จากข้อมูลสถิติในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 ถึง 25 พ.ย. 2566 มีผู้ป่วยโรคไข้หูดับทั้งหมดจำนวน 548 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ถึง 26 ราย ซึ่งเมื่อเทียบก็ข้อมูลจากปีที่แล้ว สถานการณ์โรคไข้หูดับในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง 23 พฤศจิกายน 2565 มีผู้ป่วยโรค ไข้หูดับ 349 ราย และมีผู้เสียชีวิต 6 ราย นั่นหมายความว่า ปีนี้มีผู้ป่วยจากโรคไข้หูดับและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นมากจากปีที่ผ่านมา
แล้วเราควรทำอย่างไร เพื่อลดจำนวนคนไข้จากโรค ไข้หูดับ ลงให้กลายเป็น 0?
“โรคไข้หูดับ” เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามาก ๆ ซึ่งมีทั้งเพจให้ความรู้ อินฟลูเอนเซอร์ หมอ และสำนักข่าวต่างก็พูดถึงความอันตราย และผลกระทบที่อาจได้รับจากการติดเชื้อนี้ เช่น การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป การได้ยินที่ลดลงหรืออาจร้ายแรงถึงขั้นเกิดหูดับถาวร จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น เราจึงจะมาเล่าถึง”โรคไข้หูดับ” ความหมาย อาการ การรักษา และวิธีการป้องกันโรคไข้หูดับ เพื่อความปลอดภัยและลดการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้
โรค ไข้หูดับ คืออะไร?
โรคไข้หูดับเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ในหมู ชื่อว่า “สเตรฟโตคอกคัส ซูอิส” (Streptococcus Suis) โดยเชื้อนี้จะปนเปื้อนอยู่ในทางเดินหายใจและเลือดของหมู ซึ่งการติดเชื้อจะเกิดจากการกินหมูดิบ หรือ สัมผัสเนื้อหมูที่ติดเชื้อผ่านผิวหนังที่มีบาดแผล จนสามารถทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้
อาการของโรคไข้หูดับ
- ไข้สูง หนาวสั่น
- ปวดเมื่อยตามลำตัวและศีรษะ
- ปวดท้อง ท้องเสีย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เวียนศีรษะ ทรงตัวไม่ได้
- คอแข็ง
- อาเจียน
- การได้ยินลดลง
- หูหนวก และอื่น ๆ
นอกจากนี้ บางรายอาจมีอาการรุนแรง เช่น เยื้อหุ้มสมองอักเสบ, เกิดภาวะแทรกซ้อนทำให้ประสาทหูอักเสบจนหูดับหรือหูหนวก ดังนั้น หากมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นแนะนำให้ไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน เนื่องจากหากปล่อยไว้นานและไม่ได้ทำการรักษาก็อาจส่งผลทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้อีกด้วย
การรักษาโรคไข้หูดับ
- แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะผ่านทางหลอดเลือดดำ อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์
- รักษาแบบประคับประคองอาการไม่ให้รุนแรงยิ่งขึ้น
คือ ลดไข้ ลดปวด ลดอาการเวียนศีรษะ ร่วมกับการให้สารอาหารหรือเกลือแร่ต่างๆ ให้กับผู้ป่วย
การป้องกันจากโรคไข้หูดับ
- ไม่กินหมูดิบ
- แยกอุปกรณ์คีบหมูสุก และหมูดิบทุกครั้ง
- ไม่ควรกินหมูที่ตายจากโรคหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เลือกหมูจากฟาร์มที่สะอาด และมีมาตรฐาน
- เนื้อหมูผ่านอุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียส นานอย่างน้อย 10 นาที ถึงทานได้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสเนื้อหมูดิบ หากต้องสัมผัส ควรสวมถุงมือและรองเท้า
- ทำความสะอาดร่างกายให้สะอาดเมื่อมีการสัมผัสกับหมู
หากมีอาการผิดปกติดังที่กล่าวมาหลังจากการกินหมูดิบหรือหมูที่สุกๆดิบๆ ก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันที และควรมีการกำจัดเชื้อในฟาร์มตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้หมูเกิดการป่วย และระบาดทั่วทั้งฟาร์ม
No responses yet