เครื่องช่วยฟัง

สวัสดีค่ะ สำหรับในหัวข้อนี้ เราจะมาคุยกันถึงวิธีการปรับตัวเพื่อให้ผู้ใช้ เครื่องช่วยฟัง สามารถใช้เครื่องช่วยฟังได้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นหัวข้อที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่กำลังเริ่มต้นใช้เครื่องช่วยฟัง ผู้ใช้เครื่องช่วยฟังมือใหม่ ญาติ หรือท่านที่ต้องดูแลผู้ที่ใช้เครื่องช่วยฟัง รวมถึงผู้สนใจทั่วไปก็สามารถเข้ามาหาความรู้เพื่อให้เข้าใจผู้ใช้เครื่องช่วยฟังได้มากยิ่งขึ้นค่ะ

 

8 สเต็ปเคล็ด(ไม่)ลับ ฉบับมือใหม่ เพื่อการปรับตัวใช้ เครื่องช่วยฟัง

1. การเริ่มต้นใส่เครื่องช่วยฟังสำหรับผู้ใช้เครื่องช่วยฟังมือใหม่ อาจจะต้องใช้ความตั้งใจและวินัยในการฝึกปฏิบัติ ซึ่งวิธีการเริ่มต้นง่าย ๆ ก็คือ “ใส่เครื่องช่วยฟังวันละหลาย ๆ ครั้ง” ใช่ค่ะ ใส่วันละหลาย ๆ ครั้ง บางท่านที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์กับเครื่องช่วยฟังมาก่อน เมื่อได้ฟังแล้วอาจจะรู้สึกสงสัยถึงเหตุผล ซึ่งสาเหตุก็คือในผู้ใช้ที่ไม่เคยใส่เครื่องช่วยฟังมาก่อน หลังจากที่ได้ใส่เครื่องช่วยฟังแล้วจะได้ยินเสียงต่าง ๆ ดังขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะเสียงที่ไม่เคยได้ยินก็จะได้ยินชัดเจนขึ้นมา ซึ่งอาจจะทำให้รู้สึกรำคาญและไม่สามารถใส่เครื่องช่วยฟังได้ยาวนานตลอดวัน ดังนั้นการใส่เครื่องช่วยฟังวันละหลาย ๆ ครั้งจึงเป็นการเริ่มต้นฝึกปฏิบัติสำหรับผู้ใช้เครื่องช่วยฟังมือใหม่ได้เป็นอย่างดี จากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาในการใส่เครื่องช่วยฟังของแต่ละครั้งให้มากขึ้น จนสามารถใส่เครื่องช่วยฟังได้ยาวนานตลอดทั้งวัน

2. สำหรับการใส่เครื่องช่วยฟังครั้งแรก แนะนำให้ใส่เครื่องช่วยฟังเพื่อฟังเสียงในสถานที่ที่ค่อนข้างเงียบหรือไม่มีเสียง แล้วจึงค่อย ๆ เริ่มต้นคุยกับผู้ที่เราคุ้นเคยท่านใดท่านนึงก่อน โดยที่ยังอยู่ภายในสถานที่ที่ค่อนข้างเงียบหรือไม่มีเสียงเหมือนเดิม

3. การฟังรายการโทรทัศน์เป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับในการฝึกฝนการฟังที่ดี สำหรับรายการที่อยากแนะนำให้ผู้ใช้เครื่องช่วยฟังมือใหม่ได้ฟังก็คือ รายการข่าว เนื่องจากผู้ประกาศข่าวจะพูดเสียงในระดับเดียว มีความชัดเจนในแต่ละคำพูด จึงทำให้การฝึกฟังเสียงนั้นง่ายยิ่งขึ้น

4. ควรฝึกฝนการฟังเสียงสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยสามารถเปลี่ยนระดับความดังเสียงได้เมื่อจำเป็น

5. เริ่มฝึกฝนการฟังและการพูดคุยกับผู้คนให้หลากหลายมากขึ้น นอกจากจะเป็นการฝึกการฟังในสถานการณ์จริงแล้ว ยังช่วยเพิ่มการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมให้กับผู้ใช้เครื่องช่วยฟังได้มากขึ้นอีกด้วย

6. ฝึกฟังเสียงนอกบ้านหรือนอกอาคาร (outdoor) โดยอาจจะเริ่มต้นจากสถานที่เงียบ ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ ขยับไปสถานที่ที่มีเสียงดังขึ้น โดยสามารถปรับลดระดับความดังของเสียงลงได้ หากเสียงที่ได้ยินนั้นดังเกินไป

7. การใส่เครื่องช่วยฟังในระยะแรกนั้น ความสามารถในการแยกเสียงหรือจับเสียงอาจจะยังไม่ดีเท่าที่ควร จึงต้องอาศัยการฝึกฝนการฟังเสียงบ่อย ๆ เพื่อให้เกิดการปรับตัวและความคุ้นเคยต่อเสียงที่ขยายผ่านเครื่องช่วยฟังเข้ามา ซึ่งในระยะนี้อาจจะต้องใช้ความตั้งใจและความมีวินัยในการฝึกปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

8. สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่ขาดไม่ได้สำหรับการปรับตัวเพื่อให้ใส่เครื่องช่วยฟังได้อย่างมีคุณภาพและประสบความสำเร็จนั้นก็คือ การใส่เครื่องช่วยฟังเป็นประจำ

หากสามารถปฏิบัติตามขั้นตอน 8 สเต็ปข้างต้นได้แล้ว ดิฉันเชื่อมั่นว่าท่านจะสามารถปรับตัวเพื่อใช้งานเครื่องช่วยฟังได้อย่างมีความสุข 🙂

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *