โรคทางหู ที่พบได้บ่อยๆ มักจะมีอาการที่แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้ คือ

  • การได้ยินเสียงลดลง เช่น รูหูตีบ แก้วหูทะลุ การอักเสบติดเชื้อในหู ระบบประสาทหูชั้นในเสื่อม ฯลฯ ทำให้หูอื้อ หูตึง จนถึงขั้นหูดับเฉียบพลัน
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัว เช่น มีอาการเวียนหัวบ้านหมุน เดินโคลงเคลง ฯลฯ

ซึ่งทั้งสองกลุ่มอาการบ่งชี้ โรคทางหู ที่พบได้บ่อย 4 โรค ได้แก่

1. น้ำในหูไม่เท่ากัน

เกิดจากการที่ร่างกายสร้างน้ำในหูชั้นในมากผิดปกติ หรือ มีการระบายน้ำในหูได้น้อยลง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งอาการที่พบเจอได้แก่

    • เวียนศีรษะบ้านหมุน เป็นเวลา 20 นาทีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 12 ชั่วโมง
    • มีอาการบ้านหมุนมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป
    • มีระดับการได้ยินลดลงในหูข้างที่เป็นโรคโดยจะสูญเสียการได้ยินเสียงที่ความถี่ต่ำ (เสียงทุ้ม)
    • มีเสียงรบกวนในหูในลักษณะต่าง ๆ เช่น เสียงรบกวนในหูอาจจะดังบ้าง เบาบ้าง
    • มีอาการแน่นหู หูอื้อ ระดับการได้ยินเปลี่ยนแปลงบ่อยไม่ค่อยคงที่

2. ตะกอนหินปูนในหูหลุด

โรคตะกอนหินปูนในหูหลุดสามารถพบได้มากกว่าอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน โดยเกิดจากผลึกหินปูนในหูชั้นในซึ่งมีส่วนประกอบเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาการทรงตัวของร่างกาย มีการเคลื่อนหลุดออกจากตำแหน่งเดิม ทำให้เวลาที่เราเคลื่อนไหวร่างกายในท่าต่าง ๆ หินปูนที่หลุดออกมาจะกลิ้งไปตามการขยับของศีรษะ ส่งผลให้เกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุนสัมพันธ์กับการขยับศีรษะ ซึ่งระยะเวลาในการเกิดอาการบ้านหมุนส่วนใหญ่จะไม่เกิน 1 นาที

 

3. การสูญเสียการได้ยินแบบประสาทหูเสื่อม

เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับการได้ยินลดลง ส่วนหนึ่งเป็นความเสื่อมที่เกิดขึ้นตามวัย และยากที่จะฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิม

เกิดจากความเสื่อมสภาพของเซลล์ประสาทหูชั้นในทำให้การได้ยินลดลง และบางรายอาจมีอาการเสียงรบกวนในหู (Tinnitus) เกิดขึ้นร่วมด้วย

 

เสียงรบกวนในหู  (Tinnitus) เป็นเสียงที่ไม่มีความหมาย เช่น เสียงวี้ด เสียงซ่า เสียงคล้ายจิ้งหรีด ฯลฯ ซึ่งมีกลไกการเกิดที่ค่อนข้างซับซ้อน สามารถอธิบายโดยย่อได้ดังนี้

“กลไกการได้ยินปกติเกิดจากเมื่อเสียงภายนอกเข้ามาในหู หูชั้นในจะเปลี่ยนพลังงานเสียง ให้เป็นกระแสประสาทส่งไปยังสมองส่วนที่เกี่ยวกับการได้ยิน สมองจะรับรู้และแปลความหมายเสียงนั้น ซึ่งถ้าหูชั้นในมีการเสื่อมสภาพจะไม่สามารถเปลี่ยนพลังงานเสียงให้เป็นกระแสประสาทที่ดีได้ ทำให้สมองส่วนที่เกี่ยวกับการได้ยินได้รับกระแสประสาทที่มีผิดเพี้ยนหรือไม่ครบถ้วนไป เมื่อสมองรับรู้ว่าเกิดความผิดปกติขึ้น สมองจะทำงานเพิ่มขึ้น (Hyperactivity) เพื่อแก้ปัญหา ส่งผลให้เกิดการสร้างเสียงรบกวนสะท้อนกลับมาให้ได้ยิน ซึ่งบางคนได้ยินเสียงรบกวนดังในหูตลอดเวลา บางคนได้ยินเป็นครั้งคราว”

ในเวลาที่มีความเครียด เหนื่อย พักผ่อนน้อย หรือ อยู่ในที่เงียบ ๆ เช่น เวลานอน อาจจะทำให้เสียงรบกวนในหูดังเพิ่มขึ้น” นอกจากนี้ยังมีเสียงดังในหูอีกแบบหนึ่งซึ่งดังเป็นจังหวะและบุคคลรอบข้างอาจได้ยินหรือตรวจพบเสียงรบกวนด้วย ได้แก่ เสียงดังในหูตามจังหวะชีพจรซึ่งเกิดจากโรคที่เกี่ยวกับเส้นเลือด หรือเสียงที่เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณหูมีการกระตุก ซึ่งผู้ที่มีอาการเช่นนี้ควรเข้ารับการตรวจรักษา

 

4. ประสาทหูดับฉับพลัน

เป็นอีกหนึ่งโรคทางหูที่สร้างความวิตกกังวลแก่ผู้ป่วยอย่างมาก มักจะเกิดกับหูข้างใดข้างหนึ่งที่ได้ยินเสียงเบาลงทันทีในระยะเวลา 72 ชั่วโมง

ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด มีทั้งทฤษฎีเกี่ยวกับการอุดตันของหลอดเลือดเส้นเล็ก ๆ ที่ไปเลี้ยงที่หู หรือ เกิดจากไวรัสโจมตีเส้นประสาทเกี่ยวกับการได้ยิน ถ้ามีประวัติศีรษะกระแทกพื้น อาจเกิดการฉีกขาดของโครงสร้างในหูชั้นใน ผู้ป่วยไม่ถึง 10% เกิดจากเนื้องอกในหูส่วนที่เกี่ยวกับการได้ยินและการทรงตัว ผู้ที่ประสาทหูดับฉับพลันมีโอกาสหายได้ถ้ามาพบแพทย์โรคหูและได้รับการรักษาในเวลาที่รวดเร็ว

 

การวินิจฉัยและแนวทางการรักษาโรคเกี่ยวกับความผิดปกติในหู

เมื่อผู้ป่วยไปพบแพทย์ แพทย์จะเริ่มจากการสอบถามลักษณะอาการและซักประวัติโดยละเอียดถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค จากนั้นแพทย์ก็จะทำการตรวจหู คอ จมูก และหากมีปัญหาการได้ยินอาจมีการตรวจการได้ยิน ตรวจดูการทำงานของหูชั้นกลาง ถ้าคนไข้มีอาการเวียนศีรษะหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัวก็จะต้องมีการตรวจระบบประสาทและระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ซึ่งแนวทางการรักษาจะแตกต่างกันไปขึ้นกับโรคของผู้ป่วย

สำหรับการรักษาผู้ป่วยประสาทหูดับฉับพลันคือการให้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ยากิน การฉีดยาเข้าเส้นเลือดหรือฉีดเข้าไปในหู จะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้ยินให้กลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียง นอกจากนี้ยังมีการรักษาทางเลือกเสริมซึ่งมีให้บริการเฉพาะในโรงพยาบาลบางแห่งคือการใช้ตู้อัดแรงดันออกซิเจน 100% (Hyperbaric Oxygen Therapy) ซึ่งถ้าคุณเริ่มรู้ตัวว่ามีปัญหาการได้ยินลดลง หรือ มีเสียงรบกวนในหูควรรีบไปพบแพทย์

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก
chulalongkorn university

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *