หู ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญในร่างกาย ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยินเสียงและการทรงตัว หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นที่หู นั่นหมายความว่าอาจส่งผลกระทบต่อการได้ยินเสียง และความสามารถในการทรงตัวได้ เช่น มีอาการวิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน หูอื้อ หรือมีเสียงรบกวนในหู เป็นต้น
ปัจจุบันมีโรคต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นกับหูของคนเรา แต่เมื่อสำรวจจากข้อมูลแล้วพบว่า โรคที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับหูมีทั้งหมด 4 โรค ซึ่งเราได้รวบรวมสาเหตุ อาการ การป้องกัน และแนวทางการรักษาของแต่ละโรคไว้ให้แล้วดังต่อไปนี้
1. โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
เป็นโรคที่พบได้บ่อยกับผู้ที่มีอายุประมาณ 30-60 ปี และอาจมีความรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการได้ยินได้เลย สาเหตุในเบื้องต้นนั้นอาจเกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน ส่งผลให้การรับเสียง และการทรงตัวนั้นไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ ดังนั้นจึงทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หูอื้อ และอาจสูญเสียการได้ยินได้ เป็นต้น
- สาเหตุ
โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งสาเหตุที่อาจก่อให้เกิดโรคน้ำในหูไม่เท่ากันได้ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก
-
- ปัจจัยภายในอาจเกิดจากโรคทางกรรมพันธุ์ ซึ่งพบได้บ่อยในครอบครัวที่มีประวัติป่วยเป็นโรคไมเกรน
- ปัจจัยภายนอกอาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ การติดเชื้อไวรัส การอักเสบที่หูชั้นกลางหรือหูชั้นใน ความเครียด และอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ในบางรายก็อาจเกิดโรคน้ำในหูไม่เท่ากันขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุได้เช่นกัน
- อาการ
- มีอาการแน่นหู หูอื้อ
- มีเสียงดังในหู
- วิงเวียนศีรษะ
- คลื่นไส้อาเจียน
- รู้สึกมีอาการหน่วง ๆ ภายในหู
- ได้ยินเสียงเบาลง
ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้ บางครั้งก็อาจเป็นอาการแทรกซ้อนจากโรคอื่น ๆ ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์ เพื่อค้นหาสาเหตุและรักษาอย่างถูกต้อง
- การรักษา
มีหลายวิธี คือ- การทานยา โดยทานยารักษาตามอาการ พร้อมลดการทานอาหารที่มีรสเค็ม
- การบำบัด
- การใช้ท่าบริหารเพื่อฟื้นฟูระบบการทรงตัวสำหรับผู้ที่มีอาการเวียนศีรษะ หรือไม่สามารถทรงตัวได้
- การใช้ Meniett Device ในการช่วยบรรเทาอาการเวียนศีรษะในผู้ป่วยบางราย
- การฉีดยา โดยยาที่นิยมใช้ในการรักษามีอยู่มี 2 ชนิด คือ
- Dexamethasone ช่วยให้ความถี่ของการเกิดอาการเวียนศีรษะลดลง ซึ่งสามารถฉีดได้ทุก ๆ 1-3 เดือน
- Gentamycin หรือสเตียรอยด์ มีประสิทธิภาพในการรักษาที่มากกว่า แต่อาจมีผลข้างเคียงทำให้ผู้ป่วยได้ยินเสียงเบาลง
- การผ่าตัด โดยมีทั้งการผ่าตัดกระดูกบางส่วนออก และการผ่าตัดเส้นประสาทที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นในและสมอง เพื่อลดอาการวิงเวียนศีรษะ ซึ่งการผ่าตัดบางวิธีอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสูญเสียการได้ยิน
- วิธีป้องกัน การป้องกันสามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวัน เช่น
-
- การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ลดการดื่มแอลกอฮอล์ ชา และกาแฟ
- ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และดื่มน้ำเปล่า 6-8 แก้วต่อวัน
2. โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด
พบได้บ่อยมากในผู้ที่มีอาการวิงเวียนศีรษะ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ ( เพศหญิง อายุ 30 – 70 ปี )
- สาเหตุ
-
- อุบัติเหตุทางศีรษะ
- ความเสื่อมตามวัย (มักพบในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป)
- ผู้มีความเครียด และไม่ได้ออกกำลังกาย
- โรคเกี่ยวกับหูชั้นใน หรือการติดเชื้อต่าง ๆ
- การทำงานที่ต้องก้มหรือเงยหน้าอยู่บ่อย ๆ
- อาการ
-
- คลื่นไส้อาเจียน
- เวียนศีรษะทันทีเมื่อมีการเคลื่อนไหว
- ดวงตาดำสองข้างกระตุกไปในทิศทางเดียวกัน
- ไม่มีอาการหูอื้อ
- การได้ยินปกติ
- การรักษา
-
- การทานยา
- การทำกายภาพบำบัด
- หลีกเลี่ยงกิจกรรม เช่น การปีนป่ายในที่สูง ดำน้ำลึก ขับรถยนต์ ในช่วงแรก ๆ ของการรักษา
- เข้ารับการผ่าตัดหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 4-6 เดือน
- การป้องกันไม่ให้อาการกำเริบ
-
- หลีกเลี่ยงการนอนราบ ควรนอนหมอนสูง
- หลีกเลี่ยงการนอนตะแคงข้าง (ข้างที่หูมีปัญหา)
- ไม่ควรลุกจากที่นอนอย่างรวดเร็ว หลังตื่นนอนควรนั่งรอสักพักก่อนและค่อยๆลุกขึ้นยืนช้าๆ
- หลีกเลี่ยงการก้ม หรือ เงยหน้าบ่อย ๆ
- ไม่ควรออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวมาก ๆ
3. โรคประสาทหูเสื่อม
เป็นโรคที่เกิดขึ้นที่หูชั้นใน เกิดจากเซลล์ขนภายในอวัยวะก้นหอยถูกทำลาย ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการได้ยินเสียง
- สาเหตุ
- สาเหตุทางพันธุกรรม มีประวัติคนในครอบครัวหูหนวก หูตึง
- เกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะ
- การสัมผัสกับเสียงดัง
- การเสื่อมสภาพตามวัย
- หูชั้นกลางอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง ส่งผลกระทบต่อหูชั้นใน
- อาการ
- การได้ยินลดลง
- ได้ยินเสียงไม่ชัดเจน
- ได้ยินเสียงแต่จับใจความไม่ได้
- บางรายอาจมีอาการเสียงรบกวนในหู (Tinnitus) เช่น เสียงวี้ๆ เสียงคล้ายจิ้งหรีด หรือเสียงหึ่ง ๆ ซ่า ๆคล้ายเสียงลม เป็นต้น
- การรักษา
ปัจจุบันมีตัวช่วยสำหรับผู้ที่มีการสูญเสียการได้ยินจากโรคประสาทหูเสื่อมหลายวิธี โดยแบ่งตามระดับความรุนแรงของการสูญเสียการได้ยิน เช่น เครื่องช่วยฟังสำหรับผู้ที่มีการสูญเสียการได้ยินในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ประสาทหูเทียมสำหรับผู้ที่มีการสูญเสียการได้ยินในระดับรุนแรงถึงหูหนวก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหูชั้นกลางเทียม สำหรับผู้ที่ไม่สามารถใช้เครื่องช่วยฟังได้อีกด้วย
4. โรคหูดับฉับพลัน หรือ โรคประสาทหูเสื่อมแบบฉับพลัน
คือการสูญเสียการได้ยินที่เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด โดยพบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย โดยสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีอายุน้อยและวัยกลางคน ซึ่งโรคหูดับฉับพลันมักเกิดขึ้นที่หูข้างใดข้างหนึ่ง และอาจไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดได้ ซึ่งโรคนี้มีโอกาสหายเป็นปกติได้ หากรีบมาพบแพทย์ และได้รับการรักษาทันทีหลังมีอาการ
- สาเหตุ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าอาจเกิดจาก..
-
- การติดเชื้อไวรัส
- การอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นใน
- การบวมน้ำของหูชั้นใน
- การมีรูรั่วของท่อหูชั้นใน
- มีเนื้องอกบริเวณประสาทหู
- ความผิดปกติของสมอง
- อาการ
-
- หูดับฉับพลัน ไม่ได้ยินเสียง
- ได้ยินเสียงเบาลงในระยะเวลา 72 ชั่วโมง
- มีเสียงรบกวนในหู
- มีอาการเวียนศีรษะ
- การรักษา
-
- การทานยา โดยแพทย์อาจสั่งยาลดการอักเสบ ยาขยายหลอดเลือด หรือยาบรรเทาอาการเวียนศีรษะ วิตามินบำรุงเป็นต้น
- การนอนพัก เพื่อให้อาการบรรเทาและหายไป
- นัดตรวจเช็กการได้ยินเป็นระยะ เพื่อประเมินผลการรักษาและติดตามผลระยะยาว
หมายเหตุ
ผู้ที่มีอาการหูดับฉับพลันควรรีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที เนื่องจากหากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว อาจมีโอกาสที่การได้ยินจะคืนกลับมาได้ดังเดิม
ข้อมูลจาก
scimath, chulalongkornhospital, medel, siphhospital
No responses yet