คุณเคยเป็นไหมที่บางครั้งรู้สึกว่าไม่เข้าใจเสียงคำพูดขณะสนทนา ต้องให้ผู้พูดพูดซ้ำเนื่องจากการฟังที่ไม่ชัดเจน เปิดเสียงโทรทัศน์หรือวิทยุดังขึ้นกว่าที่เคย เสียงที่ได้ยินเป็นเสียงอู้อี้ ก้องๆ หรือในขณะที่กำลังสนทนากับกลุ่มเพื่อนเยอะๆไม่สามารถฟังจับใจความได้ และมีเสียงวิ้งๆในหู เมื่อคุณตรวจสอบพบว่าตนเองมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น อาจจะเริ่มต้นสังเกตเรื่องการได้ยินผ่านการตอบแบบสอบถามดังนี้
มีลักษณะหูที่ผิดปกติ หรือได้รับการผ่าตัดมาหรือไม่
มีเสียงดังในหูหรือไม่
เคยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือพบแพทย์เพื่อนำขี้หูออก (เนื่องจากมีการอุดตันของขี้หู)หรือไม่
มีอาการเจ็บหูหรือไม่
เคยหูดับหรือได้ยินไม่ชัดเจนหรือไม่
มีการสูญเสียการได้ยินในหูข้างใดข้างหนึ่งหรือไม่
มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนหรือไม่
ผลการตอบแบบสอบถามจะเป็นข้อบ่งชี้ว่าคุณเข้าข่ายอาจจะเป็นผู้ที่มีการสูญเสียการได้ยินได้ คุณอาจเริ่มทำแบบสอบถามเชิงลึกในขั้นตอนต่อไป
การได้ยินของคุณเมื่อเปรียบเทียบกับ 2 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร ดีขึ้น เหมือนเดิม หรือแย่ลง
หากคุณรู้สึกว่ามีการได้ยินเปลี่ยนแปลงในทางที่แย่ลง คุณอาจจะต้องเข้าพบและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจหาระดับการได้ยินของหูในแต่ละข้างโดยละเอียด
การได้ยินของหูทั้ง 2 ข้างเท่ากันหรือไม่ ข้างใดดีกว่ากัน
โดยปกติคนเราอาจจะมีการได้ยินทั้ง 2 ข้าง ไม่เท่ากันได้ แต่จะต้องไม่มีความแตกต่างกันมากเกินไป หากคุณรู้สึกว่าการรับโทรศัพท์ในหูข้างใดข้างหนึ่งชัดเจนกว่าอีกข้าง นั่นเป็นสัญญาณเตือนที่จะต้องเข้ารับการตรวจการได้ยินอย่างละเอียด
รู้สึกมีปัญหาทางการได้ยินมานานเท่าไหร่
ระยะเวลาที่พบว่ามีการสูญเสียการได้ยินมีผลกระทบโดยตรงต่อการรับฟังเสียงและแยกแยะเสียงคำพูดที่ชัดเจน หากพบว่ามีการสูญเสียการได้ยินในหูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง จึงไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้สูญเสียความสามารถในการจับคำพูดได้
คนในครอบครัวมีประวัติการสูญเสียการได้ยินหรือไม่
ประวัติการเจ็บป่วยของบุคลในครอบครัวสื่อถึงลักษณะทางพันธุกรรม หากพบว่ามีบุคคลในครอบครัวเป็นหูตึง หูหนวก ตัวคุณควรจะได้รับการตรวจการได้ยินเป็นประจำทุกปีเพื่อเฝ้าระวังการเสื่อมของการได้ยินที่อาจเกิดขึ้นได้
คุณตรวจการได้ยินครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ผลการตรวจเป็นอย่างไร
การตรวจการได้ยินนอกจากจะแสดงระดับผลการได้ยินในหูแต่ละข้างแล้ว ยังบ่งบอกถึงลักษณะการสูญเสียการได้ยินที่เกิดขึ้น ระดับความรุนแรงของการสูญเสียการได้ยิน รวมถึงบริเวณที่มีความผิดปกติด้วย ทั้งนี้การตรวจการได้ยินจึงเปรียบเสมือนการทดสอบด่านแรกเพื่อนำไปสู่การรักษาหรือการให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย
No responses yet