การได้ยินเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ภาษาและการพูด ในเด็กที่เกิดมามีการได้ยินปกติ เด็กจะเรียนรู้ภาษาและการพูดผ่านการได้ยิน โดยเด็กจะมีการเรียนรู้ภาษาผ่านการฟังเสียงแม่และเสียงต่างๆรอบตัวตั้งแต่แรกเกิด และมีการแสดงออกทางภาษาอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย ยกตัวอย่างเช่น ร้องไห้เมื่อหิว เปียก  หรือไม่สบายตัว ช่วงอายุ1เดือน , ส่งเสียงอ้อแอ้เมื่อพอใจ ช่วงอายุ 3 เดือน, เล่นเสียง เลียนเสียงต่างๆในสิ่งแวดล้อม ช่วงอายุ6เดือน ,เริ่มพูดคำที่มีความหมายได้เมื่ออายุ 1 ปี ซึ่งในเด็กที่หูไม่ได้ยินเสียงตั้งแต่กำเนิดจะไม่สามารถเรียนรู้เสียงได้ ส่งผลให้มีปัญหาด้านพัฒนาการทางภาษาและการพูดล่าช้าไม่สมวัยได้

ในปัจจุบันตามโรงพยาบาลใหญ่ๆจะมีโปรแกรมตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดรวมอยู่ในแพคเกจคลอดบุตร ทำให้สามารถรู้ได้ตั้งแต่แรกเกิดว่าการได้ยินปกติหรือไม่ ซึ่งหากตรวจพบปัญหาการได้ยินได้ตั้งแต่เล็กๆ ก็จะสามารถช่วยเหลือให้มีการได้ยินได้อย่างทันท่วงที เพื่อที่จะได้เติบโตมาเป็นเด็กที่มีพัฒนาการทางภาษาและการพูดที่สมวัย เพราะไม่ขาดโอกาสทางการได้ยิน

ปัญหาการได้ยิน สามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1.ปัญหาหูตึง หมายถึง มีอาการไม่ค่อยได้ยิน ได้ยินเสียงเบาหรือน้อยกว่าคนทั่วไปที่มีการได้ยินปกติ ซึ่งผู้ที่มีอาการหูตึงจะมีปัญหามากน้อยแตกต่างกันไปขึ้นกับระดับความรุนแรงของอาการ

วิธีช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาหูตึง  : ใส่เครื่องช่วยฟัง ที่มีกำลังขยายเหมาะสมกับระดับของอาการหูตึง

ในผู้ที่หูตึงน้อย หรือ ปานกลาง เมื่อใช้เครื่องช่วยฟัง จะสามารถได้ยินเสียงดังขึ้นและชัดเจนขึ้น ทำให้สามารถสื่อสารได้เช่นคนปกติ แต่ในผู้ป่วยบางรายที่หูตึงมากๆ เมื่อใช้เครื่องช่วยฟัง ก็อาจได้ยินเสียงแต่จะรู้สึกว่าเสียงไม่ชัดเจน หรือ ได้ยินแต่ฟังไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจความหมายของเสียงที่ได้ยิน เนื่องจากเซลล์ประสาทรับเสียงถูกทำลายไปมาก ทำให้ไม่มีตัวแปลความหมายของสัญญาณเสียงที่ได้ยิน ผู้ที่หูตึงมากๆจึงได้ประโยชน์จากเครื่องช่วยฟังจำกัด คือ “ได้ยินทุกอย่าง แต่ ฟังไม่ค่อยเข้าใจ”

2.ปัญหาหูหนวก หมายถึง มีอาการหูตึงมากๆ (ต้องใช้เสียงดังมากกว่า 90 เดซิเบล จึงจะเริ่มได้ยินเสียง)

วิธีช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาหูหนวก  : ขั้นต้นแพทย์จะแนะนำให้ทดลองใส่เครื่องช่วยฟังก่อน เพื่อทดสอบการทำงานของระบบการได้ยินในหูข้างนั้นว่าเส้นประสาทหูและสมองส่วนการได้ยินยังทำงานได้ปกติหรือไม่ หลังจากทดลองใช้เครื่องช่วยฟังแล้ว แพทย์จึงจะพิจารณาเลือกประสาทหูเทียมที่มีความเหมาะสมกับผู้ป่วยให้เป็นลำดับต่อไป

 

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *