หลังจากทราบกันไปแล้วว่ายาบางชนิดสามารถส่งผลให้การได้ยินเปลี่ยนแปลง หรือ มีปัญหาทางระบบการทรงตัวทั้งแบบชั่วคราวและแบบถาวรได้ หลายคนได้สอบถามมาว่า “แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าเราเริ่มมีปัญหาทางการได้ยินและการทรงตัว” วันนี้ผู้เขียนจึงขอนำเสนออาการที่เกิดจากยาที่เป็นพิษต่อหูมาให้ทุกท่านทราบกันค่ะ โดยยาที่เป็นพิษต่อหูนั้นจะส่งผลต่อหูชั้นในโดยตรง ซึ่งหูชั้นในของเรานั้นมีหน้าที่ดูแลระบบการได้ยินและระบบการทรงตัว เมื่อผู้ป่วยได้รับยาที่มีมีผลต่อหู อาจมีอาการได้ดังต่อไปนี้

  • ระบบการได้ยิน (Cochleotoxic)
    • มีการสูญเสียการได้ยิน (Hearing loss)

                 การสูญเสียการได้ยินที่มีผลจากพิษของยานั้นทำให้สูญเสียการได้ยินชนิดประสาทรับฟังเสียงเสื่อม โดยจะมีการสูญเสียการได้ยินที่ความถี่สูง ผู้ป่วยมักพูดเสียงดัง และหากมีการสูญเสียการได้ยินในระดับรุนแรงเสียงพูดมักเปลี่ยนหรือพูดไม่ชัดเนื่องจากไม่ได้ยินเสียงพูดของตน

    • มีเสียงดังรบกวนในหู (Tinnitus)

        เสียงดังรบกวนในหูเป็นการได้ยินเสียงที่เสมือนว่าดังมาจากภายในหูเอง โดยที่ผู้อยู่ใกล้ๆหรือรอบข้างไม่ได้ยิน เสียงที่ผู้ป่วยมักได้ยินมักเป็นเสียงโทนสูง  การเกิดนั้น มี 2 แบบ คือ แบบชั่วคราวและแบบถาวร สาเหตุจากยาที่ ทำให้เกิดเสียงดังรบกวนในหูแบบชั่วคราวที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ยากลุ่ม salicylate โดยเฉพาะ aspirin ซึ่งโดยทั่วไปอาการสามารถกลับมาเป็นปกติได้ แต่หากใช้ในปริมาณสูงและเป็นระยะเวลานาน หรือใช้ร่วมกับยาที่มีพิษต่อหูชนิดอื่น ก็อาจเกิดความผิดปกติแบบถาวรได้ 

มีบางการศึกษาที่แยกกลุ่มยาที่อาจทำให้เกิดอาการเสียงดังรบกวนในหูเป็น 2 กลุ่มได้แก่ 

กลุ่มที่ 1 ยาที่มีพิษต่อหูโดยตรง ซึ่งทำให้เกิดอาการเสียงดังรบกวนในหู หรือประสาทรับฟังเสียงบกพร่องชั่วคราวหรือแบบถาวรในบางครั้งเช่น salicylate,NSAIDs,quinine,loop diuretic , aminoglycoside,และยาต้านมะเร็ง อาการเสียงดังรบกวนในหูเป็นอาการเตือนของโอกาสเสี่ยงที่จะมีความผิดปกติอย่างถาวรหากได้รับยาต่อไป

กลุ่มที่ 2 ไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายของหูชั้นใน และตามปกติจะไม่ทำให้เกิดเสียงดังรบกวนในหูแบบถาวร แต่อาจเกิดเสียงดังรบกวนแบบชั่วคราวจากผลต่อสารสื่อประสาทประเภท amine ในสมอง เช่นกลุ่มยาต้านอาการซึมเศร้า ยาต้านฮิสทามีน และยากั้นเบต้า

    • มีความลำบากในการฟังเข้าใจเสียงพูดในที่ที่มีเสียงรบกวน 

เนื่องจากผู้ที่สูญเสียการได้ยินชนิดประสาทหูเสื่อมนั้นมีอัตราส่วนระหว่างเสียงพูดและเสียงรบกวน(signal to noise ratio)น้อยกว่าคนปกติ ทำให้การฟังแยกแยะเสียงพูดออกจากเสียงรบกวนเป็นไปอย่างยากลำบาก

    • รู้สึกหูอื้อ หรือ แน่นในช่องหู ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน
  • ระบบการทรงตัว (Vestibulotoxic)
    • มีปัญหาเกี่ยวกับระบบการทรงตัว (Peripheral vestibular disorder)โคลงเคลง เสียศูนย์ หรือ เดินเซ ผู้ป่วยมักมีปัญหาในการยืน-เดิน เสียการทรงตัวหรือเกือบจะล้มไปด้านใดด้านหนึ่งมักมีอาการชั่วคราว ซึ่งอาจเกิดร่วมกับอาการเวียนศีรษะหมุน และมีปัญหาเกี่ยวกับลานสายตา
    • เวียนศีรษะบ้านหมุน (Vertigo)

ผู้ป่วยมีความรู้สึกหลอนว่าตนเองมีการเคลื่อนไหว ซึ่งมักเคลื่อนไหวในเชิงหมุนหรืออาจเคลื่อนไหวในแนวตรงหรือเป็นลักษะของการพลิกตัวก็ได้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการเวียนหมุนสิ่งแวดล้อมหมุนแต่ในความเป็นจริงทั้งตัวเราและสิ่งแวดล้อมไม่ได้หมุน

ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้ สามารถปรากฏขึ้นได้หลังจากได้รับการรักษาด้วยยาเพียงครั้งเดียว 

หรืออาการอาจจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้รับการรักษาเป็นระยะเวลานานเป็นวันหรือเป็นเดือน

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *