ตั้งแต่ในอดีตมีคำกล่าวว่า อวัยวะของมนุษย์เปรียบเสมือนประติมากรรมของพระเจ้า หู ก็เป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่เรียกได้ว่ามีลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลและมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะหูเป็นอวัยวะที่ช่วยในด้านการรับเสียง อีกทั้งยังช่วยในด้านการทรงตัวอีกด้วย หูจึงเป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่ต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดี แต่ก่อนจะดูแลได้อย่างเหมาะสม เราควรรู้ว่าโครงสร้างและความสำคัญของหูเป็นอย่างไร และเรื่องราวของหูมีเรื่องไหนที่เราควรรู้และปฏิบัติตามบ้าง
หู คืออะไร
หูคืออวัยวะในการรับเสียงโดยเปลี่ยนจากคลื่นเสียงเป็นพลังงานไฟฟ้าและส่งตรงไปยังสมองเพื่อให้สมองรับรู้และตอบสนอง นอกจากนี้ภายในหูยังมีส่วนที่ช่วยในด้านการทรงตัวของเราให้สมดุลอย่างเป็นธรรมชาติ โดยหูประกอบไปด้วยส่วนประกอบ 3 ส่วนคือ หูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน ซึ่งการทำงานทั้งสามส่วนซึ่งทำให้เกิดกลไกการได้ยินที่เราสามารถรับรู้ได้จากสมองหลังจากผ่านกลไกการได้ยินแล้ว
หูชั้นนอก ประกอบไปด้วยอวัยวะ 2 ส่วนคือ ใบหูกับช่องหู ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตามแต่บุคคล ดังนี้
- ใบหู (Pinna หรือ Auricle) มีหน้าที่ในการรับและส่งเสียงเข้าสู่ช่องหูซึ่งเปรียบเสมือนทางผ่านของเสียง มีลักษณะโค้ง และยังเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันแล้วแต่บุคคล
- ช่องหู (Ear canel) มีหน้าที่เป็นทางเดินของเสียงเข้าสู่รูหู มีความยาวประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร
หน้าที่การทำงานของหูชั้นนอกมีด้วยกัน 3 อย่างที่สำคัญ
- ปกป้องเยื่อแก้วหูและอวัยวะภายในทั้งบริเวณหูชั้นกลางและหูชั้นในจากการกระทบกระเทือนจากภายนอกซึ่งอาจสร้างความเสียหายภายในรูหูได้
- สร้างขี้หูขึ้นมาเพื่อทำความสะอาดภายในรูหู ภายในรูหูจะมีขนในช่องหูเพื่อปัดสิ่งสกปรกหรือสิ่งแปลกปลอมที่หลุดลอดเข้าไปภายในรูหู
- รับเสียงรวมไปถึงแยกทิศทางของเสียงซึ่งจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
หูชั้นกลาง ประกอบไปด้วยอวัยวะ 3 ส่วนหลัก ๆ ซึ่งจะทำงานร่วมกันดังนี้
- แก้วหูหรือเยื่อแก้วหู มีหน้าที่แบ่งแยกระหว่างหูชั้นกลางและหูชั้นนอกเป็นเส้นใยบาง ๆ มีลักษณะโค้งเว้า และมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8-10 มิลลิเมตร
- กระดูก ซึ่งมีทั้งหมด 3 ชิ้นคือ กระดูก ค้อน ทั่ง โกลนซึ่งตั้งชื่อตามลักษณะของกระดูก ซึ่งกระดูกทั้ง 3 ชิ้นจะเชื่อมต่อกันด้วยเอ็นเพื่อนำคลื่นเสียงเข้าสู่หูชั้นใน
- ท่อยูสเตเชี่ยน คือท่อที่ช่วยปรับแรงดันหูซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางกับโพรงด้านหลังจมูก ซึ่งจะมีหน้าที่หลัก ๆ อย่างการปรับแรงดันภายในหูชั้นใน ระบายและหมุนเวียนอากาศจากภายในหูชั้นกลาง อีกทั้งยังช่วยระบายน้ำจากหูชั้นกลางไปยังโพรงหลังจมูกอีกด้วย
หน้าที่ของหูชั้นกลางเรียกได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เช่น
- นำเสียง กระดูกทั้งสามชิ้นที่อยู่บริเวณหูชั้นกลางจะทำการส่งการสั่นสะเทือนของเสียงจากบริเวณเยื่อแก้วหูไปยังบริเวณหูชั้นใน
- ปรับสมดุลภายในรูหู เนื่องจากท่อยูสเตเชี่ยนจะเชื่อมต่อหูชั้นกลางกับโพรงหลังจมูก ทำให้แรงดันอากาศบริเวณเยื่อแก้วหูของหูทั้งสองข้างมีปริมาณที่เท่ากัน
- ขยายเสียง โดยเกิดจากการทำงานร่วมกันของหูชั้นนอกกับหูชั้นกลาง จะช่วยขยายเสียงภายในช่องหูให้ดังกว่าเดิม โดยสามารถขยายเสียงภายในได้ถึง 30 เดซิเบล
- ป้องกันหู เมื่อเจอกันสถานการณ์ที่จะต้องพบปะกับสถานที่ที่มีเสียงดัง หูชั้นนอกและหูชั้นกลางจะเป็นตัวป้องกันเสียงดังที่เกิดขึ้น
หูชั้นในมีหน้าที่รับเสียงและใช้ในการควบคุมการทรงตัวของร่างกายซึ่งจะประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน โดยจะทำหน้าที่ 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือส่วนของการรับเสียงและส่วนของการทรงตัว
ส่วนของรับเสียงเป็นอวัยวะรูปทรงก้นหอยที่ขดกัน โดยภายในจะเป็นท่อกลวง ซึ่งจะประกอบไปด้วยส่วนประกอบ 2 ส่วนดังนี้
- ก้นหอยหรืออวัยวะทรงก้นหอยมีส่วนประกอบของของเหลวและเซลล์ขนซึ่งสามารถตอบสนองด้วยความไวสูง เมื่อพบกับการสั่นสะเทือนของพลังงานเสียง
- เซลล์ขนหรือ Hair Cell เป็นเซลล์รับความรู้สึกในด้านการได้ยินและการทรงตัวโดยจะตรวจจับการเคลื่อนไหวผ่านกระบวนการถ่ายโอนแรงกล แบ่งออกเป็น 2 แถวคือ แถวนอกและแถวใน โดยแถวนอกจะมีเซลล์ขนราว ๆ 12,000-20,000 เซลล์ และแถวในจะมีเซลล์ขนประมาณ 3,600 เซลล์
- ระบบการทรงตัว เป็นส่วนที่อยู่ในหูชั้นใน บริเวณหลอดกึ่งวงกลม อยู่ใกล้กับบริเวณก้นหอยโดยจะทำงานร่วมกับระบบควบคุมการมองเห็นเพื่อรักษาสมดุลในการมองไปยังวัตถุตรงหน้าเมื่อศรีษะเกิดการขยับไปมา
หน้าที่ของหูชั้นใน
- ส่งต่อการสั่นสะเทือนของเสียงจากหน้าต่างรูปไข่ไปยัง Hair Cell ซึ่ง Hair Cell จะเปลี่ยนการสั่นให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้าส่งต่อไปยังสมองและเส้นประสาทการได้ยิน
- แยกเสียงทุ้มและเสียงแหลมด้วยคลื่นไฟฟ้า
- รับรู้การทรงตัวและการเคลื่อนไหว โดยส่งต่อไปตามเส้นประสาทในด้านการทรงตัวและส่งตรงไปยังสมอง
การได้ยินเกิดขึ้นได้อย่างไร
เสียงเกิดจากการสั่นสะเทือนระหว่างจุดกำเนิดเสียงสัมผัสกับอากาศโดยรอบ เมื่อเกิดการสั่นในอากาศ โดยที่มีหูเป็นตัวกลางในการรับแรงสั่น เกิดเป็นคลื่นเสียงที่กระทบภายในรูหู ส่งผลให้เกิดการปล่อยกระแสไฟฟ้าไปยังสมอง และทำให้สมองเกิดการรับรู้และตีความหมายออกมา
เสียงมีหน่วยวัดเป็นเดซิเบล Decibel (dB) เป็นหน่วยวัดระดับความดังของเสียงที่ได้ยิน โดยแสดงออกมาในรูปแบบของตัวเลขเพื่อบ่งบอกถึงความดังที่ได้ยิน นอกจากนี้ยังสามารถวัดเสียงเป็นหน่วยของเฮิร์ตซ์ (Hertz) ที่เป็นการวัดระดับความถี่ของเสียงและยังสามารถแสดงถึงโทนเสียงที่แตกต่างกันออกไป โดยโทนเสียงต่ำจะมีความถี่ที่ต่ำ และโทนเสียงแหลมจะมีความถี่ที่สูงนั้นเอง
หูของมนุษย์สามารถรับเสียงได้ตั้งแต่ 20-20,000 Hz แต่ใช่ว่ามนุษย์ทุกคนจะสามารถรับเสียงได้เท่ากัน เนื่องจากหูของแต่ละคนนั้นไม่สามารถรับความถี่ที่เท่ากันได้ และมนุษย์เราจะเริ่มรับความถี่เสียงได้ลดลงเมื่ออายุมากขึ้นหรืออยู่ในสภาวะที่พบเจอกับเสียงดังมากติดต่อกันเป็นเวลานาน
การเกิดกลไกของเสียง
- เสียงจะถูกส่งเข้าช่องหู ส่งผลให้แก้วหูมีการเคลื่อนไหว
- แก้วหูเกิดการสั่นสะเทือนตามคลื่นเสียง
- แรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นจะถูกส่งผ่านกระดูกบริเวณหูชั้นกลางไปยังหูชั้นใน
- แรงสั่นจะทำให้ของเหลวบริเวณหูชั้นในเกิดการเคลื่อนไหวทำให้เซลล์ขนลู่ลง จากนั้นเซลล์ขนจะแปลงเสียงให้กลายเป็นกระแสไฟฟ้าส่งตรงไปยังประสาทรับเสียง
- เส้นประสาทรับเสียงจะทำการส่งกระแสไฟฟ้าเป็นสัญญาณต่อไปยังสมองเพื่อให้สมองเกิดการรับรู้และวิเคราะห์ความหมายออกมา
อ่านมาถึงตรงนี้เรียกได้ว่าเราเองก็พอจะทราบคร่าว ๆ ถึงเรื่องของ หูเบื้องต้น รวมไปถึงว่าด้วยการเกิดของเสียงได้อีกด้วย สำหรับท่านใดที่สนใจสามารถสอบถามเข้ามาได้ตามช่องทางที่เรามีไว้เพื่อทุกท่านได้เลยนะคะ
line official : @hearlifeth
Facebook: https://www.m.me/hearlifethai
หรือโทร 02-693-9411
No responses yet