จากสถานการณ์ในปัจจุบันทำให้แต่ละโรงเรียนต้องเปลี่ยนแปลงจากการเรียนการสอนในห้องเรียน ไปสู่ห้องเรียนแบบออนไลน์อย่างรวดเร็ว ดังนั้นคุณครู และนักเรียนทั่วโลกจึงต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับวิธีการเรียนรู้ และการสอนแบบในรูปแบบใหม่อย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน
การเรียนในรูปแบบออนไลน์นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายอย่างมากสำหรับนักเรียนที่สูญเสียการได้ยิน และนี่คือเคล็ดลับ 5 ประการที่ผู้เขียนอยากแบ่งปันให้กับคุณครูทุกคน เพื่อช่วยส่งเสริมให้เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1. กำหนดกฎเกณฑ์สำหรับการสื่อสาร
ตัวอย่าง การเปิด – ปิดไมโครโฟนในขณะเรียน
การเปิดไมโครโฟนเพื่อตอบคำถาม และการมีส่วนร่วมในห้องเรียนออนไลน์สำหรับนักเรียนทุกคน หากมีนักเรียนพูดพร้อมกันหลายคน อาจทำให้มีเสียงรบกวน หรือ เสียงสะท้อนผ่านไมโครโฟน ซึ่งนั้นเป็นเรื่องยากมากสำหรับนักเรียนที่สูญเสียการได้ยินในการติดตามบทเรียน และเข้าใจบทสนทนาในการเรียน ดังนั้นสภาพแวดล้อมในการสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญ การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเรียนออนไลน์มีดังนี้
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีผู้พูดเพียงเดียวในแต่ละครั้ง
- ปิดเสียงไมโครโฟนเมื่อไม่ได้ใช้งาน
- ใช้การยกมือขึ้นเมื่อต้องการมีส่วนร่วมในการเรียน
- ใช้การสนทนาทางกล่องข้อความและห้องแยกย่อย
2. ตรวจเช็คสัญญาณการเชื่อมต่อ
การขาดการเชื่อมต่อ หรือ ได้ยินเสียงไม่ชัดเจนเป็นเรื่องปกติทางออนไลน์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา คุณครูควรตรวจเช็คสัญญาณการเชื่อมต่ออยู่เป็นระยะ และเมื่อเกิดการติดขัดของอินเตอรฺ์เน็ต แนะนำให้คุณครูอ่านประโยคที่สอนไปซ้ำอีกครั้ง เพื่อป้องกันการตกหล่นของเนื้อหา
3. เปิดกล้องขณะทำการสอน
เด็กที่สูญเสียการได้ยินมักใช้การดูภาพเพื่อประกอบการทำความเข้าใจ เช่น การแสดงออกทางสีหน้า การอ่านริมฝีปาก รวมถึงท่าทางต่าง ๆ ประกอบการสอนของคุณครู เพื่อให้นักเรียนที่สูญเสียการได้ยินเข้าถึงการอ่านริมฝีปากได้อย่างชัดเจน คุณครูสามารถทำได้ดังนี้
- จัดตำแหน่งตัวเองให้อยู่ในห้องที่มีแสงสว่างเพียงพอ
- เน้นห้องที่มีพื้นหลังสีเรียบ ๆ เช่นสีขาวหรือสีโทนอ่อน
- กรณีไม่สามารถจัดหาสถานที่เรียบ ๆ ได้แนะนำให้ใช้พื้นหลังจากแอปพลิเคชั่นนั้น ๆ แทน
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีเงาบนใบหน้าขณะทำการสอน
- หันหน้าเข้าหากล้องขณะพูด
4. ใช้รูปภาพประกอบสื่อการสอน
เช่นเดียวกับการเรียนในห้องเรียนแบบปกติการใช้รูปภาพจะช่วยให้นักเรียนที่สูญเสียการได้ยินเข้าถึงประเด็นสำคัญของบทเรียนได้ง่ายขึ้น โดยภาพจะช่วยดึงความสนใจของนักเรียน และสนับสนุนความเข้าใจโดยการให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเสริมกับสิ่งที่เขาได้ยิน
5. เขียนใจความสำคัญของบทเรียนนั้น ๆ ลงบนสไลด์
เพื่อให้เด็กสามารถจับทางบทเรียนได้อย่างถูกต้อง แนะนำให้คุณครูเขียนสรุปใจความสำคัญของบทเรียนที่สอน และเพื่อให้แน่ใจว่าเด็ก ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างถูกต้องในกรณีที่เด็กไม่สามารถจับใจความสำคัญจากสิ่งที่พูดได้ แนะนำให้เด็กจดการบ้านและเนื้อหาที่ต้องอ่านทบทวนท้ายบทเรียน
No responses yet