สำหรับการฝึกกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษาและการพูดให้กับเด็กๆนั้น ส่วนมากผู้ปกครองมักคุ้นชินกับการพาลูกไปฝึกพูดฝึกฟังกับผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาล  แต่อย่าลืมว่าส่วนใหญ่เด็กใช้เวลาอยู่กับผู้ปกครองมากกว่าผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่ผู้ปกครองสามารถนำคำแนะนำหรือจดจำวิธีฝึกลูกจากการสังเกตผู้เชี่ยวชาญกลับมาฝึกลูกด้วยตนเองที่บ้านหรือในสถานการณ์จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งการเรียนรู้จากสถานการณ์จริงหรือกิจวัตรประจำวันจะช่วยให้เด็กเรียนรู้และจดจำได้ง่ายกว่าในห้องฝึก วันนี้ผู้เขียนมีเคล็ดลับสำหรับผู้ปกครองมาฝากค่ะ

สิ่งที่ควรจัดเตรียมก่อนทำการฝึก

  • สภาพแวดล้อมในการฝึก : ผู้ปกครองควรจัดให้เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เงียบในช่วงแรกของการฝึก เพื่อให้เด็กได้ใช้การฟังร่วมด้วย แต่เมื่อฝึกไปได้สักระยะให้เพิ่มสภาพแวดล้อมที่มีเสียงรบกวนทีละน้อยเพราะในสภาพความเป็นจริงจะมีเสียงรบกวนเกิดขึ้นตลอดเวลา
  • อุปกรณ์รับฟังเสียง : ก่อนเริ่มต้นฝึกผู้ปกครองต้องแน่ใจว่าเด็กใส่เครื่องช่วยฟังหรือประสาทหูเทียมอยู่ตลอดเวลา และตัวเครื่องทำงานได้ดีเป็นปกติ เพื่อให้เด็กเรียนรู้ได้ดีที่สุด
  • สื่อที่ใช้ในการฝึก : เลือกใช้ของเล่นหรือสิ่งของที่เด็กสนใจเป็นสื่อในการฝึก เพื่อดึงความสนใจของเด็กขณะที่ฝึก เช่น หากเด็กชอบเล่นบอล ก็ควรใช้บอลเป็นสื่อในการสอนเด็ก เป็นต้น โดยต้องเลือกใช้กิจกรรมในการฝึกให้เหมาะสมกับช่วงอายุของเด็กด้วย

เทคนิคที่ใช้ในการฝึก

  • ในช่วงแรกที่เริ่มฝึก ผู้ปกครองต้องพยายามพูดใกล้ไมโครโฟนของเด็ก เพื่อให้เด็กรับฟังเสียงได้ชัดเจน แต่เมื่อฝึกไปได้ระยะหนึ่งแล้วควรเพิ่มระยะห่างระหว่างเด็กกับผู้ปกครองให้มากขึ้น
  • กระตุ้นให้เด็กมองหน้าสบตาผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง 
  • ให้เด็กรู้จักฟังเสียง ก่อนจะได้เห็นสิ่งของนั้นๆ เพื่อกระตุ้นให้เด็กได้ใช้การฟังมากที่สุด เช่น ผู้ปกครองนำของเล่นรถใส่ในถุง แล้วออกเสียง “บรื้น บรื้น” ให้เด็กฟัง เมื่อเด็กหันมาสนใจเสียงที่ผู้ปกครองพูด ผู้ปกครองจึงค่อยให้เด็กเห็นของเล่นนั้นๆ
  • พยายามพูดคุยกับเด็กให้มากขึ้น บ่อยครั้งขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดความต้องการที่จะสื่อสาร
  • ผลัดกันพูดกับเด็ก เมื่อผู้ปกครองออกเสียงแล้วควรให้เด็กออกเสียงบ้าง โดยต้องหยุดรอสักพัก เพื่อให้เด็กได้คิดประมวลผลก่อนที่จะพูดออกมา
  • ใช้เสียงสูงๆต่ำๆ ในการฝึก เพื่อให้เด็กตระหนักถึงการได้ยิน และเรียนรู้ที่จะฟังเสียงที่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับเสียง เช่น “โอ้โห หนูดูนั่นสิ ลูกหมีตัวใหญ่มากเลย” “อุ๊ย หนูได้ยินไหม มอ มอ ใช่วัวหรือเปล่านะ” เป็นต้น
  • ใช้การเน้นเสียง เพื่อให้เด็กสามารถได้ยินเสียงนั้นอย่างชัดเจนและทำให้คำที่ต้องการนั้นฟังได้ง่ายขึ้น เช่น ผู้ปกครองชี้ชวนให้เด็กฟังนิทานสัตว์ แล้วพูดบอกว่า “นี่แมวนะ เหมี๊ยว เหมี๊ยว” เป็นต้น
  • ใช้การพูดคำนั้นบ่อยๆ  ในสถานการณ์ที่ต่างกัน เช่น เมื่อผู้ปกครองจะสอนคำว่าหมาให้กับเด็ก ผู้ปกครองอาจจะเอาโมเดลหมาไปวางไว้ในกล่อง จากนั้นพูดให้เด็กฟังว่า “หมาอยู่ที่ไหนนะ” “อุ๊ย หมาอยู่ในกล่อง” แล้วชี้ชวนให้เด็กดู จากนั้นผู้ปกครองอาจเอาโมเดลหมาไปไว้บนเตียง แล้วเปลี่ยนเป็นพูดว่า “อุ๊ย หมาอยู่บนเตียง” เป็นต้น
  • ใช้ประโยคง่ายๆที่ไม่ซับซ้อนในการฝึก รวมทั้งใช้ภาษาให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์เพื่อที่เด็กจะได้ไม่สับสน เช่น “หนูกินข้าว” “แม่กินข้าว” เป็นต้น
  • ใช้การถามคำถามเด็ก โดยใช้คำถามง่ายๆในช่วงแรกๆ เช่น “นี่อะไร” “มันอยู่ไหน” เป็นต้น หลีกเลี่ยงการใช้คำถามใช่ หรือ ไม่ใช่ เมื่อเด็กอายุมากขึ้น ผู้ปกครองอาจใช้คำถามที่ยากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เด็กบอกเหตุผล ความรู้สึก การตุ้นการคิด คาดการณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น “ทำไมเราต้องกางร่ม” “ถ้ารถน้ำมันหมดจะทำอย่างไร” เป็นต้น
  • ลองให้เด็กเป็นผู้เริ่มต้นสอนผู้ปกครองบ้าง เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ในการพูดและเป็นการกระตุ้นให้เด็กรู้จักตั้งคำถาม
  • เพิ่มพูนคำศัพท์ใหม่ๆและขยายคำศัพท์ให้กับเด็กผ่านการเล่น เช่น เมื่อต้องการสอนคำว่า “จาน” ให้กับเด็ก ผู้ปกครองควรสอนว่า “นี่คือจาน” “จานเอาไว้ใส่ข้าว”  “แม่ตักข้าวใส่จาน” เป็นต้น
  • ฝึกผ่านการทำกิจวัตรประจำวัน โดยการพูดซ้ำๆบ่อยครั้งในระหว่างที่ทำกิจวัตรประจำวันเดิมๆ ซ้ำๆ เพื่อให้เด็กเรียนรู้และจดจำว่าการพูดเช่นนั้นจะเกิดขึ้นขณะที่ทำกิจวัตรประจำวันนั้นๆ
  • ใช้เสียงธรรมชาติช่วยในการฝึก เช่น เวลาพาเด็กไปนั่งรถไฟ ผู้ปกครองอาจพูดกับเด็กว่า “เราไปนั่งรถไฟกันนะลูก รถไฟวิ่งบนราง ฉึกฉักๆปู๊นๆ ลูกอยากนั่งรถไฟไหม” เด็กก็จะรับรู้คำศัพท์คำว่า “รถไฟ” และรู้ว่าเวลาที่ได้ยินเสียงดัง “ฉึกฉักๆ ปู๊นๆ” คือเสียงของ “รถไฟ”
  • สร้างแรงจูงใจในการฝึกให้กับเด็ก เมื่อเด็กตอบสนองได้ตามที่ต้องการ เช่น ออกเสียงได้ถูกต้อง ควรรีบให้แรงเสริมโดยทันที ซึ่งอาจเป็นของเล่นหรือขนมที่เด็กชอบ แล้วให้คำชมเด็ก
  • ใช้สถานการณ์ธรรมชาติช่วยในการฝึก เช่น เวลาพาเด็กไปตลาด ผู้ปกครองอาจใช้ให้เด็กไปซื้อของให้ แล้วบอกกับเด็กว่า “หนูซื้อผลไม้ให้แม่หน่อย แม่อยากกินแอปเปิ้ล ซื้อแอปเปิ้ลผลสีแดงนะลูก”
Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *