นักแก้ไขการได้ยิน

นักแก้ไขการได้ยิน

นักแก้ไขการได้ยิน ดูแลผู้ใช้ประสาทหูเทียมอย่างไร ? : หนึ่งในกิจวัตรในชีวิตของผู้ใช้ประสาทหูเทียมคือ ต้องติดต่อทางศูนย์ประสาทหูเทียมทั้งเพื่อทำการปรับตั้งโปรแกรม การฝึกฟื้นฟูการได้ยิน การเช็คเครื่องประสาทหูเทียม ติดต่อซื้ออะไหล่ และการส่งเครื่องซ่อมแซม

ผู้ใช้ประสาทหูเทียมของ Medel จะได้รับการบริการในแต่ละด้านโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น นักแก้ไขการได้ยิน จะเป็นผู้ปรับโปรแกรม ตรวจเช็คการได้ยิน และฟื้นฟูสมรรถภาพการฟังเป็นระยะหลังผ่าตัด วิศวกรด้านไฟฟ้าจะเป็นผู้ตรวจสอบเครื่องประสาทหูเทียมและทำการแก้ไขปัญหาที่พบอย่างตรงจุด นักแก้ไขการพูดและครูการศึกษาพิเศษจะช่วยกันวางแผนการฟื้นฟูพัฒนาการด้านภาษา และ การพูด

การที่ผู้ใช้ประสาทหูเทียมจะสามารถได้ยินชัดเจนส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยจากการตั้งโปรแกรมภายในเครื่องประสาทหูเทียม การตั้งโปรแกรมนี้มีความสำคัญในการประมวลเสียงที่เข้าสู่เครื่องแล้วส่งสัญญาณไปกระตุ้นระบบประสาท

หากได้รับการปรับตั้งโปรแกรมที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลให้การได้ยินหลังผ่าตัดไม่ชัดเจน ฟังเสียงคำพูดไม่รู้เรื่อง และอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ใช้ประสาทหูเทียมได้ ดังนั้นผู้ใช้ประสาทหูเทียมควรได้รับการดูแลจากนักแก้ไขการได้ยินโดยตรง

โดยสามารถแบ่งลักษณะการทำงานหลัก ๆ ออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้

1. การปรับตั้งโปรแกรมประสาทหูเทียม

การเปิดเครื่อง : นักแก้ไขการได้ยินจะเป็นผู้เปิดเครื่องประสาทหูเทียมซึ่งจะต้องประเมินลักษณะการได้ยินในแต่ละช่องสัญญาณร่วมกับการสังเกตพฤติกรรมและการตอบสนองของผู้ใช้ เพื่อหาระดับการได้ยินที่ควรเป็น map แรกคือจะต้องไม่ดังเกินไปหรือเบาจนเกินไป รวมทั้งแนะนำวิธีปรับตัวที่จะทำให้ผู้ใช้เรียนรู้เสียงจากเครื่องประสาทหูเทียมได้ดีขึ้น

การปรับตั้งโปรแกรม : นักแก้ไขการได้ยินจะทำการปรับตั้งโปรแกรมที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้ผู้ใช้เกิดการเรียนรู้เสียงและฟังเสียงได้ชัดเจนมากขึ้น โดยจะมีการนัดติดตามอย่างต่อเนื่องทุกๆ 1 เดือน ในช่วงแรก หลังจากปรับตัวจากเสียงประสาทหูเทียมได้จะทำการนัดทุก 3 เดือน เพื่อปรับคุณภาพของเสียงให้มีความคมชัดและเหมาะสมกับชีวิตประจำวันของผู้ใช้มากขึ้น หลังจากผู้ใช้สามารถรับฟังเสียงต่างๆได้ใกล้เคียงปกติแล้วก็จะมีการนัดทุก 1 ปีเพื่อประเมินเครื่องภายในและตรวจสอบเครื่องอย่างสม่ำเสมอ

2. การประเมินการได้ยินหลังผ่าตัด

ขั้นตอนนี้มีความสำคัญกับผู้ใช้ประสาทหูเทียมมาก เนื่องจากการประเมินการได้ยินจะช่วยทำให้ทราบถึงลักษณะการได้ยินของผู้ใช้ว่าได้ยินชัดเจนในบริเวณเสียงความถี่ใดและไม่ชัดเจนในความถี่ใด

ซึ่งจะนำไปประมวลกับการปรับตั้งโปรแกรมเครื่องได้ รวมทั้งยังสามารถทราบสาเหตที่ทำให้ได้ยินไม่ชัดเจนอีกด้วย โดยการประเมินนี้จะมีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ใช้ ทั้งการใช้เครื่องมือตรวจการได้ยิน การประเมินโดยใช้แบบทดสอบ การสังเกตพฤติกรรมของผู้ใช้

ตัวอย่างกรณีผู้ใช้เป็นเด็กเล็กก็จะมีขั้นตอนในการประเมินทั้งการสังเกตพฤติกรรมและแบบใช้เครื่องมือวัดผล

3. การฟื้นฟูสมรรถภาพการฟัง

นักแก้ไขการได้ยินนอกจากจะประเมินการฟังได้แล้วยังสามารถฝึกฟังเพื่อฟื้นฟูความสามารถในการฟังให้กลับมาสู่ปกติได้ โดยจะทำการฝึกฟังทั้งด้านการรับรู้ การแยกแยะ การจำแนกไปจนถึงการฟังเข้าใจในระดับสื่อสาร

ซึ่งในการฟื้นฟูการฟังนี้จะต้องเข้าใจถึงเทคนิคและวิธีการกระตุ้นที่เหมาะสมและถูกวิธี การฝึกฟังจะใช้เวลา 45 – 60 นาที และมีงานกลับไปให้ฝึกฟังที่บ้านทุกครั้ง

4. การใช้คำแนะนำ คำปรึกษา เกี่ยวกับปัญหาการได้ยิน

ผู้ใช้บางรายมีอาการเกี่ยวกับการได้ยินและอาการร่วม ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังการผ่าตัดประสาทหูเทียม แต่อาจไม่แน่ใจว่าอาการดังกล่าวเป็นความผิดปกติจากการไดเยินหรือไม่

ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนี้สามารถปรึกษานักแก้ไขการได้ยินได้ โดยนักแก้ไขการได้ยินจะพิจารณาถึงสาเหตและความรุนแรง และอธิบายให้เข้าใจถึงอาการที่เกิด แต่หากพบอาการที่มีความเสี่ยงอาจทำการปรึกษากับทีมพทย์ผู้รักษาเพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ใช้ได้อย่างทันท่วงที

หากผู้ใช้ประสาทหูเทียมได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมก็จะสามารถปรับตัวและฟังเสียงรอบข้างได้อย่างเป็นธรรมชาติ  การเข้ารับบริการในส่วนนี้จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาการฟังได้อย่างรวดเร็ว


สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับโรคหูเพิ่มเติมได้ที่ บทความ

Line Official : @hearlifeth

Facebook: https://www.m.me/hearlifethai

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *