เครื่องช่วยฟัง และ ประสาทหูเทียม เป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือด้านการได้ยินเสียงสำหรับผู้ที่สูญเสียการได้ยิน ซึ่งทั้ง 2 วิธีมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่เรื่องระดับการสูญเสียการได้ยินของผู้ใช้งาน การวินิจฉัยของแพทย์ที่ทำการรักษา ลักษณะเสียงที่ผู้ใช้งานจะได้ยิน ไปจนถึงกระบวนการทำงานของอุปกรณ์ทั้ง เครื่องช่วยฟัง และประสาทหูเทียม

 

เครื่องช่วยฟัง และประสาทหูเทียมทำงานอย่างไร?

  • เครื่องช่วยฟัง คือการขยายเสียงให้ดังขึ้น
    หากคุณเกิดการสูญเสียการได้ยินในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง เครื่องช่วยฟังจะทำให้คุณได้ยินเสียงดังขึ้น ซึ่งเสียงที่ผ่านการขยายเสียงจากเครื่องช่วยฟังจะเข้าสู่ช่องหูชั้นนอก ไปยังหูชั้นกลาง หูชั้นใน และสมองตามลำดับโดยเครื่องช่วยฟังจะรับเสียงจากภายนอกเข้ามาทาง Microphone และเสียงสัญญาณนั้นก็จะได้รับการขยายให้มีขนาดสัญญาณมากขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับอัตราการขยายของเครื่องช่วยฟังเครื่องนั้นๆ ด้วย หลังจากนั้นเสียงจะเข้าสู่ตัว Receivers ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าให้เป็นพลังงานกล และเปลี่ยนพลังงานกลให้เป็นพลังงานเสียง โดยสุดท้ายพลังงานเสียงนั้นจะถูกส่งผ่านช่องหูของผู้ฟัง เพื่อเข้าสู่กลไกการรับฟังเสียงตามธรรมชาติ และส่งข้อมูลไปยังสมอง
  • ประสาทหูเทียม คือการกระตุ้นหูด้วยไฟฟ้า
    หากคุณเกิดการสูญเสียการได้ยินในระดับรุนแรงหรือหูหนวก หรือทดลองใช้เครื่องช่วยฟังแล้วไม่ได้ยินหรือไม่พึงพอใจเสียงจากเครื่องช่วยฟัง  เนื่องมาจากเซลล์ขนในหูชั้นในของคุณอาจได้รับความเสียหาย หูชั้นในจึงไม่สามารถรับรู้เสียงได้แม้ว่าจะเป็นเสียงที่ดังมากๆ หรืออาจได้ยินเสียงแต่จับใจความเสียงไม่ได้  ดังนั้นการใช้ประสาทหูเทียมไปกระตุ้นที่หูชั้นในโดยตรงจึงเป็นวิธีที่สามารถช่วยให้คุณสามารถกลับมาได้ยินเสียงได้อีกครั้งโดยประสาทหูเทียมจะมี 2 ส่วนได้แก่ Implant คืออุปกรณ์ภายในที่ฝังไว้ภายใต้ผิวหนังบริเวณหลังใบหู  และเครื่องประมวลเสียง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ภายนอก ทำหน้าที่รับสัญญาณเสียงจากภายนอกและส่งไปยังตัวอิเล็กโทรดที่อยู่ภายใน อุปกรณ์ทั้ง 2 ส่วนทำงานร่วมกัน ซึ่งการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าที่หูชั้นในเป็นวิธีการเลียนแบบวิธีที่หูชั้นในส่งข้อมูลที่ได้รับฟังไปยังสมอง ประสาทหูเทียมสามารถใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ใช้ได้ทั้งผู้ที่สูญเสียการได้ยินตั้งแต่กำเนิด และผู้ที่มีการสูญเสียการได้ยินภายหลังได้เช่นกัน

ขนาด และลักษณะที่แตกต่างกันของอุปกรณ์

เครื่องช่วยฟังมีหลายรูปแบบ หลายขนาด และเทคโนโลยีที่อยู่ภายในไม่ซับซ้อน เครื่องช่วยฟังจึงมีขนาดเล็กกว่าระบบประสาทหูเทียม โดยเครื่องช่วยฟังมี 3 รูปแบบ คือ เครื่องช่วยฟังแบบกล่อง, เครื่องช่วยฟังแบบทัดหลังหู, เครื่องช่วยฟังแบบใส่ในช่องหู

สำหรับประสาทหูเทียมอุปกรณ์ที่ฝังภายในมีให้เลือกหลายรุ่นเช่นกัน ส่วนอุปกรณ์ภายนอกหรือเครื่องประมวลเสียงมี 2 รูปแบบคือ แบบแขวนหลังใบหู และแบบติดไว้ที่ศีรษะ ซึ่งประสาทหูเทียมเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ ที่ต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวดมากกว่าเครื่องช่วยฟัง มีขั้นตอนการประกันคุณภาพที่เข้มงวดในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตเพื่อให้มั่นใจถึงความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยสูงสุดสำหรับผู้ใช้งาน

ประสาทหูเทียม MED-EL มีอิเล็คโทรดหลายรูปแบบและหลายขนาด เพื่อให้แพทย์สามารถเลือกใช้ได้เหมาะสมกับรูปร่างและขนาดความยาวก้นหอยของผู้ป่วยแต่ละคน

 

การได้ยินแบบ Bimodal: สิ่งที่ดีที่สุดของทั้งสองเทคโนโลยีระหว่างเครื่องช่วยฟัง และประสาทหูเทียม

อาจไม่ใช่ทุกคนที่จะมีการสูญเสียการได้ยินในระดับเท่าๆกันในหูทั้งสองข้าง ประสาทหูเทียมไม่เพียงแต่เป็นวิธีแก้ปัญหาสำหรับผู้ที่มีการสูญเสียการได้ยินทั้งสองข้างหรือผู้ที่หูหนวกข้างเดียว (SSD) แต่ประสาทหูเทียมยังสามารถใช้งานร่วมกันกับเครื่องช่วยฟังในหูอีกข้างของผู้ที่มีระดับการสูญเสียการได้ยินไม่เท่ากันได้อีกด้วย (Bimodal hearing)

Dr. Jason ผู้ใช้งาน Bimodal เล่าถึงประสบการณ์รับฟังเสียงของเขาว่า “ประสาทหูเทียมของผมให้เสียงที่เป็นธรรมชาติมาก มีแค่บางเสียงที่จะต้องใช้เวลานานกว่าเสียงอื่นๆ นิดหน่อย แต่คุณภาพเสียงของประสาทหูเทียมก็ใกล้เคียงกับเครื่องช่วยฟัง  ไม่ว่าผมจะใส่เครื่องช่วยฟังในหูอีกข้างอยู่หรือไม่ก็ตาม”

ประสาทหูเทียม MED-EL เข้ากันได้กับเครื่องช่วยฟังทุกยี่ห้อ โดยประสาทหูเทียมจะส่งสัญญาณเสียงไปยังสมองแทบจะในทันที แต่เครื่องช่วยฟังจะใช้เวลาขยายเสียงนานกว่าเล็กน้อย เพื่อลดความล่าช้าเล็กน้อยนี้ ประสาทหูเทียม MED-EL สามารถตั้งค่าให้อยู่ในระดับเดียวกับการรับเสียงของเครื่องช่วยฟังได้ ไม่ว่าคุณจะใช้เครื่องช่วยฟังรุ่นใดก็ตาม

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *