ขั้นตอนคัดกรอง การได้ยิน : การตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด ในทางการแพทย์ มีรายงานผลงานวิจัยเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีความพยายามพัฒนาให้เป็นรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน
โดยตั้งเป้าประสงค์ให้สามารถตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดให้ครอบคลุมปริมาณทารกแรกเกิดให้มากที่สุด ถึงร้อยละ 95 ของทารกแรกเกิดมีชีพทั้งหมด
ขั้นตอนคัดกรอง การได้ยิน ในทารกแรกเกิดเป็นกระบวนการต่อเนื่องในระบบการให้บริการสาธารณสุขของสถานบริการใดใด ซึ่งจะต้องกระทำโดยทีมบุคลากร และรับความช่วยเหลือจากผู้บริหาร รวมทั้งต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองของเด็ก
ซึ่งในกระบวนการจะต้องมีข้อตกลงล่วงหน้าบางประการ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ตรงตามมาตรฐาน และเกิดประโยชน์แก่ประชาชน และระบบสาธารณสุขโดยรวม อาจแบ่งการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดเป็น 2 ลักษณะ คือ
-
แบบครอบคลุม Universal newborn hearing screening-UNHS
-
เฉพาะทารกกลุ่มเสี่ยง High-risk hearing screening
ทั้งสองแบบมีความแตกต่างกันในระเบียบวิธีการด้านสถิติ คำนิยาม ซึ่งแบบครอบคลุมจะต้องตรวจทารกแรกเกิดทุกราย หรือตรวจให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้หรือให้เกินร้อยละ 95 ของทารกแรกเกิดทั้งหมด
ซึ่งขึ้นกับวัตถุประสงค์ของโครงการที่ตกลงกันไว้ และขึ้นกับศักยภาพของสถานบริการนั้นจะกระทำได้ อย่างไรก็ตาม การใช้เกณฑ์ในการตรวจคัดกรองการได้ยิน เฉพาะทารกกลุ่มเสี่ยง จะสามารถตรวจพบความผิดปกติของเด็กทารกที่มีปัญหาการได้ยินเพียง ร้อยละ 50 เท่านั้น
แม้ว่าอัตราการเกิดภาวะสูญเสียการได้ยินทารกกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มที่มาจากหน่วยบริบาลทารกวิกฤต (NICU) จะพบได้สูงกว่า ในทารกปกติถึง 10-20 เท่า แต่ทารกกลุ่มเสี่ยงที่มีภาวะสูญเสียการได้ยินนี้ มักจะมีความผิดปกติอื่นร่วมอยู่ด้วยสูงถึงร้อยละ 66 เป็นสาเหตุที่ทำให้การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการได้ยิน ด้านภาษาและการพูดถูกพัฒนาได้ไม่ดีเท่าเด็กที่มีภาวะสูญเสียการได้ยินเพียงอย่างเดียว
UNHS ได้รับการยอมรับ และแนะนำโดย The National Institute of Health (1993), Joint Committee on Infant Hearing (1994), The American Academy of Pediatrics (1994), The European Consensus Development Conference (1998)
สำหรับข้อเสนอแนะนำและแนวปฎิบัติโดยคณะกรรมการได้ยินในทารกที่กำหนดไว้ในปี ค.ศ.2000 สำหรับการดำเนินงานในโครงการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดแบบครอบคลุมที่มีฐานอยู่ในโรงพยาบาล (Hospital Based) มีการเปรียบเทียบคุณภาพ (Benchmark) ในหัวข้อต่อไปนี้
การเปรียบเทียบคุณภาพในโรงพยาบาลในโครงการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดแบบครอบคลุม (UNHS)
- ภายใน 6 เดือนหลังจากเริ่มดำเนินการโครงการ สามารถตรวจคัดกรองทารกอย่างน้อย ร้อยละ 95 ของทารกแรกเกิดทั้งหมด ก่อนกลับบ้านหรือภายในอายุไม่เกิน 1 เดือนแม้ว่าทารกจะอยู่โรงพยาบาลเพียง 24 ชม. หรือน้อยกว่า
- ภายใน 1 ปี หลังจากเริ่มดำเนินการโครงการ การส่งต่อสำหรับการประเมินทางด้านการได้ยินและการแพทย์ ทั้งระบบผู้ป่วยใน และผู้ป่วยนอกจะต้องไม่เกินร้อยละ 4 ของทารกที่ตรวจ
- หน่วยงานที่จะติดตามให้ผู้ปกครองนำเด็กทารกกลับมาตรวจซ้ำตามที่ได้นัดหมาย จะต้องมีความพยายามให้กลับมาตรวจให้ได้ ร้อยละ 95 ของทารกที่ผลการตรวจคัดกรอง “ไม่ผ่าน”
ดัชนีบ่งชี้คุณภาพร่วมสำหรับโครงการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติด้านการได้ยิน และให้การรักษาอย่างทันท่วงที (Early Hearing Detection & Intervention – EHDI)
- ร้อยละของทารกที่คลอดในร.พ. ได้รับการตรวจคัดกรอง ก่อนกลับบ้าน
- ร้อยละทารกที่คลอดนอกร.พ. และได้รับการตรวจคัดกรองก่อนอายุ 1 เดือน
- ร้อยละของทารกที่คลอดในร.พ. ได้รับการตรวจคัดกรองก่อนกลับบ้านที่ผลการตรวจ “ไม่ผ่าน”
- ร้อยละของทารกที่คลอดในร.พ. ได้รับการตรวจคัดกรองก่อนกลับบ้าน ที่ผลการตรวจ “ไม่ผ่าน” และกลับมาตรวจซ้ำ แบบผู้ป่วยนอก
- ร้อยละของทารกที่คลอดในร.พ. และนอกร.พ. ได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยิน ที่ผลการตรวจ “ไม่ผ่าน” ซึ่งถูกส่งตัวเพื่อรับการตรวจประเมินด้านการได้ยิน หรือด้านการแพทย์
- ร้อยละของครอบครัวที่ปฎิเสธการตรวจคัดกรองการได้ยินทารกที่คลอดในร.พ.ก่อนกลับบ้าน
ในการดำเนินงานจะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของการดำเนินงานเป็นรายเดือน ให้ได้เป้าหมายตามที่ได้ตั้งใจไว้ การตรวจเช็คบ่อยจะทำให้ทราบถึงข้อบกพร่อง จุดที่ต้องพัฒนาของกระบวนการในการดำเนินโครงการ การปรึกษาหารือ และให้ความรู้แก่ทีมงานจะเป็นแนวทางให้นโยบายที่ตั้งไว้สัมฤทธิ์ผลได้
หากท่านใดสนใจอยากปรึกษาเกี่ยวกับ เครื่องช่วยฟัง ประสาทหูเทียม สามารถติดต่อมาได้ที่ hearLIFE เรามีผลิตภัณฑ์ที่พร้อมรองรับทุกปัญหาการได้ยิน และทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการแก้ไขปัญหาการได้ยินที่พร้อมให้คำปรึกษา และบริการ
สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับโรคหูเพิ่มเติมได้ที่ บทความ
Line Official : @hearlifeth
Facebook: https://www.m.me/hearlifethai
หรือโทร 02-693-9411
No responses yet