1. เสียงคืออะไร?

เสียงเป็นคลื่นเชิงกลที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของวัตถุ วัตถุสามารถอยู่ในสถานะของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ(อากาศ) ก็ได้ คลื่นเสียงทำให้อนุภาคของวัตถุเกิดการอัดตัวและขยายตัวแล้วจึงส่งผ่านพลังงานเข้ามาสู่หูของเรา หลังจากนั้นกลไกการทำงานของหูจะทำหน้าที่ขยายเสียงให้เราได้ยินและแปลความหมายด้วยระบบการทำงานของสมอง จะเห็นได้ว่าเสียงเริ่มต้นที่แหล่งกำเนิด ผ่านตัวกลางและเดินทางมาสู่หูของเรา เสียงนั้นมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของเราอย่างมาก ทั้งด้านการสื่อสาร เตือนอันตราย และการรับรู้ทิศทางของเสียง แต่ถ้าเสียงนั้นดังเกินไปก็จะทำให้เกิดอันตรายต่อหูเราได้เช่นกัน

 

2. เมื่อไหร่จึงเรียกว่าเสียงดังเกินไป?

สภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวันของเรามีความหลากหลาย และมีเสียงดังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เสียงดังที่เกิดขึ้นจะถูกวัดค่าออกมามีหน่วยเป็นเดซิเบล ตัวอย่างเช่น 

  • เสียงกระซิบมีระดับความดัง 30 เดซิเบล 
  • เสียงคำพูดสนทนาทั่วไป 60 เดซิเบล 
  • เสียงการจราจรปกติ 80 เดซิเบล 
  • เสียงการก่อสร้างถนน 100 เดซิเบล
  • เสียงเครื่องบินขึ้นสูงถึง 140 เดซิเบล เป็นต้น 

จากเสียงในสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนี้เองทำให้แต่ละคนรับรู้ถึงระดับเสียงดังที่แตกต่างกัน บางครั้งรู้สึกว่าเสียงดังเกินไปในขณะที่อีกคนอาจรู้สึกว่าเสียงนั้นไม่ดังเท่าไหร่ บางคนอาศัยอยู่ในละแวกที่มีการก่อสร้างจึงคุ้นเคยกับเสียงดังรบกวนที่เกิดขึ้น แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเสียงที่เราได้ยินอยู่ในตอนนี้ดังเกินไปหรือไม่

หมายเหตุ

องค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำไว้ว่า เราไม่ควรฟัง เสียงที่ดังเกินกว่า 85 เดซิเบล ติดต่อกัน 8 ชั่วโมง และ ระดับเสียงที่ดัง 100 เดซิเบล ติดต่อกัน 15 นาที ซึ่งระดับเสียงดังกล่าวถือเป็นเสียงที่ทำให้เกิดอันตรายต่อระบบการได้ยินของมนุษย์ สำหรับประเทศไทย ตามประกาศกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน ความสว่างและเสียง พ.ศ. 2549 กำหนดมาตรฐานระดับเสียงดังที่ยอมให้ลูกจ้างได้รับขณะทำงานในแต่ละวัน ดังตารางต่อไปนี้

จะเห็นได้ว่าเมื่อยิ่งเสียงดังมากขึ้นระยะเวลาในการรับฟังเสียงจะยิ่งลดลง เพราะถ้ารับฟังเสียงที่ดังมากในระยะเวลาที่เกินกำหนดอาจทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินขึ้นได้ ดังนั้นหากเราต้องอาศัยหรือทำงานในสถานที่ที่มีเสียงดังรบกวนมากเกินไปเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อการได้ยินได้

 

3. เสียงดังในโรงงานอุตสาหกรรม

ผู้ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมจะปฏิบัติงานกับเครื่องจักรทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งเครื่องจักรกลเหล่านี้มักจะส่งเสียงดังในขณะกำลังทำงาน ซึ่งดังมากดังน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องจักรและลักษณะการทำงาน ทั้งนี้จึงมีกฎหมายเรื่องการควบคุมเสียงภายในโรงงาน หากมีการตรวจพบว่าโรงงานไหนมีเสียงดังมากเกินมาตรฐาน จะถือว่าผิดกฎหมายมลพิษทางเสียงและความสั่นสะเทือนเนื่องจากเสียงดังกล่าวส่งผลต่อสุขภาพของพนักงาน 

3.1 แหล่งกำเนิดเสียง

  • เสียงดังจากเครื่องจักรขนาดใหญ่
  • เสียงดังจากการเคลื่อนย้ายและการขนส่งสิ่งของ
  • เสียงดังจากการปฏิบัติงานของพนักงานโดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ

จากสาเหตุข้างต้นทำให้มีการกำหนดระยะเวลาในการสัมผัสเสียงดังโดยคำนวณจากระดับความดังและชั่วโมง การสัมผัสเสียงดังหากมีระดับความดังมากก็จะอนุญาตให้ลดเวลาการทำงานที่ต้องสัมผัสเสียงดังให้น้อยลง

3.2 ผลกระทบจากเสียงดังจากโรงงานอุตสาหกรรม

  • ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพนักงาน
  • เสียงเครื่องจักรที่ดังเกินไปจะขัดขวางการสื่อสาร ทำให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน ส่งผลให้เกิดการผิดพลาดในการประสานงาน
  • เสียงที่ดังมากเกินไปจะทำลายประสาทหู และอาจทำให้หูหนวกหรือหูตึงได้

3.3 วิธีการแก้ไข

  • หากพนักงานจำเป็นจะต้องทำงานสัมผัสเสียงดังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องมีมาตรการให้พนักงานสวมเอียปลั๊กหรือเอียมั๊ฟเพื่อลดเสียงที่เข้าสู่หูและเป็นการป้องกันเสียงทำลายประสาทหู
  • ทำห้องเก็บเสียงในบริเวณที่มีเครื่องจักร เพื่อไม่ให้เสียงเครื่องจักรเล็ดลอดออกไปรบกวนพนักงานในแผนกอื่นๆ
  • เปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์บางตัวหรือใช้วัสดุที่ซับเสียงของเครื่องจักรเพื่อลดเสียงดังที่เกิดจากการทำงานของเครื่อง
  • ใช้การสื่อสารแบบสัญลักษณ์หรือสัญญาณมือภายในห้องที่มีเสียงดังแทนการพูดคุย

 

4. หูฟัง…อันตรายที่ใกล้ตัว

ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ใช้หูฟังทั้งด้านการสื่อสารและด้านความบันเทิง ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการใช้งานตามสถานที่ต่างๆมากมาย เช่น ในระหว่างเดินทางด้วยรถสาธารณะ รถไฟใต้ดิน รถไฟฟ้า เดินห้างสรรพสินค้า ออกกำลังกาย หรือแม้แต่การใช้งานในระหว่างทำงานหรือพักผ่อน แต่น้อยคนนักที่จะทราบถึงผลร้ายที่จะตามมาหากเราใช้งานผิดวิธี บทความนี้จะทำให้ท่านทราบว่าการใช้งานอย่างไรจึง จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อหูได้

หูฟังที่นิยมใช้ในปัจจุบัน มีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ หูฟังแบบใส่ในช่องหู (In Ear), แบบครอบหู (Headphone) หรือ แบบเอียร์บัด (Ear buds) ซึ่งหูฟังแต่ละแบบก็ถูกออกแบบให้รองรับการใช้งานในแต่ละด้านแตกต่างกัน

ปัจจุบันหูฟังที่คนนิยมใช้มากที่สุดก็คือแบบใส่ในช่องหู (In Ear) เนื่องจากพกพาสะดวก เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้ง่าย แต่หารู้ไม่ว่าหูฟังชนิดนี้ทำร้ายการได้ยินของผู้ใช้ได้อย่างถาวร เนื่องจากการใช้หูฟังประเภทดังกล่าวจะนำเสียงเข้าสู่หูโดยตรง เมื่อเวลาอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงรบกวนผู้ใช้อาจเพิ่มเสียงดังขึ้นโดยไม่รู้ตัว วัตถุประสงค์ที่เพิ่มเสียงดังขึ้นก็เพียงเพื่อให้ได้ยินเสียงจากหูฟังดังฟังชัดเจน แต่หากเสียงรบกวนภายนอกอยู่ในระดับเสียงที่ดังมาก แน่นอนว่าผู้ใช้ก็จะเพิ่มเสียงในหูฟังให้ดังกว่าเสียงรบกวนภายนอก ซึ่งหากต้องการได้ยินเสียงที่ชัดเจนขึ้นจะต้องเพิ่มความดังมากกว่าเสียงรบกวน 10-15 เดซิเบล ลองสมมติว่าเสียงภายนอกมีความดังประมาณ 70-80 เดซิเบล นั่นความหมายว่า ผู้ใช้จะต้องเพิ่มไปถึง 90 เดซิเบล ซึ่งเป็นระดับที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า เป็นอันตรายต่อระบการได้ยินแล้ว

ด้วยเหตุนี้เองการใช้เสียงดังมากใส่เข้าไปในหูเป็นเวลานานหลายชั่วโมงติดต่อกัน อาจทำให้เกิดการล้าของเซลล์ระบบประสาทการได้ยินขึ้น ซึ่งหากยังคงทำพฤติกรรมเช่นนี้อย่างต่อเนื่องเซลล์ระบบประสาทที่เคยล้าก็จะไม่ได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาทำงานได้อย่างปกติ ซ้ำยังถูกกระตุ้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เซลล์ในระบบประสาทการได้ยินเกิดการเสื่อมหรือตายลงจนไม่สามารถใช้งานได้

 

5. การได้ยินจะเป็นอย่างไร เมื่อได้ยินเสียงดัง

เมื่อมีการสัมผัสเสียงดังเป็นระยะเวลานานจะส่งผลกระทบต่อระบบการได้ยิน โดยการสูญเสียการได้ยินที่เกิดขึ้นมักจะเกิดที่หูชั้นในเนื่องจากได้รับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องและไม่มีระยะเวลาให้พักฟื้น การสูญเสียการได้ยินจากการสัมผัสเสียงดังนั้นสามารถเกิดได้ 2 รูปแบบ ได้แก่

5.1 การสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว
สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อมีการสัมผัสเสียงดังเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยเมื่อออกจากบริเวณนั้นจะมีอาการหูอื้อ ฟังไม่ค่อยชัดเจน สาเหตุมาจากเซลล์ขนในหูชั้นในทำงานอย่างต่อเนื่องและเกิดอาการล้าทำให้ไม่สามารถทำงานอย่างปกติได้ เมื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเสียงและได้พักผ่อนประมาณ 14-16 ชั่วโมง ก็จะสามารถกลับมาได้ยินเป็นปกติได้

5.2 การสูญเสียการได้ยินแบบถาวร
เกิดขึ้นเมื่อมีการสัมผัสเสียงดังเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดและมีการสัมผัสอย่างต่อเนื่องไม่มีระยะเวลาในการพักฟื้น ซึ่งจะทำให้การได้ยินสูญเสียไปอย่างถาวร ไม่สามารถรักษาให้กลับคืนสู่สภาพปกติได้

ต่อไปนี้เราคงต้องสังเกตเสียงในสภาพแวดล้อมรอบตัวมากขึ้นว่าเป็นเสียงดังจนเกินไปหรือไม่ เพื่อป้องกันอันตรายจากเสียงดังที่จะเกิดขึ้นกับระบบการได้ยินของเราในอนาคต

—–
Vector Designed by freepik

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *