ยา

ยา

10 ประเภท “ยา” ที่เสีย่ยงเป็น ภัยต่อหู : ปัจจุบันมีการใช้ยาในการบำบัดรักษาโรคจำนวนมาก ทั้งยาที่สั่งโดยแพทย์ในโรงพยาบาล และยาที่ผู้ป่วยซื้อใช้เองตามร้านขายยาทั่วไป ยาบางชนิดมีผลข้างเคียงที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย เช่นยาบางชนิดมีพิษต่อหู

ซึ่งส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการได้ยิน และมีปัญหาทางระบบการทรงตัวทั้งแบบชั่วคราวและแบบถาวร โดยอัตราการเกิดความเป็นพิษต่อหูขึ้นอยู่กับปริมาณยาที่ใช้ ปัจจัยจากตัวผู้ป่วย และการใช้ยาที่มีพิษต่อหูร่วมกันหลายชนิด ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้

1. ยาต้านจุลชีพ กลุ่ม Aminoglycosides

  • Gentamicin เป็นยาต้านเชื้อแบคทีเรีย ส่วนใหญ่ใช้ฉีดเพื่อรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ ใช้บ่อยในเด็กแรกเกิด ในผู้ใหญ่ใช้รักษาการติดเชื้อที่ท่อปัสสาวะ การติดเชื้อในกระดูก ข้ออักเสบ การติดเชื้อที่เนื้อเยื่ออ่อนของทางเดินหายใจ การติดเชื้อหลังการผ่าตัด และเป็นยาป้องกันการติดเชื้อในปอด 
  • Streptomycin เป็นยาต้านปฏิชีวนะ มีฤทธิ์ต้านการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น วัณโรค การติดเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ โดยการฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อ Streptomycin มักมีผลทำลายระบบ vestibular เด็กอาจหูหนวกตั้งแต่กำเนิด หากมารดาได้รับยาขณะตั้งครรภ์
  • Dihydrostreptomycin เป็น ยาปฏิชีวนะ ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ วัณโรค กาฬโรค เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย แพทย์จะให้ยาโดยการฉีดเข้าสู่กล้ามเนื้อ ยานี้มีผลทำลายอวัยวะในก้นหอย 
  • Neomycin เป็นยาต้านเชื้อแบคทีเรีย มักใช้เพื่อต้านแบคทีเรียในลำไส้เพื่อลดระดับแอมโมเนียในร่างกาย ช่วยควบคุมโรค hepatic encephalopathy และลดภาวะไขมันในเลือดสูง ยานี้มักใช้ในผู้ป่วยที่กำลังเข้ารับการผ่าตัดระบบทางเดินอาหาร การให้ยามักเป็นการรับประทานร่วมกับยาต้านปฏิชีวนะอื่นๆหรือใช้ทาภายนอก ไม่นิยมฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำเนื่องจากมีผลเป็นพิษต่อไตและหู Neomycin เป็นยาที่มีผลกระทบต่อหูร้ายแรงที่สุดในกลุ่มยาต้านจุลชีพเนื่องจากทำให้มีการสูญเสียการได้ยินที่ทุกความถี่ และเกิดเป็นพิษต่อหูได้แม้ใช้ยาในปริมาณน้อย มักมีผลทำลายอวัยวะในก้นหอย และระบบ vestibular 
  • Amikacin เป็นยาต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด ส่วนใหญ่ใช้ฉีดเพื่อรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อในกระดูก ข้ออักเสบ การติดเชื้อที่เนื้อเยื่ออ่อนของทางเดินหายใจ การติดเชื้อหลังการผ่าตัด มีการศึกษาพบว่ามีการสูญเสียการได้ยินหลังจากหยุดยาแล้ว โดยทั่วไปแล้วจะเกิดการสูญเสียการได้ยินมากที่สุดหลังจากหยุดยาแล้ว 7 วัน 
  • Kanamycin เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อหลายชนิด โดยการรับประทานหรือฉีดเข้าเส้นเลือดดำ Kanamycin มีผลให้เกิดการสูญเสียการได้ยินและมีเสียงดังรบกวนในหู เนื่องจากมีผลทำลายอวัยวะในก้นหอย

2. ยาต้านจุลชีพ กลุ่ม Chloramphenicol

มีรายงานว่า การใช้ยาตัวนี้สามารถทำให้เกิด หูดับ หรือโรคหูตึงเฉียบพลัน (Sudden severe sensorineural hearing loss) และมีเสียงดังรบกวนในหูร่วมด้วย แต่ยังไม่มีรายงานผลเสียที่เกิดกับหูเมื่อใช้ยานี้เป็นยาหยอดหู

  • Minocycline ทำให้มีอาการเวียนศีรษะ อาการนี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วคือเกิดหลังจากได้รับยา 24-48 ชั่วโมง แต่อาการจะหายไปหลังจากหยุดยาประมาณ 2วัน
  • Erythromycin ทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินทั้งแบบชั่วคราวและแบบถาวรโดยเฉพาะในคนสูงอายุและคนที่มีการทำงานของตับและไตบกพร่อง ซึ่งในผู้ป่วยบางรายทำให้เกิด flat threshold loss

3. ยาต้านจุลชีพ กลุ่ม Vancomycin    

Vancomycin เป็นยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ใช้ ในผู้ป่วยที่มีการอักเสบของลำไส้มาก หรือมีภาวะการทำงานของไตบกพร่อง อาจพบระดับยา vancomycin ในเลือดสูงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากให้ยาในขนาดสูงเป็นเวลานานอาจมีพิษต่อ และ ภัยต่อหู เมื่อใช้ร่วมกับยาอื่นที่มีพิษต่อหูด้วย มีการศึกษาพบว่า ทำให้เกิดเสียงดังรบกวนในหู หรือ มีการสูญเสียการได้ยินที่ความถี่สูง

4. ยาหยอดหู (ear drop)

ประกอบด้วยสารหลายอย่างร่วมกัน เช่น กรด ตัวทำละลาย สเตียรอยด์ antiseptic และ ยาต้านจุลชีพ  ใช้ในผู้ที่มีปัญหาในหูชั้นกลาง ซึ่งยาหยอดหูมีหลายชนิดดังนี้

  • Propylene glycol เป็นตัวทำละลายและช่วยให้ยาซึมผ่านได้มากขึ้น หากใช้ในความเข้มข้นสูงจะทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุหูชั้นกลางได้
  • Alcohol เป็นทั้งตัวทำละลายและantisepticถ้าใช้ในความเข้มข้นสูงและนานจะเกิดพิษต่อหู
  • Steroid เป็นสารลดการอักเสบ (hydrocortisone) ทำให้เกิดความผิดปกติในก้นหอย ได้
  • Griseofulvin เป็นยาฆ่าเชื้อรา ทำให้เกิดการอักเสบของหูชั้นกลาง และเป็นพิษต่ออวัยวะในก้นหอย
  • Polymyxin B ทำให้สูญเสียการได้ยินได้ ถ้าใช้ในความเข้มข้นสูง
  • Polymyxin E (colistin) ทำให้สูญเสียการได้ยินได้ในสัตว์ทดลอง
  • Neomycin เป็นพิษต่อหู ทั้งใช้เฉพาะที่และยาฉีด จึงห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีแก้วหูทะลุ
  • Gentamicin ที่เป็นยาหยอดตา แล้วนำมาหยอดหู ทำให้เกิดพิษต่อหูทั้งระบบการได้ยิน และระบบการทรงตัว

ยาหยอดหู หากใช้ในผู้ป่วยที่มีแก้วหูทะลุ อาจมีพิษต่อเซลล์ประสาทหูชั้นในได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดในยา กลุ่ม Aminoglycoside โดยตัวยาซึมผ่านแก้วหูที่ทะลุเข้าไปสู่หูชั้นใน ทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยิน , ระบบการทรงตัว , มีอาการเวียนศีรษะ และมีเสียงดังรบกวนในหู

5. ยาขับปัสสาวะ (Diuretic)

  • Ethacrynic acid เป็นยาตัวหลักในกลุ่มยาขับปัสสาวะที่ก่อให้เกิดพิษต่อหู ทำให้สูญเสียการได้ยินได้แม้ใช้ในปริมาณปกติ ก่อให้เกิดการสูญเสียการได้ยินทั้งแบบชั่วคราวและแบบถาวร
  • Furosemide มักทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินชั่วคราว การฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำเร็ว ๆ จะทำให้เกิดอาการได้ง่าย โดยส่วนใหญ่อาการเกิดขึ้นรวดเร็วและกลับคืนสภาพเร็ว ในบางรายพบมีการสูญเสียการได้ยินถาวร โดยเฉพาะที่ความถี่ตรงกลางและความถี่สูง 
  • Bumetanide พบการสูญเสียการได้ยินน้อยกว่า Furosemide 

6. ยาแก้ปวดลดไข้ (Analgesics/Antipyretics)

ใช้บรรเทาอาการปวดที่ไม่รุนแรง เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น และมีฤทธิ์ลดไข้ เช่น ไข้ที่เกิดจากการติดเชื้อต่าง ๆ ยาแก้ปวดลดไข้ ที่มีผลเป็นพิษต่อหูได้แก่ 

  • Salicylate เช่น Aspirin หรือ acetylsalicylic acid (ASA) มีฤทธิ์ลดไข้ เช่น ไข้ที่เกิดจากการติดเชื้อต่างๆ ทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว มีเสียงดังรบกวนในหู การสูญเสียการได้ยินเกิดในหู 2 ข้างเท่า ๆ กัน อาจเป็นทุกความถี่ หรือที่ความถี่สูง หายได้หลังจากหยุดยา 24-72 ชั่วโมง ในระยะเฉียบพลันพบว่ามีหลอดเลือดดำหดตัวภายในหูชั้นในทำให้มีเลือดไปเลี้ยงก้นหอย ลดลง 
  • Naproxen โดยทั่วไปใช้เป็นยาแก้ปวดระดับปานกลาง ถึงรุนแรง สามารถทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยิน และเสียงดังรบกวนในหู ทั้งแบบชั่วคราวและถาวรขึ้นอยู่กับปริมาณยาและระยะเวลาที่ได้รับยา
  • Ibuprofen โดยทั่วไปใช้เป็นยาแก้ปวดระดับปานกลาง ถึงรุนแรง ทำให้เกิดเสียงดังในหูและสูญเสียการได้ยิน ทั้งแบบชั่วคราวและถาวร ขึ้นอยู่กับปริมาณยาและเวลาที่ได้รับยา

7. ยารักษาโรคมาลาเลีย (Antimalarial drugs)

ทุกตัวเป็นพิษต่อหู อาการที่พบบ่อยได้แก่ ปวดศีรษะ ,มีเสียงดังรบกวนในหู และ อาการ cinchonism ( เป็นชื่อเรียกกลุ่มอาการที่แสดงดังต่อไปนี้ หูหนวก ,เวียนศีรษะบ้านหมุน ,เสียงดังรบกวนในหู ,ปวดศีรษะ ,มีปัญหาทางสายตา และ คลื่นไส้)

  • Quinine (ควินิน) ทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยิน เวียนศีรษะ มีเสียงดังรบกวนในหู ปวดศีรษะ อาเจียน และตามัว ส่วนใหญ่จะมีการสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว ซึ่งจะพบในระยะแรกที่ใช้ยาในขนาดสูง แต่เมื่อใช้นานขึ้น ส่วนหนึ่งจะมีการได้ยินกลับคืนมา โดยการสูญเสียการได้ยินจะเป็นที่ความถี่สูงและเป็นเท่ากันทั้งสองข้าง ในบางรายมีการสูญเสียการได้ยินแบบถาวร ยานี้สามารถผ่านรกไปสู่ทารกในครรภ์ได้ทำให้เด็กมีการสูญเสียการได้ยินแต่กำเนิดได้ 
  • Chloroquine ทำให้เกิดอาการพิษต่อหูคล้าย ควินิน 
  • Quinidine ทำให้เกิดอาการพิษต่อหูคล้าย ควินิน 

8. ยาเคมีบำบัด กลุ่ม Platinum compound

  • Cisplatin เป็นยาเคมีบำบัดใช้รักษาโรคมะเร็งเช่น มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น มักก่อให้เกิดการสูญเสียการได้ยินในหูทั้งสองข้าง มักเริ่มสูญเสียการได้ยินที่ความถี่สูงก่อน การสูญเสียการได้ยินอาจค่อยๆเกิดขึ้นและมีการสะสมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาที่ได้รับยา หรืออาจจะมีการสูญเสียการได้ยินทันทีหลังจากที่ได้รับการรักษาเพียง 1 ครั้ง Cisplatin เป็นยาที่มีพิษต่ออวัยวะในก้นหอย ซึ่งออกฤทธิ์ทำลาย stria vascularis มีบางการศึกษาในเด็กที่ได้รับ Cisplatin เพื่อรักษาเนื้องอกในสมองพบว่ามีเด็กถึง 50% มีการสูญเสียการได้ยินที่ความถี่สูงในระดับปานกลางถึงรุนแรง
  • Oxaliplatin ใช้รักษามะเร็งหลายชนิดได้แก่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ เนื้องอกในสมองและลำคอ เป็นต้น มีผลต่อการได้ยินน้อยกว่า Cisplatin จากการศึกษาพบว่า ทำให้มีการสูญเสียการได้ยิน เสียงดังในหู รวมทั้งทำให้เวียนศีรษะ และมีปัญหาในการทรงตัว
  • Platinol ใช้รักษาโรคมะเร็ง เช่น เนื้องอกที่อัณฑะ มะเร็งรังไข่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น Platinol มีผลเป็นพิษต่อหูเนื่องจากทำลาย hair cell ในก้นหอย ส่วนใหญ่ทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินที่ความถี่สูงแบบชั่วคราว บางรายมีเสียงดังในหู จากการศึกษาพบการสูญเสียการได้ยินในผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ 
  • Paraplatin เป็นยาเคมีบำบัดใช้รักษาโรคมะเร็งบางชนิดเช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งปอด เป็นต้น เป็นพิษต่อหูเนื่องจากมีผลทำลาย outer hair cell และ inner hair cell ในก้นหอย ทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยิน โดยเริ่มที่ basal turn of cochlea
  • Carboplatin เป็นยาเคมีบำบัดใช้รักษาโรคมะเร็งบางชนิด เช่นมะเร็งรังไข่ มะเร็งปอด มะเร็งที่สมองและลำคอ Carboplatin มีผลต่อ cochlea ทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินและเสียงดังในหู และมีผลต่อ vestibular ทำให้มีปัญหาในการทรงตัว

9. ยาเคมีบำบัด กลุ่ม Nitrogen mustards

ยา ชนิดนี้เคยเป็นยาเคมีบำบัดอันดับหนึ่งซึ่งใช้รักษาโรคมะเร็ง แต่ปัจจุบันไม่ค่อยเป็นที่นิยมใช้มากนัก ยาชนิดนี้ ทำให้เกิดเสียงดังรบกวนในหู และการสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร

10. ยาเคมีบำบัด กลุ่ม Vinca alkaloid

ทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินทั้ง 2 ข้าง และการได้ยินอาจกลับคืนสภาวะปกติได้หลังจากหยุดยา ซึ่งมีรายชื่อดังนี้

  • Vincristine หรือ Vinblastine sulfate เป็นยาเคมีบำบัดที่ใช้ในการรักษามะเร็ง เช่น มะเร็งเม็ดเลือกขาวชนิดเฉียบพลัน, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, มะเร็งปอดชนิดเล็ก เป็นต้น

ดังนั้น ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Aminoglycoside และยาเคมีบำบัด เป็นกลุ่มยาที่ใช้อย่างแพร่หลายในการบำบัดรักษาโรค ซึ่งมีการศึกษาพบว่า ยา 2 กลุ่มนี้มีผลข้างเคียงก่อให้เกิดความเป็นพิษ และเป็น ภัยต่อหู ซึ่งในสหรัฐอเมริกาพบว่ามีผู้ป่วยปีละประมาณ 4 ล้านคนมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินจากยาปฏิชีวนะกลุ่ม Aminoglycoside เช่น gentamicin และจากการใช้ยาเคมีบำบัด  

โดยยาที่มีพิษต่อหูส่งผลกระทบต่อการได้ยิน ส่วนใหญ่พบว่าผู้ป่วยมักจะมีการสูญเสียการได้ยินชนิดประสาทรับฟังเสียงบกพร่อง (sensorineural hearing loss, SNHL) โดยตรวจพบว่าผู้ป่วยมีการสูญเสียการได้ยินที่บริเวณความถี่สูง (High frequency sensorineural hearing loss) และมีอาการหูอื้อ มีเสียงดังรบกวนในหู ซึ่งส่งผลกระทบต่อการสื่อความหมาย การศึกษา สุขภาพร่างกายและจิตใจ และคุณภาพชีวิต 

หากใครที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัย และหาทางป้องกันผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น

สามารถอ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ บทความ

image by Freepik

Line Official : @hearlifeth

Facebook: https://www.m.me/hearlifethai

หรือโทร 02-693-9411

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *