การสนับสนุนตนเอง คือการตระหนักรู้ถึงความต้องการ ความปรารถนา และความรู้สึกของตัวคุณเอง รวมถึงสามารถสื่อสารสิ่งเหล่านี้ให้ผู้อื่นทราบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสามารถในการพูดเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจในสิ่งที่คุณต้องการ ซึ่งเป็นทักษะที่อาจช่วยให้คุณรู้สึกมั่นใจ เมื่อได้สื่อสารกับผู้อื่น และเป็นอิสระมากขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวัน

คุณทราบดีกว่าใครว่า การสูญเสียการได้ยิน ส่งผลกระทบต่อการสื่อสารระหว่างคุณกับผู้อื่นอย่างไร ดังนั้นคุณจึงเป็นคนที่สามารถอธิบายเพื่อสื่อสารถึงความต้องการของคุณได้ดีที่สุด สำหรับผู้ใหญ่และวัยรุ่นที่เป็นผู้ใช้งานเครื่องประสาทหูเทียม ทักษะในการสนับสนุนตนเองมีความสำคัญต่อการจัดการสถานการณ์การฟังและการสื่อสารที่ท้าทายเป็นอย่างมาก

ต่อไปนี้จะเป็นการยกตัวอย่างถึงสถานการณ์บางส่วนที่สามารถพบได้ในแต่ละวัน ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถฝึกฝนเพื่อพัฒนาทักษะการสนับสนุนตนเองได้:

1. อธิบายเกี่ยวกับสถานการณ์ของคุณ

แจ้งให้คนรอบข้างรู้ว่า คุณสูญเสียการได้ยินและสวมใส่เครื่องช่วยฟัง/เครื่องประสาทหูเทียมอยู่ รวมถึงอธิบายถึงความท้าทายที่เกิดจากการสูญเสียการได้ยิน เช่น ในการสนทนาหรือในที่ทำงาน

2. แจ้งผู้อื่นให้ทราบว่า พวกเขาจะช่วยคุณได้อย่างไร

บอกผู้อื่นอย่างชัดเจนว่า พวกเขาทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้คุณเข้าใจพวกเขาเมื่อทำการสื่อสาร ตัวอย่างเช่น อธิบายว่า “มันช่วยได้ถ้าคุณมองมาที่ฉันเวลาคุณกำลังพูด เพื่อที่ฉันจะได้อ่านปาก”, ในการประชุม ขอให้พูดทีละคน, กำหนดวาระการประชุมหรือพิมพ์บันทึกย่อเพื่อปฏิบัติตาม และนำส่งรายงานการประชุมเพื่อให้คุณทบทวนหลังการประชุม

3. ลดเสียงรบกวน

อธิบายถึงผลกระทบของเสียงรบกวนที่มีต่อการฟังและความสามารถในการสื่อสารกับผู้อื่น ขอให้ลดเสียงรบกวนรอบข้างให้มากที่สุด (ปิดประตูและหน้าต่าง, ปิดเพลงที่ไม่จำเป็น หรือ ใช้ไมโครโฟน)

4. อย่ากลัวที่จะบอกนายจ้าง

ทักษะในการสนับสนุนตนเองมีประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อมองหาโอกาสของการจ้างงานและอาชีพ หากคุณกำลังสมัครงานและไปสัมภาษณ์ คุณอาจพูดคุยส่วนที่คุณมีเกี่ยวกับความต้องการของที่ทำงาน และอย่ากลัวที่จะพูดถึงการสูญเสียการได้ยินของคุณ 

อย่างไรก็ตาม ให้เน้นการอภิปรายเกี่ยวกับความสามารถและทักษะของคุณ แสดงความมั่นใจในความรู้ คุณสมบัติ และความเชี่ยวชาญของคุณและเน้นย้ำถึงประโยชน์เกี่ยวกับทักษะของคุณที่สามารถนำมาสู่บริษัทได้ สิ่งสำคัญคือต้องเตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อให้รู้สึกมั่นใจเมื่อพูดคุยกับนายจ้าง การรู้วิธีนำเสนอตัวเองและชี้จุดแข็งเป็นกุญแจสำคัญในการได้งานในฝัน

5. ฝึกฝนสถานการณ์ทางสังคมต่าง ๆ

การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเป็นองค์ประกอบสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมและเป็นส่วนช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมาย หากคุณรู้สึกไม่มั่นใจเกี่ยวกับการสื่อสารผ่านโทรศัพท์ในเรื่องสำคัญ หรือเข้าร่วมการประชุมที่สำคัญ ให้แสดงบทบาทสมมติและฝึกฝนสถานการณ์จำลองที่บ้านกับสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อน การเตรียมตัวด้วยการสร้างสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยวิธีนี้ จะช่วยให้คุณรู้ล่วงหน้าว่าจะพบและจะต้องตอบสนองในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างไร และได้ฝึกฝนการขอในสิ่งที่คุณต้องการ

6. การเข้าสังคม

การมีส่วนร่วมทางสังคมจะทำให้คุณมีส่วนร่วมในการอภิปรายและแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการสูญเสียการได้ยินของคุณ นอกจากนี้ยังช่วยให้คุณได้โต้ตอบกับผู้คนใหม่ ๆ และเพิ่มความมั่นใจในการเริ่มต้นการสนทนาหรือถามเกี่ยวกับสิ่งที่คุณต้องการในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย

7. การเข้าร่วมกลุ่ม

ติดต่อกับผู้อื่นที่สูญเสียการได้ยินผ่านโซเชียลมีเดียหรือชุมชนในพื้นที่ของคุณ การพบปะกับผู้ใช้งานเครื่องประสาทหูเทียมคนอื่น ๆ จะทำให้คุณได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ คำแนะนำ และกลยุทธ์ในการสื่อสารและการใช้ชีวิตร่วมกับเครื่องประสาทหูเทียม

8. ศึกษาสิทธิ์ของคุณ

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายและบริการที่คุณมีสิทธิ์ได้รับในประเทศและภูมิภาคของคุณ ในเว็บไซต์ของรัฐบาลท้องถิ่น อาจมีข้อมูลสำคัญเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการจ้างงาน โปรแกรมอาชีวศึกษา การฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยิน/การพูด รวมถึงการสนับสนุนทางการเงินที่คุณมีสิทธิ์ได้รับ

 

8 Self-Advocacy Tips for Hearing Implant Recipients – The MED-EL Blog (medel.com)

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *