กดดัน ท้อ และ เสียใจ เป็น 3 คำนิยามของความรู้สึกที่เกิดขึ้นพร้อมๆกันในช่วงเวลานั้นหลังฟื้นจากห้อง ICU ความรู้สึกแรกของเราเลย คือ รู้สึกว่าหูข้างหนึ่งของเราไม่ได้ยิน ผ่านไปสักพักกลับกลายเป็นหูอื้อทั้งสองข้างเท่ากับเราไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย…ซึ่งเป็นผลมาจากการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมองโดยเส้นประสาทคู่ที่แปดอักเสบทำให้สูญเสียการได้ยิน ตามไปดูและพูดคุยกับคุณปัทมา อุ่นเอมและคุณขวัญอนงค์ถึงเรื่องราวการได้ยินที่ประสบพบเจอมาในอดีต ประสบการณ์ในการผ่าตัด ความรู้สึกต่างๆ รวมถึงบทเรียนของคุณปัทมาที่เป็นเครื่องพิสูจน์ในเห็นว่าทำไมถึงต้องผ่าตัดประสาทหูเทียมชนิด ABI 

Q : ช่วยแนะนำตัวหน่อยได้ไหมคะ ?

A : สวัสดีค่ะ ชื่อปัทมา อุ่นเอม อายุ 30 ปี ผู้ใช้งานประสาทหูเทียมชนิดฝังที่ก้านสมองค่ะ เครื่องประมวลเสียงด้านนอกที่ใช้คือรุ่น RONDO ค่ะ 

Q : ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมคะว่าสูญเสียการได้ยินเพราะเหตุใด ?

A :  ตอนนั้นติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมองค่ะ คือเยื้อหุ้มสมองอักเสบพอรู้สึกตัวขึ้นมา รู้สึกเหมือนหูอื้อๆ พี่มาคุยด้วยได้ยินแค่ 2-3 คำหลังจากนั้นก็ไม่ได้ยินแล้วค่ะเลยไปตรวจอีกรอบคุณหมอบอกว่าเส้นประสาทคู่ที่แปดอักเสบทำให้สูญเสียการได้ยินค่ะ

Q : คุณหมอแนะนำว่าอย่างไรบ้างคะ ?

A : ตอนนั้นคุณหมอแนะนำให้รักษาตัวที่โรงพยาบาลก่อน ให้ยาฆ่าเชื้อต่างๆประมาณ 2 อาทิตย์ค่ะ

Q : ใช้ชีวิตอย่างไรบ้างคะในช่วงที่สูญเสียการได้ยิน ?

A : ใช้ชีวิตลำบากค่ะ เกรงใจเพื่อนที่ร่วมงานด้วย เนื่องด้วยเขาต้องเขียนสื่อสารกับเราเป็นหลัก เพราะเราไม่ได้ยิน เช่น เวลามีออเดอร์มา เขาก็ต้องเขียนบอกออเดอร์ให้เรา เขียนคุยรายละเอียดการทำงานต่างๆ การเดินทางไปไหนมาไหนคนเดียวก็ยิ่งลำบากค่ะ เพราะต้องคอยดูรถอยู่ตลอดเวลา

Q : แสดงว่าในการเดินทางต้องมีคนไปด้วยตลอดใช่ไหม ?

A : ใช่ค่ะ เวลาสื่อสารอะไร เช่น ซื้อของ เราก็ไม่รู้เรื่องเลยจึงตัดสินใจไปปรึกษากับคุณหมอที่ศิริราช คุณหมอก็แนะนำมาว่ามีการผ่าตัดประสาทหูเทียม

Q : คุณปัทตัดสินใจผ่าตัดเลยไหมคะ ?

A : ยังค่ะ ตอนนั้นยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะผ่าตัด ผ่านไประยะเราก็ได้เป็นผู้ป่วยในโครงการผ่าตัดประสาทหูเทียมของโรงพยาบาล เสียค่ารักษาประมาณหนึ่งแสนบาทค่ะ รู้สึกไม่เสียดายเลยกับการได้ยิน

Q : ย้อนไปตอนผ่าตัดจนถึงการปรับเครื่องรู้สึกอย่างไรบ้างคะ ?

A : ตอนผ่าตัดก็ไม่เจ็บค่ะ หลังจากผ่าตัดเสร็จก็รักษาตัวอยู่โรงพยาบาลประมาณ 4-5 วัน ได้ยินเสียงคล้ายๆหุ่นยนต์ แต่ยังไม่เป็นภาษาเท่าไรค่ะ 

Q : แล้วระหว่าง 6-7 เดือนนี่ได้ยินเป็นคำ เป็นประโยคเลยใช่ไหมคะ มีเทคนิคอะไรอยากแนะนำเพื่อนๆไหมคะ ? 

A : ทำตามที่คุณหมอแนะนำค่ะ โดยคุณหมอจะเขียน อา อู อะไรประมาณนี้ เราก็เอามาฝึก พร้อมทั้งฝึกคำที่เราใช้บ่อยๆ เช่น ถามว่ากินข้าวหรือยัง ? อะไรอย่างนี้ ส่วนมากเวลาว่าง ที่ไม่ได้ไปทำงานก็ดูหนัง ฟังเพลงที่บ้าน

Q : คนรอบข้างมีบทบาทในการฝึกพูดด้วยใช่ไหมคะ ?

A : ใช่ค่ะ เริ่มฝึกได้เป็นคำ เดือนละคำ เช่น คำแรกพูดอย่างนี้ เราฝึกพูดจนเราจำได้เขาก็จะพูดซ้ำอีกเราต้องพูดตามเขา ขยับขึ้นมาเป็น 3 คำบ้าง 5 คำบ้าง 10 คำบ้างจนเป็นประโยค ก็ยังต้องฝึกต่อไปค่ะ เพราะว่าตอนนี้ก็ยังไม่ได้ยินร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อนาคตก็ไม่แน่

Q : ประทับใจไหมที่ได้ยินเสียง ?

A : ประทับใจ ดีใจค่ะ เพราะว่า ตอนปรึกษาคุณหมอครั้งแรก คุณหมอก็ไม่ได้คอนเฟิร์มว่าจะได้ยิน 100 เปอร์เซ็นต์ อาจจะแค่ได้ยินแค่ 20-30 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าของเราเป็นกรณีผ่าที่ก้านสมองมีโอกาสได้ยินน้อย (เมื่อเทียบกับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม) หลังจากผ่าตัดเสร็จสิ้นหมอเขาก็ถามว่า ได้ยินไหม ? เราก็ตอบว่าได้ยินค่ะ 

Q : การใช้ชีวิตหลังใส่เครื่องเป็นอย่างไรบ้างคะ ?

A : ใช้ชีวิตได้ดีขึ้นค่ะ จากที่ไม่ได้ยินมาปีหนึ่งนี่ใช้ชีวิตลำบากมาก เราต้องไปทำงานคนเดียว เราก็ต้องมีขึ้นรถ ต้องคอยระแวงตลอดว่ารถจะมาไหมอะไรแบบนี้ ปกติก็ที่ไม่ได้ยินก็ไปทำงานก็จะเป็นแบบนี้ เช่น เสียงออเดอร์เข้า เราก็ไม่ได้ยิน เพื่อนต้องสะกิดเราแล้วพูดว่ามีออเดอร์นะ แต่พอใส่เครื่องแล้วครั้งแรกเราก็ยังฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่เราก็พอรู้ว่าออเดอร์เข้าเพราะได้ยินเสียง เวลาเครื่องทำน้ำแข็ง น้ำแข็งร่วง เราก็รู้ว่าน้ำแข็งร่วง พวกช้อน พวกจานอะไรอย่างนี้ก็ได้ยิน จนอนนี้สามารถรับโทรศัพท์ได้ ฟังเพลง ดูหนังได้ค่ะ แนะนำว่าถ้ามีงบพอก็อยากให้ตัดสินใจผ่าตัด เพราะว่าเดี๋ยวนี้ทีมแพทย์ บริษัท เครื่องมือเขาก็พร้อมมีแต่มืออาชีพ คุณหมอก็เก่งด้วยค่ะ

Category
Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *