การสูญเสียการได้ยินที่เกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่มักจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อคุณภาพชีวิต ผลกระทบนี้เกิดจากความยากลำบากในการรับฟังเสียงคำพูดและการสื่อสารทำให้เกิดข้อจำกัดในด้านการมีส่วนร่วมในสังคม ด้านความบันเทิงและการพักผ่อนหย่อนใจ การสูญเสียที่เกิดขึ้นจำเป็นจะต้องได้รับการฟื้นฟู หากแต่เป้าหมายของการฟื้นฟูมิใช่การได้ยินที่กลับคืนสู่ปกติเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตโดยการลดข้อจำกัดที่เกิดขึ้นเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

การฟื้นฟูการได้ยิน จะแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้

  1. การจัดการทางระบบประสาทสัมผัสเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการฟัง
  2. การให้คำแนะนำในด้านการจัดการเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการฟัง
  3. การฝึกอบรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับรู้เสียงคำพูดและการสื่อสาร
  4. การให้คำแนะนำเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมรวมถึงการจัดการด้านอารมณ์และการปฏิบัติที่เหมาะสมกับข้อจำกัดที่เกิดขึ้น

แนวคิดของการฟื้นฟูทางด้านการฟังสำหรับผู้ใหญ่นั้นถือเป็น การลดการขาดดุลที่เกิดจากการสูญเสียการได้ยินที่มีผลกระทบต่อการทำงาน กิจกรรมในการเข้าสังคมและคุณภาพชีวิต ผ่านการฝึกอบรมการรับรู้ทางเสียงและการให้คำปรึกษาที่ถูกต้อง คำจำกัดความนี้ได้พัฒนามาจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในความพยายามที่จะสร้างแนวคิด จัดประเภท และอธิบายผลกระทบของโรค ซึ่งก่อนหน้านี้การฟื้นฟูมักจะเน้นย้ำถึงข้อบกพร่องหรือความพิการซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดหายไปหรือสิ่งที่สูญเสียไป แต่ปัจจุบันการฟื้นฟูทางการได้ยินจะมองในทางบวกมากขึ้น นั้นคือการมุ่งเน้นที่ความสามารถที่มีอยู่และปัจจัยต่างๆที่ใช้ในการพัฒนาให้ดีขึ้น

ความสามารถทางการได้ยินต่อคุณภาพชีวิตนั้นสามารถแยกเป็นลำดับขั้นของการรับรู้ได้ทั้งหมด 5 หมวดหมู่ ได้แก่

  1. กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา คือความสมบูรณ์ทางกายภาพและการทำงานของระบบการได้ยิน นั่นคือ การทำงานของหูชั้นนอก หูชั้นกลางและหูชั้นในรวมไปถึงการส่งกระแสประสาทไปยังสมอง สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดคือความสามารถของหูชั้นในหรือที่เรียกว่า โคเคลีย ซึ่งเป็นส่วนที่เมื่อเกิดความผิดปกติหรือความบกพร่องขึ้นจะทำให้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการรับรู้เสียงคำพูดได้ และจะส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทด้านการได้ยิน
  2. ความสามารถในการรับรู้ขั้นพื้นฐานที่ตรวจประเมินได้ในคลินิกหรือห้องปฏิบัติการวิจัย ซึ่งจะแสดงถึงช่วงความดัง ช่วงความถี่ ช่วงระยะเวลาที่รับรู้ การรับรู้ทิศทาง ความสามารถในการจดจำ ความเร็วในการประมวลผล ความต้านทานต่อเสียงรบกวนและข้อจำกัดต่างๆเกี่ยวกับการได้ยิน
  3. กิจกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะต้องประเมินจากการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นการรับรู้เสียงสิ่งแวดล้อมในสถานการณ์ต่างๆ ตัวอย่างเช่น การรับรู้เสียงแล้วแปลความสภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้นในขณะนั้น การแปลความหมายของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การควบคุมเสียงคำพูดในแต่ละสถานการณ์ การใช้ทักษะการฟังเพื่อความเพลิดเพลิน แต่สิ่งที่ควรสังเกตมากที่สุดคือการการรับรู้คำพูดของผู้อื่นและการมีส่วนร่วมในการสื่อสาร
  4. การมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การทำงาน การพักผ่อนและการเรียนรู้สิ่งต่างๆ
  5. คุณภาพชีวิต เป็นส่วนสะท้อนการประเมินตนเองโดยใช้ประสบการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ความเป็นเสรีภาพ ความเป็นอิสระ ซึ่งคุณภาพชีวิตเป็นเป้าหมายที่ไม่หยุดนิ่งจะขึ้นอยู่กับกิจกรรมและการต้องการมีส่วนร่วมในกิจกรรม ซึ่งจะถูกกำหนดจากสภาพแวดล้อมโดยขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละบุคคล

จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นการฟื้นฟูการได้ยินจะอิงตามคุณภาพชีวิตของแต่ละบุคคลที่ปรารถนา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีขั้นตอนการประเมิน การให้คำแนะนำที่เหมาะสมเพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้และเพื่อพัฒนาไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *