุปกรณ์ตรวจหูเข้าไปในช่องหู

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดเสียงรบกวนในหู 

โดยสาเหตุที่ก่อให้เกิดมีเสียงดังในหูนั้นมีหลายปัจจัย ซึ่งขอแจกแจงเป็น 2 ประเภทเพื่อความเข้าใจง่ายดังนี้


  1. ปัจจัยภายนอก
  • เสียงดัง การได้ยินเสียงดังติดต่อกันเป็นเวลานานอาจเป็นสาเหตุให้เกิดเสียงดังในหูได้ บางรายเสียงรบกวนในหูอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหลังจากพักหู ไม่ไปสัมผัสเสียงดัง ๆ อีก อาการอาจหายไปได้เอง  
  • การเปลี่ยนแรงดันอย่างรวดเร็ว เช่น เมื่อดำน้ำลึก ,ขึ้น-ลงลิฟท์ ,ขึ้น-ลงเขา และนั่งเครื่องบิน การเปลี่ยนแรงดันอากาศอย่างรวดเร็วทำให้ร่างกายปรับแรงดันไม่ทัน ส่งผลกระทบต่อแรงดันในหูชั้นกลาง รวมถึงส่งผลถึงการทำงานของหูชั้นใน ทำให้เกิดเสียงดังในหูขึ้นได้ 
  • ยาที่มีพิษต่อหู ยาบางชนิดมีผลข้างเคียง ก่อให้เกิดอาการเสียงดังในหูได้
  1. ปัจจัยภายใน
  • มีปัญหาในช่องหูชั้นนอก เช่น มีขี้หูอุดตัน ซึ่งเมื่อนำขี้หูที่อุดตันออกแล้วอาการเสียงดังในหูอาจหายไป
  • มีปัญหาในหูชั้นกลาง เช่น แก้วหูทะลุเนื่องจากหูน้ำหนวก หรือ แก้วหูอักเสบเนื่องจากหวัด ซึ่งเป็นสาเหตุให้ท่อที่ต่อไปหูชั้นกลางอุดตัน ดังนั้นเมื่อกลืนน้ำลาย จึงปรับเปลี่ยนแรงดันไม่ได้ตามปกติ ก่อให้เกิดอาการตื้อที่หู และมีเสียงดังในหูตามมาได้
  • ประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน อ้างอิงจาก Siriraj E-Public Library (mahidol.ac.th) อาการประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน หมายถึง การที่ประสาทหูเกิดการเสื่อมทันทีทันใด หรือภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งมักจะมีอาการเสียงดังในหูเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน
  • ความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดแข็งตัว และเส้นเลือดแดงโป่งพอง เป็นต้น
  • โรคทางสมอง เช่น เนื้องอกสมอง เส้นเลือดในสมองตีบ และเลือดออกในสมอง เป็นต้น
  • อายุ เมื่ออายุมากขึ้นอาจมีการเสื่อมที่ประสาทหูขึ้นได้ ซึ่งการมีประสาทหูเสื่อมนั้นนอกจากจะมีปัญหาเรื่องการได้ยินลดลงแล้ว อาจมีอาการข้างเคียงเป็นเสียงดังในหูร่วมด้วยได้
  • สาเหตุอื่น ๆ  กระดูกในหูมีการงอกผิดปกติ ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร ไซนัสอักเสบ โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

การรักษานั้น อันดับแรกท่านจะต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยก่อนว่าเสียงที่ดังในหูนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร ซึ่งในปัจจุบันนั้นมีอุปกรณ์ที่สามารถวินิจฉัยเสียงดังในหูได้อย่างละเอียดว่าเสียงในหูที่ท่านได้ยินนั้นดังขนาดไหน เป็นเสียงลักษณะเช่นไร ซึ่งหากทราบสาเหตุ และข้อมูลจากการตรวจแล้ว ทางแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ก็จะสามารถให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง เช่น รับประทานยา ฝังเข็ม เปิดเสียงเพื่อฟังกลบเสียงรบกวน หรือใส่เครื่องช่วยฟัง เป็นต้น

 

 

สิ่งแรกที่คุณควรทำหากมีอาการเสียงดังในหู ก็คือเข้าพบนักแก้ไขการได้ยินหรือแพทย์ หู คอ จมูก ที่มีประสบการณ์ในการรักษาอาการเสียงดังในหู พยายามหลีกเลี่ยงการรักษาอาการเสียงดังในหูด้วยตนเอง มีรายงานหลายฉบับรายงานไว้ว่า ผู้ที่พยายามหาทางรักษาอาการเสียงดังในหูด้วยตนเองนั้น ล้วนแล้วแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ สุดท้ายแล้วก็ต้องกลับไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาอยู่ดี

 

สิ่งที่จะได้รับจากการรักษาอาการเสียงดังในหูครั้งแรก

สิ่งที่นักแก้ไขการได้ยินจะต้องใช้ในการวินิจฉัยอาการเสียงดังในหู คือ ประวัติแบบละเอียด การตรวจการได้ยิน และการตรวจอาการเสียงดังในหู ซึ่งนักแก้ไขการได้ยินจะทำการวินิจฉัยด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • การตรวจวัดระดับการได้ยิน
  • การตรวจหาระดับความดังของอาการเสียงดังในหู
  • การตรวจหาระดับความถี่ของอาการเสียงดังในหู
  • การตรวจวัดระดับเสียงสะท้อน

เพื่อการรักษาที่ดีควรทำการนัดหมายอย่างเหมาะสมในการเข้ารับการตรวจ

ภายหลังจากการตรวจ หากนักแก้ไขการได้ยินตรวจวินิจฉัยพบว่ามีอาการดังต่อไปนี้

  • มีการสูญเสียการได้ยินแบบเฉียบพลัน
  • ได้รับการบาดเจ็บ
  • มีอาการเสียงดังในหู
  • มีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะและลำคอ
  • หูติดเชื้อ
  • มีอาการเวียนหัว และบ้านหมุน

คุณจะถูกส่งต่อไปยังแพทย์หู คอ จมูก เพื่อทำการรักษาในลำดับถัดไป

ในปัจจุบันนี้ได้มีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการรักษา และบรรเทาอาการเสียงดังในหู ซึ่งมีแนะนำไว้เป็น 2 ประเภท ดังต่อไปนี้

  1. การบำบัดด้วยเสียงแบบทั่วไป (Sound therapy

เป็นการใช้เสียงอื่นเข้าไปกลบเสียงดังในหูของผู้ที่มีอาการ เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจให้ไปฟังเสียงอื่นแทนที่จะมุ่งสนใจแต่เสียงที่ดังรบกวนภายในหูของตน เสียงที่แนะนำให้ผู้ที่มีอาการฟังได้แก่ เสียงดนตรี เสียงธรรมชาติ ซึ่งสามารถเปิดฟังจากอุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์ชนิดต่าง ๆ ได้ เช่น เครื่องเล่นเพลง วิทยุ และโทรศัพท์ เป็นต้น

  1. การบำบัดด้วยเทคโนโลยี (Notch Therapy)

pastedGraphic.png

เป็นการปรับแต่งคุณภาพเสียงด้วยวิธีการลดระดับเสียงที่มีความถี่เดียวกันกับเสียงดังในหูของผู้ป่วยลง ซึ่งหากอธิบายหลักการง่ายๆก็คือ เสียงที่เหมือนกับเสียงดังในหูของผู้ที่มีอาการ จะถูกตัดออกไปหรือทำให้เบาลง ทั้งนี้เพื่อให้ไม่เป็นการซ้ำเติมหูให้ได้ยินเสียงรบกวนมากไปกว่าเดิมนั่นเอง

ทั้งนี้ ด้วย 2 วิธีดังกล่าวเป็นเพียงทางเลือกสำหรับบำบัดอาการเสียงดังในหูเท่านั้น  อาจได้ผลที่ดีขึ้นมากหรือน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งทางผู้เขียนคิดว่าหากท่านผู้อ่านลองทำดูก็ไม่เสียหายนะคะ เผื่อจะช่วยบรรเทาอาการเสียงดังในหูให้เบาบางลงได้ไม่มากก็น้อยค่ะ

Tags

2 Responses

  1. […] หมายเหตุ สามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการ และการรักษาอาการหูอื้อ หูมีเสียงดังรบกวนได้เพียง คลิกที่นี้ […]

  2. […] อาการมีเสียงดังรบกวนในหู (tinnitus) ซึ่งมีทั้งที่มีสาเหตุจากอาการปกติของระบบการได้ยิน (physiologic) และจากการมีความผิดปกติของระบบการได้ยิน (pathologic) […]

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *