เมื่อคุณเป็นบุคคลหนึ่งที่มีการสูญเสียการได้ยิน และได้รับการแนะนำให้ใส่เครื่องช่วยฟัง คุณจะมีคำถามหรือประเด็นข้อสงสัยต่าง ๆ เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าวคุณไม่เคยรู้จักมาก่อน บทความนี้เป็นการรวบรวมคำถามถูกถามอยู่บ่อยครั้ง เพื่อตอบปัญหาหรือไขข้อข้องใจที่อาจพบได้ในผู้ที่ต้องการลองเครื่องช่วยฟัง

 

คำถามที่ 1 เครื่องช่วยฟังคืออะไร? และเหมาะสมกับใคร?

คำตอบ เครื่องช่วยฟังเป็นเครื่องขยายเสียงขนาดเล็กชนิดหนึ่ง  โดยประกอบด้วย ไมโครโฟนรับเสียงโดยรอบ โดยเฉพาะเสียงคำพูด ภาคขยายเสียงทำให้หน้าขยายเสียงสัญญาณให้ดังขึ้นและทำให้เสียงคำพูดชัดเจนมากยิ่งขึ้นโดยการตัดเสียงรบกวนอื่น ๆ ให้ลดลง และลำโพงปล่อยเสียงเข้าสู่หูของผู้ใช้งาน ดังนั้นเครื่องช่วยฟังจึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีการสูญเสียการได้ยินที่มากกว่า 40 เดซิเบล นั่นคือไม่สามารถรับฟังเสียงคำพูดได้ชัดเจนเท่าที่ควร

 

คำถามที่ 2 จำเป็นจะต้องทดลองเครื่องช่วยฟังโดยผู้เชี่ยวชาญหรือไม่?

คำตอบ  เครื่องช่วยฟังคืออุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างหนึ่งซึ่งผ่านมาตรฐานสากลในการตรวจสอบ จึงแน่ใจได้ว่าเครื่องจะถูกผลิตมาเพื่อให้ปลอดภัยกับการใช้งานของผู้ใช้ แต่จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลและการให้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นการใส่เครื่องช่วยฟังโดยมีผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ปรับตั้งเครื่องและให้คำปรึกษาแนะนำจึงแทบจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียใด ๆ กับระดับการได้ยินของผู้ใช้เลย และยังช่วยให้การได้ยินกลับคืนมาใกล้เคียงปกติ แต่หากไม่มีการให้คำแนะนำหรือปรับตั้งค่าการได้ยินที่เป็นของตัวเองแล้วละก็อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพหูได้ เพราะผู้ใช้ไม่มีทางรู้ได้เลยว่ากำลังใช้เครื่องที่มีการตั้งค่าระดับเสียงที่ดังเกินไปหรือไม่ หากดังเกินไปจะมีผลกระทบให้มีการเสื่อมของการได้ยินมากขึ้น แต่หากเบาเกินไปอาจทำให้ได้ยินคำพูดที่ไม่ชัดเจน

 

คำถามที่ 3 เครื่องช่วยฟังมีกี่รุ่น? กี่แบบ?

คำตอบ เครื่องมีหลากหลายยี่ห้อ และรุ่น โดยในแต่ละยี่ห้อแต่ละรุ่นก็จะมีการปรับแต่งคุณภาพเสียงที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการทดลองฟังในแต่ละเครื่องจึงมีความจำเป็นในการเลือกตัดสินใจซื้อเครื่องช่วยฟังนั้น ๆ นอกจะจะมีความแตกต่างกันในแต่ละรุ่นแล้วผู้ใช้ยังสามารถที่จะเลือกรูปแบบเครื่องที่เหมาะสมกับชีวิตประจำวันด้วย ซึ่งรูปแบบจะมีทั้งแบบทัดหลังหู แบบใส่ในช่องหู โดยผู้ใช้สามารถสอบถามผู้เชี่ยวชาญในขณะทดลองเครื่องเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้

 

คำถามที่ 4 เราจะเลือกเครื่องช่วยฟังที่เหมาะสมได้อย่างไร?

คำตอบ การเลือกเครื่องช่วยฟังเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พบได้กับผู้ใช้ โดยอันดับแรกควรคำนึงถึงกำลังขยายที่รองรับการสูญเสียการได้ยินที่เกิดขึ้น และอาจพิจารณาถึงคุณลักษณะพิเศษต่าง ๆ ของเครื่องเพิ่มเติมร่วมกับงบประมาณที่ตั้งไว้ ทั้งนี้การเลือกต้องอยู่บนพื้นฐานของการทดลองเครื่องที่รู้สึกพึงพอใจ ดังนั้นผู้ใช้จึงจำเป็นจะต้องทดลองฟังเสียงจากเครื่องนั้น ๆ ก่อนตัดสินใจซื้อเครื่องเพื่อใช้งานทุกครั้ง

 

 

คำถามที่ 5 อายุการใช้งานของเครื่องเป็นอย่างไร?

คำตอบ เครื่องช่วยฟังมีอายุการใช้งานได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา หากผู้ใช้หมั่นทำความสะอาด ใช้เครื่องดูดความชื้น และส่งตรวจเช็กล้างทำความสะอาดกับทางบริษัทผู้จัดจำหน่ายตามคำแนะนำ เครื่องช่วยฟังก็จะมีสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอ และสามารถใช้งานได้นานเป็น 3-5 ปี ได้อย่างแน่นอน

 

คำถามที่ 6 คุณลักษณะของเครื่องที่แตกต่างกัน ช่วยเรื่องอะไรได้บ้าง?

คำตอบ เครื่องช่วยฟังในแต่ละรุ่นจะมีลักษณะของการทำงานที่มีเอกลักษณะเฉพาะตัว โดยส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับการตัดเสียงรบกวน การเพิ่มความคมชัดของเสียงคำพูด รวมถึงจำนวนช่องสัญญาณที่จะช่วยในการเพิ่มความคมชัดของเสียงแต่ละความถี่ ดังนั้นจึงอาจพิจารณาถึงลักษณะการใช้งานในชีวิตประจำวันเพื่อเลือกเครื่องช่วยฟังที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เช่น หากผู้ใช้งานจำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือสื่อสารในการทำงานอยู่บ่อยครั้ง ผู้เชี่ยวชาญจะแนะนำเครื่องช่วยฟังที่สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์สื่อสารในแต่ละแบบได้เพื่อความสะดวกสบายมากขึ้น

 

คำถามที่ 7 เมื่อได้รับเครื่องช่วยฟังแล้วจำเป็นจะต้องใส่เครื่องตลอดหรือไม่?

คำตอบ การใส่เครื่องช่วยฟังจะถูกแยกออกเป็น 2 กรณี นั่นคือ ในผู้ใช้งานใหม่และผู้ที่เคยใช้งานมาแล้ว 

  • กรณีผู้ใช้ใหม่อาจจะต้องมีการปรับตัวกับเสียงจากเครื่องช่วยฟังจึงแนะนำเป็นการใส่เฉพาะในที่เงียบและใส่เป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วจึงหยุดพัก โดยระยะเวลาในการปรับตัวอาจมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล 
  • สำหรับผู้ที่เคยใช้งานแล้วจะไม่มีปัญหาในการปรับตัว และสามารถใส่เครื่องช่วยฟังได้ตลอดทั้งวัน

 

คำถามที่ 8 อุปกรณ์เสริมของเครื่องมีความจำเป็นแค่ไหน?

คำตอบ กรณีของอุปกรณ์เสริมนั้นมีหลากหลายรูปแบบ เช่น อุปกรณ์เชื่อมต่อกับโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ ซึ่งอุปกรณ์แต่ละชิ้นก็จะทำหน้าที่แตกต่างกัน หากผู้ใช้งานมีความจำเป็นจะต้องทำกิจกรรมที่ต้องใช้อุปกรณ์เสริม สามารถขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในขณะทดลองเครื่องช่วยฟังได้เพื่อประโยชน์สูงสุดในการใช้งานเครื่องช่วยฟัง

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *