สำหรับเด็กที่สูญเสียการได้ยินปีนี้ถือเป็นปีที่มีความท้าทายเป็นอย่างมากในการเรียนประการแรกคือการเปลี่ยนการเรียนการสอนเป็นในรูปแบบออนไลน์หรือโรงเรียนบางแห่งกลับไปใช้การเรียนการสอนแบบปกติแต่ความท้าทายใหม่ก็เกิดขึ้นคือการใส่หน้ากากอนามัย 

โดยการใส่หน้ากากอนามัยเป็นการป้องกันการอ่านริมฝีปากและลดเสียงพูดที่ส่งออกจากปากทั้งหมดนี้ทำให้เด็กที่สูญเสียการได้ยินฟังได้ยากมากยิ่งขึ้นซึ่ง 10 วิธีดังต่อไปนี้เป็นวิธีที่ผู้ปกครองสามารถช่วยสนับสนุนการฟังสำหรับเด็กที่ใส่ประสาทหูเทียมและเครื่องช่วยฟังได้

  1. จัดที่นั่งให้เหมาะสม : แม้แต่สิ่งที่เรียบง่ายอย่างที่นั่งก็สามารถช่วยให้เด็กที่สูญเสียการได้ยินเข้าใจเสียงคุณครูได้ เช่น การจัดที่นั่งให้พวกเขานั่งใกล้กับคุณครู และอยู่ห่างจากแหล่งที่มาของเสียงรบกวน เช่น เสียงแอร์ เสียงรถ วิธีนี้จะช่วยให้เด็กมีสมาธิจดจ่อกับเสียงคุณครูมากขึ้น
  2. ใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการฟัง : กล่าวคือ การใช้ไมโครโฟนระยะไกลจากอุปกรณ์เสริมต่างๆให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยการนำอุปกรณ์เสริมติดที่คุณครู หรือผู้บรรยาย เพียงเท่านี้เด็กๆก็จะได้ยินเสียงอย่างชัดเจน *(อุปกรณ์เสริมผู้ใช้งานประสาทหูเทียม เช่น AudioLink, Roger Pen )
  3. การใส่หน้ากากอนามัยแบบใส : ขอความร่วมมือให้คุณครูหรือเพื่อนร่วมชั้นใส่หน้ากากอนามัยแบบใส (แบบมีแผ่นใสตรงกลางไม่ใช่ Faceshield) เพื่อให้สามารถอ่านริมฝีปากได้ ซึ่งในปัจจุบันมีหลากหลายบริษัทที่ผลิตหน้ากากแบบนี้ออกมาสู่ตลาดแล้ว
  4. เลือกแมสก์ที่เหมาะสมสำหรับเด็กโดยเฉพาะ : การรัดของสายยางยืดบริเวณรอบหูอาจทำให้เด็กๆรู้สึกระคายเคืองได้ หากต้องใส่คู่กับเครื่องช่วยฟัง หรือเครื่องประมวลเสียงแบบทัดหลังหู แนะนำให้ผู้ปกครองใช้หน้ากากอนามัยแบบผูกหลังศรีษะแทน
  5. เตือนให้คนรอบข้างพูดชัดเจนกับลูกของเรา : ขอความร่วมมือให้คุณครูและเพื่อนๆรอบข้างพูดให้ดังขึ้นและช้าลงกว่าปกติ อธิบายให้เขาเข้าใจถึงสถานการณ์ และสภาวะของลูกเราในขณะนี้
  6. ย้ำถามความเข้าใจระหว่างบทเรียน : อีกหนึ่งทางเลือกที่จะสามารถช่วยให้เด็กๆเข้าใจในบทเรียน คือ การถามย้ำทบทวนสิ่งที่เรียนไประหว่างเรียน 
  7. ขอความช่วยเหลือ :  ไม่เพียงแต่คุณครูเท่านั้นที่สามารถช่วยได้ เพื่อนร่วมห้องก็สำคัญเช่นกัน ผู้ปกครองอาจขอสมุดจดบันทึกจากเพื่อนร่วมชั้นของลูก เพื่อเช็คความถูกต้องของบทเรียนในแต่ละวันได้
  8. เตรียมตัวตามหัวข้อบทเรียน : ขอให้คุณครูเตรียมแนวทางเกี่ยวกับหัวข้อที่เรียน หรือคำแนะนำสำหรับบทเรียนที่จะเรียนล่วงหน้า
  9. ใช้การจดบันทึกลงในมือถือแทนการเขียน :  ขออนุญาตคุณครูให้ลูกใช้การจดบันทึกลงโทรศัพท์มือถือ, แท็บเล็ตแทนการเขียน หรือแชร์เอกสารการเรียนให้เด็กดูในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทน วิธีนี้จะช่วยให้เด็กเข้าใจในบทเรียนมากขึ้น
  10. บันทึกเสียงของบทเรียนนั้นๆ : อีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยให้เด็กๆสามารถตามหัวข้อเรียนทัน คือการบันทึกเสียงบทเรียนนั้นไว้ขณะเรียน

หากผู้ปกครองท่านใดมีคำแนะนำเพิ่มเติม หรือต้องการแชร์ประสบการณ์ต่างๆสามารถแนะนำเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ้ค hearLIFEThailand หรือติดตามสาระน่ารู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินได้ที่ ไลน์ @hearlifeth

—–
Vector Designed by freepik

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *