อาการหูอื้อ เป็นอาการที่ผู้ป่วย รู้สึกถึงความผิดปกติของหู เป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจงของโรคใดโรคหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยอาจใช้คำว่าหูอื้อได้หลายความหมาย
หากพิจารณาตามพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2542 คำว่า “อื้อ” เป็นคำวิเศษณ์ แสดง อาการที่รู้สึกมีเสียงดังอยู่ในหู ฟังสิ่งใดไม่ได้ยิน แต่ตามความเข้าใจของคนทั่วไป หมายถึง หูอื้อคล้ายมีน้ำในหู หรืออยู่ในห้องที่เงียบสนิททำให้มีอาการหูอื้อ เสียงดังรบกวนในหู หรืออาการที่หูไม่ได้ยินเสียง
ลักษณะอาการ
- หูอื้อคล้ายมีน้ำในหู เป็นอาการแน่นหู (aural fullness) มีน้ำในหูชั้นกลาง (serous otitis media) หรือช่องหูชั้นนอกอุดกั้น
- อาการที่หูไม่ได้ยินเสียง หูจึงอื้อ ซึ่งมักจะเกิดร่วมกันทั้งภาวการณ์สูญเสียการได้ยิน และเสียงดังรบกวนในหู (tinnitus)
- อาการหูอื้อขณะอยู่ในห้องที่เงียบสนิท เป็นอาการปกติของระบบการได้ยิน (physiologic tinnitus) ซึ่งคนปกติก็สามารถรับรู้ได้
- อาการมีเสียงดังรบกวนในหู (tinnitus) ซึ่งมีทั้งที่มีสาเหตุจากอาการปกติของระบบการได้ยิน (physiologic) และจากการมีความผิดปกติของระบบการได้ยิน (pathologic)
- อาการที่หูได้ยินเสียงก้อง (echo) หรือภาวะการรับฟังเสียงภายนอกดังผิดปกติ (hyperacusis) ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกว่าได้ยินเสียงดังกว่าปกติในขณะที่คนทั่วไปได้ยินเสียงนั้นดังพอดี
(ข้อมูล จากตำราโสต ศอ นาสิกวิทยา ฉบับเรียบเรียงใหม่ครั้งที่ 1 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี)
สาเหตุของอาการหูอื้อ
ในทางการแพทย์จัดเป็น 2 กลุ่ม ได้ดังนี้
1) การอุดกั้นสัญญาณเสียง ซึ่งจะเกิดในส่วนของหูชั้นนอก และหูชั้นกลาง เช่น ขี้หูอุดตัน หูชั้นนอกอักเสบจากการปั่นหูหรือว่ายน้ำบ่อย ๆ และหูชั้นกลางอักเสบจากหวัด เป็นต้น
2) ความผิดปกติในส่วนอวัยวะรับเสียงในหูชั้นใน และหรือเส้นประสาทนำเสียงสู่สมอง
(ข้อมูลจากภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=486)
เพื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น ผู้เขียนขอจำแนกสาเหตุของการเกิดอาการหูอื้อ ดังต่อไปนี้
- การแคะหู/ปั่นหูจนมีขี้หูอุดตันในช่องหู
- แก้วหูทะลุ
- เป็นหวัด คัดจมูก
- สัมผัสเสียงดัง (เสียงเครื่องจักร เครื่องยนต์ หรือเสียงจากเครื่องขยายเสียง)
- ใส่หูฟังเป็นระยะเวลานาน
- อาการหูอื้อที่เกิดหลังจากได้ยินเสียงดังมากๆ เช่น เสียงระเบิด เสียงประทัด
- การปรับเปลี่ยนระดับความดันอากาศอย่างรวดเร็ว เช่น การขึ้น/ลงลิฟท์จากชั้นสูงๆ หูอื้อขณะเครื่องบินกำลังบินขึ้น/ลง การดำน้ำลึก และขับรถขึ้น/ลงเขา
- น้ำเข้าหู (หลังว่ายน้ำ/สระผม)
- ได้รับอุบัติเหตุหรือการถูกกระทบกระเทือนที่หู เช่น โดนตบบ้องหู
- อาการหูอื้อร่วมกับอาการหูตึง
เมื่อหูอื้อ ควรทำอย่างไร?
ดังที่กล่าวไปในข้างต้นว่าอาการหูอื้อเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งต้องแก้ไขตามสาเหตุ ดังนั้นเมื่อเรามีอาการหูอื้อ ขั้นแรกให้ลองค้นหาสาเหตุของอาการหูอื้อด้วยตนเอง และแก้ไขเบื้องต้นด้วยตนเองดูก่อน
- กรณีหูอื้อร่วมกับเป็นหวัด อาการหูอื้อจะดีขึ้นและค่อยๆหายไป เองหลังจากหายจากหวัดแล้ว
- กรณีสัมผัสเสียงดังมา อาการหูอื้อจะหายไปได้เอง หลังจากพักหู 12 ชั่วโมง
- กรณีหูอื้อจากการปรับเปลี่ยนแรงดันอากาศอย่างรวดเร็ว (ขึ้น/ลงลิฟท์ , เครื่องบินขึ้น/ลง , ดำน้ำลึก,ขับรถขึ้น/ลงเขา) ให้ทดลองเคลียร์หูด้วยตนเองโดยการทำ “วอลซอลวา” ( Valsalva maneuver) ซึ่ง เป็นการบังคับอากาศออกจากร่างกายด้วยการปิดปาก บีบจมูก แล้วพยายามหายใจออกทางจมูก อากาศจะพยายามหาทางออก โดยไปทางหูแทน วิธีนี้ใช้เพื่อปรับความดันภายในหูเมื่อเราเดินทางผ่านระดับความสูงที่ต่างกัน เช่น ขึ้นเครื่องบิน หรือ ดำลงไปในน้ำ
- กรณีหูอื้อจากน้ำเข้าหู ให้เอียงศีรษะให้หูข้างที่น้ำเข้าขนานกับพื้น แล้วเขย่าตัวเบา ๆ เพื่อให้น้ำไหลออก หรือเอียงศีรษะข้างที่น้ำเข้าลงบนฝ่ามือ ใช้ฝ่ามือกดหูเบา ๆ แล้วคลายออก
(ข้อควรระวังสำหรับวิธีนี้คือ ไม่ควรทำขณะที่ไม่ได้เอียงศีรษะขนานกับพื้นเพราะอาจทำให้น้ำไหลเข้าไปลึกกว่าเดิม)
หากทดลองแก้ไขด้วยตนเองแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ เนื่องจาก…
- อาการหูอื้อที่เกิดจากหวัด ควรได้รับการตรวจหูเพื่อดูความผิดปกติในหูชั้นกลาง และตรวจภายในโพรงจมูกร่วมด้วยเนื่องจากมักพบจมูกอักเสบเรื้อรัง หรือไซนัสอักเสบได้บ่อยในภาวะดังกล่าว
- อาการหูอื้อเกิดจากการที่มีขี้หูอุดตันภายในช่องหู แพทย์จะนำขี้หูออกให้ ในบางรายสามารถดูดหรือคีบออกมาได้เลย โดยหลังจากที่นำขี้หูออกเรียบร้อยแล้วอาการหูอื้อก็จะหายไปทันที แต่ในบางรายที่มีขี้หูแข็ง อาจต้องหยอดยาละลายขี้หูเพื่อให้ขี้หูอ่อนนุ่มก่อนจึงจะสามารถนำขี้หูออกได้
- อาการหูอื้อที่เกิดหลังจากได้ยินเสียงดังมาก ๆ เช่น เสียงระเบิด เสียงประทัด หรือหูอื้อที่เกิดขึ้น โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดร่วมกับมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน หรือมีเสียงดังรบกวนในหู ควรรีบไปพบแพทย์เฉพาะทาง โดยแพทย์จะตรวจช่องหูและอวัยวะอื่น ๆ เพื่อหาสาเหตุ จากนั้นจะส่งตรวจวัดระดับการได้ยิน และอาจส่งตรวจการทำงานของระบบประสาทหู และตรวจเลือดเพิ่มเติม
- อาการหูอื้อร่วมกับอาการหูตึง ควรไปพบแพทย์ด้วยเช่นกัน เพื่อตรวจหาความผิดปกติอื่น ๆ ที่ทำให้ประสาทหูเสื่อมเร็วกว่าปกติ และรับการประเมินระดับการได้ยินว่าสมควรใช้เครื่องช่วยฟังหรือไม่ เพื่อเลือกชนิดของเครื่องช่วยฟังที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยในแต่ละรายต่อไป
เคล็ดลับป้องกันการเกิดอาการหูอื้อ
- ไม่ควรแคะหูด้วยคัตตอนบัต หรือ ไม้แคะหู เพราะมักจะเอาขี้หูไม่ออก และจะยิ่งเป็นการดันน้ำและขี้หูให้เข้าไปลึกขึ้นกว่าเดิมและอาจทำให้เกิดแผลถลอก มีเลือดออกและมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม ซึ่งเรียกว่าเกิดภาวะหูชั้นนอกอักเสบได้
- ใส่ปลั๊กอุดหูขณะว่ายน้ำเพื่อป้องกันน้ำเข้าหู (swimmold)
- หลีกเลี่ยงการใช้หูฟังเป็นระยะเวลานาน แนะนำให้เปิดเสียงในระดับพอดี หรือฟังเสียงทางลำโพงแทน
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่เสียงดัง หากจำเป็นต้องทำงานในที่เสียงดังควรใส่อุปกรณ์ป้องกันหู เช่น ปลั๊กอุดหูลดเสียงดัง (ear plug) ที่ครอบหู (ear muff) เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าอาการหูอื้อสามารถเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งบางสาเหตุอาการหูอื้อที่เกิดขึ้นก็สามารถหายไปได้เอง และไม่เป็นอันตราย แต่บางสาเหตุก็สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อมีอาการหูอื้อเกิดขึ้นผู้ป่วยจึงต้องสังเกต และจำแนกสาเหตุให้ชัดเจน เพื่อการแก้ไขที่ถูกต้อง และปลอดภัย
—–
Vector Designed by freepik
No responses yet