เมื่อพูดถึงของเล่น ทุกคนมักมีชื่อหรือลักษณะของเล่นในใจกันอยู่ทุกคน เช่น รถบังคับสุดสนุก ตุ๊กตาหมีแสนน่ารัก หรือในยุคนี้คงหนีไม่พ้นเกมส์ชุดสุดมันส์ในสมาร์ทโฟน แต่หากเอ่ยถึง “หนังสือ” ก็มีความคิดว่าไม่น่าจะเป็นของเล่นได้ วันนี้เลยอยากจะมาแนะนำให้ผู้ปกครองทุกท่านทราบว่าแท้จริงแล้ว หนังสือสามารถนำมาเป็นของเล่นสนุกๆให้เด็กๆได้

จากหนังสือวรรณกรรมเด็กและลีลาคดีของมหาวิทยาลัสุโขทัยธรรมาธิราช (2537: 352-364) ได้กล่าวว่า เด็กชอบดูสิ่งที่อยู่รอบตัว ชอบของที่มีสีสันสดใส ชอบสัตว์และสิ่งที่เคลื่อนไหวได้ เมื่อมีผู้เขียนภาพสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ก็ชอบดูภาพ หนังสือเด็กจึงต้องมีภาพประกอบ หนังสือเด็กเปรียบเสมือนเครื่องเล่นชนิดหนึ่งของเด็ก เด็กจะหยิบ จับเปิดดูและบางครั้งก็ถือว่าเป็นเจ้าของเช่นเดียวกับเมื่อเล่นตุ๊กตา แต่หนังสือเด็กก็คือสื่อการเรียนรู้อย่างหนึ่งด้วย เพราะหนังสือเด็กให้คุณประโยชน์ต่อเด็ก เช่น ความเพลิดเพลิน ความรู้ และเป็นเพื่อนแก้เหงา

โดยหนังสือที่ผู้ปกครองสามารถนำมาเล่นกับเด็กได้มี 5 ลักษณะ ได้แก่

1. หนังสือภาพ

หนังสือภาพเป็นหนังสือที่มีแต่รูปภาพ ซึ่งเด็กดูภาพเหล่านั้นแล้ว สามารถเข้าใจความหมายได้เป็นอย่างดีมี 2 ลักษณะ คือ 1. หนังสือภาพที่เด็กดูภาพแล้วเข้าใจความหมายโดยสมบรูณ์ทุกหน้า และ 2. หนังสือภาพที่มีภาพเพื่อสื่อความเข้าใจเฉพาะภาพและมีความต่อเนื่องไปยังภาพอื่นๆต่อไปจนจบเรื่อง มักเป็นภาพเรื่องราวของคน หรือสัตว์

2. หนังสือภาพกับคำ

เป็นหนังสือที่มีรูปภาพและคำอยู่ใต้ภาพ เมื่อเด็กออกเสียงก็ตรงกับคำ ภาพที่นำเสนอจะเป็นสิ่งที่ใกล้กับตัวเด็ก เช่น สิ่งของ เครื่องเล่น ผลไม้ ฯลฯ หนังสือลักษณะนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กสนใจตัวอักษร สามารถออกเสียงตามได้ถูกต้อง เป็นการปูพื้นฐานในการอ่านให้กับเด็ก

3. หนังสือภาพกับประโยค

เป็นหนังสือที่มีประโยคอธิบายความหมายของงภาพที่มีภาษาสมบรูณ์ ซึ่งจะจบในแต่ละหน้า หรือจะต่อเนื่องกันทั้งเล่มก็ได้

4. หนังสือภาพกับเรื่อง

เป็นหนังสือที่มีภาพเฉพาะตอนที่สำคัญของเรื่องราว ซึ่งภาพนั้นใช้เป็นสื่อเพื่อสร้างจินตนาการของเด็ก หนังสือภาพกับเรื่องนี้ เป็นหนังสือที่มีเรื่องราวต่างๆที่ต้องการให้เด็กได้เรียนรู้ เช่น สุขศึกษา สังคมศึกษา หรือวิชาอื่นๆ โดยแต่งเป็นนิทานหรือเรื่องจริงก็ได้ ส่วนมากใช้เป็นหนังสือสำหรับครูอ่านให้เด็กฟัง หรือครูเล่าเรื่องประกอบกับภาพในหนังสือ เรื่องที่นำเสนอนี้เป็นได้ทั้งร้อยแก้วร้อยกรอง

5. หนังสือภาพตัดปะ

เป็นหนังสือที่ทำด้วยการตัดภาพจากหนังสือพิมพ์ ส.ค.ส. ปฎิทิน กระดาษห่อของขวัญ หรือรูปวาดของเด็กๆก็ได้ หนังสือภาพตัดปะนี้ สามารถทำเป็นหนังสือภาพที่กล่าวมาตั้งแต่ข้อ 1-4 ได้ มีข้อดี คือ ทำได้ง่ายและนำมาส่งเสริมการอ่านของเด็กได้เป็นอย่างดี โดยผู้ปกครองสามารถนำหนังสือภาพตัดปะนี้มาพูดคุย หรือสอบถามเด็กเพื่อทบทวนและพัฒนาทักษะการพูดของเขาไปในตัว

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *