คนเรามีหูเพื่อรับฟังเสียงต่างๆ ซึ่งเป็น สุขภาพหู ที่ต้องดูแล หูมีส่วนประกอบ 3 ชั้น คือ 1.หูชั้นนอก 2.หูชั้นกลาง 3.หูชั้นใน

1.หูชั้นนอก ทำหน้าที่รวบรวมเสียงเพื่อเข้าสู่หูชั้นกลาง หูชั้นนอกประกอบด้วยใบหูและรูหู  โดยรูหูส่วนนอกมีโครงเป็นกระดูกอ่อน ส่วนรูหูส่วนเป็นผิวหนังบางๆวางบนกระดูก ทำให้รูหูส่วนนี้บาดเจ็บได้ง่ายจากการปั่นหรือแคะหู

  • ใบหู สามารถล้างทำความสะอาดด้วยสบู่ได้ ไม่ควรเจาะหูนอกจากบริเวณติ่งหู เพราะอาจจะเจาะโดนส่วนของกระดูกอ่อนที่เป็นโครงของใบหู ทำให้เกิดการอักเสบ และมีใบหูผิดรูปตามมาได้ ส่วนการเจาะหูควรทำโดยผู้เชี่ยวชาญ และควรพิจารณาด้วยว่าผู้ที่จะเจาะหูเป็นแผลเป็นง่ายหรือไม่ มิเช่นนั้นจะเกิดแผลเป็นขนาดใหญ่ที่เรียกว่า คีลอยด์(keloid) ทำให้ต้องผ่าตัดออกในภายหลัง
  • รูหู ผลิตขี้หูเพื่อเป็นสารหล่อลื่น ปกป้องไม่ให้รูหูแห้ง และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียด้วย ขี้หูสามารถหลุดออกมาจากรูหูได้เองตามธรรมชาติ ผู้ที่ขี้หูอุดตันมักจะปั่นหูบ่อยๆทำให้ขี้หูถูกอัดเข้าจนแน่น เกิดการอุดตันและหูอื้อได้ หรืออาจเกิดรูหูชั้นนอกอักเสบได้ ในผู้สูงอายุรูหูจะผลิตขี้หูลดลง ทำให้รูหูแห้งและมีอาการคันได้ เพราะฉะนั้นไม่ควรแคะหรือปั่นหู หากสงสัยว่ามีขี้หูควรไปพบแพทย์ เพื่อเอาขี้หูออก ส่วนผู้สูงอายุที่รูหูแห้งหรือคัน ควรใช้น้ำมันมะกอกหยอดรูหูสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เพื่อให้รูหูหายแห้ง

น้ำเข้าหูจะทำอย่างไร ?

ถ้าน้ำเข้าหู ไม่ควรปั่นรูหูเพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อ และช่องหูอักเสบตามมาได้ ควรปล่อยให้แห้งเอง หรือหากรำคาญมาก ให้ใช้ไดร์เป่าผมเป่าให้แห้ง โดยวางห่างจากรูหู 30 เซนติเมตร

 

2.หูชั้นกลาง ประกอบด้วยเยื่อแก้วหู กระดูกหูชิ้นเล็กๆ 3 ชิ้น คือ กระดูกค้อน กระดูกทั่ง และกระดูกโกลน ทำหน้าที่ขยายเสียง เพื่อเข้าสู่หูชั้นใน นอกจากนี้หูชั้นกลางยังมีท่อเชื่อมต่อกับโพรงหลังจมูก และต่อเนื่องไปยังโพรงอากาศที่กกหูอีกด้วย

ในเด็กอายุน้อยกว่า 11 ขวบหูชั้นกลางจะติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากท่อระบายลมที่เชื่อมโพรงหลังจมูกกับหูชั้นกลางยังไม่ชันพอ และมีขนาดเล็ก ทำให้มีการบวมและอักเสบได้ง่าย เพราะฉะนั้นเมื่อเด็กเป็นหวัดควรได้รับการตรวจหูว่ามีการอักเสบร่วมด้วยหรือไม่

 

 

ในผู้ใหญ่หูชั้นกลางจะมีการเปลี่ยนแปลงความดันตามความสูงและความลึกจากระดับน้ำทะเล ในผู้ที่เดินทางด้วยเครื่องบิน หรือผู้ที่ดำน้ำจะต้องฝึกการปรับความดันในหูชั้นกลาง เช่น การหาว การกลืน การบีบจมูกแล้วเป่าลมออกหู จะทำให้แรงดันในหูชั้นกลางกลับมาเป็นปกติได้ โดยก่อนการขึ้นเครื่องบินหรือการดำน้ำควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ มิเช่นนั้นท่อระบายลมจะไม่สามารถปรับความดันในหูชั้นกลางได้อย่างปกติ

 

สำหรับผู้ที่มีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือเป็นหวัด

ถ้าจำเป็นต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน ควรพบแพทย์หู คอ จมูก เพื่อตรวจและพิจารณาให้ยาหยอดจมูก เพื่อให้ยุบบวมท่อระบายลม จะทำให้หูชั้นกลางปรับความดันในช่วงการขึ้นลงของเครื่องบินได้ใกล้เคียงปกติ

 

สำหรับผู้ที่มีน้ำออกหู หรือมีแก้วหูทะลุ

ควรไปพบแพทย์หู คอ จมูก เพื่อตรวจและพิจารณาให้การรักษาที่เหมาะสม ทั้งการใช้ยา หรือการปะซ่อมแซมเยื่อแก้วหู

 

3.หูชั้นในมีหน้าที่แปลงสัญญาณเสียงเป็นสัญญาณประสาทเข้าสู่สมอง มีองค์ประกอบสองส่วน คือ อวัยวะรูปก้นหอยทำหน้าที่รับฟังเสียง และอวัยวะรับการทรงตัว หูมนุษย์สามารถได้ยินเสียงตั้งแต่ทุ้ม 20 เฮิร์ตซ ไปจนถึงเสียงแหลมที่ 20,000 เฮิร์ตซ และหูจะมีความสามารถในการได้ยินลดลงเมื่ออายุมากขึ้น หากได้ยินเสียงดังเป็นเวลานาน จะทำให้หูชั้นในเสื่อมลงก่อนวัยอันควร จึงควรหลีกเลี่ยงเสียงดังตามกฎของพลังงาน คือ หูชั้นในจะรับเสียงดัง 85 เดซิเบล ได้ต่อเนื่องไม่เกิน 8 ชั่วโมงเท่านั้น

 

 คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก มีข้อแนะนำดังนี้

ในบ้านและห้องเรียนไม่ควรมีเสียงดังเกิน 35 เดซิเบล  ส่วนในห้องนอนไม่ควรมีเสียงดังเกิน 30 เดซิเบล เป็นคำแนะนำสำคัญในการพิจารณาเลือกชนิดเครื่องปรับอากาศ เพราะหากเสียงดังเกินกว่าคำแนะนำ และต้องอาศัยอยู่ในห้องดังกล่าวเป็นเวลาหลายชั่วโมง จะทำให้ประสาทการได้ยินเสื่อมลงได้

 

เสียงดังในงานเลี้ยงหรือโรงภาพยนตร์จะอยู่ประมาณ 100 เดซิเบล ดังนั้นไม่ควรอยู่ในงานเลี้ยงเกิน 4 ชั่วโมง

เสียงจากลำโพงชนิดครอบศีรษะดังประมาณ 85 เดซิเบล จึงไม่ควรฟังนานกว่า 8 ชั่วโมง

หากใช้หูฟังเสียงจะดังถึง 105 เดซิเบล จึงควรใช้หูฟังได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *