เสียง

 

เสียง และ “อันตรายจากเสียง”

เสียง คืออะไร?

เสียง เป็นคลื่นเชิงกลที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของวัตถุ วัตถุสามารถอยู่ในสถานะของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ (อากาศ) ก็ได้ คลื่นเสียงทำให้อนุภาคของวัตถุเกิดการอัดตัวและขยายตัวแล้วจึงส่งผ่านพลังงานเข้ามาสู่หูของเรา หลังจากนั้นกลไกการทำงานของหูจะทำหน้าที่ขายเสียงให้เราได้ยินและแปลความหมายด้วยระบบการทำงานของสมอง จะเห็นได้ว่าเสียงเริ่มต้นที่แหล่งกำเนิด ผ่านตัวกลางและเดินทางมาสู่หูของเรา เสียงนั้นมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของเราอย่างมาก ทั้งด้านการสื่อสาร เตือนอันตราย และการรับรู้ทิศทางของเสียง แต่ถ้าเสียงนั้นดังเกินไปก็จะทำให้เกิดอันตรายต่อหูเราได้เช่นกัน

 

เมื่อไร่จึงเรียกว่าเสียงดังเกินไป?

สภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวันของเรามีความหลากหลาย และมีเสียงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เสียงที่เกิดขึ้นจะถูกวัดค่าออกมามีหน่วยเป็นเดซิเบล ตัวอย่างเช่น เสียงกระซิบมีระดับความดัง 30 เดซิเบล เสียงคำพูดสนทนาทั่วไป 60 เดซิเบล เสียงการจราจรปกติ 80 เดซิเบล เสียงการก่อสร้างถนน 100 เดซิเบล และเสียงเครื่องบินขึ้นสูงถึง 140 เดซิเบล เป็นต้น จากเสียงในสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนี้เองทำให้แต่ละคนรับรู้ถึงระดับเสียงที่แตกต่างกัน บางครั้งรู้สึกว่าเสียงดังเกินไปในขณะที่อีกคนอาจรู้สึกว่าเสียงนั้นไม่ดังเท่าที่ควร บางคนอาศัยอยู่ในละแวกที่มีการก่อสร้างจึงคุ้นเคยกับเสียงรบกวนที่เกิดขึ้น แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเสียงที่เราได้ยินอยู่ในตอนนี้ดังเกินไปหรือไม่

องค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำไว้ว่า เราไม่ควรฟังเสียงที่ดังเกินกว่า 85 เดซิเบล ติดต่อกัน 8 ชั่วโมง และระดับเสียงที่ดัง 100 เดซิเบล ติดต่อกัน 15 นาที ซึ่งระดับเสียงดังกล่าวถือเป็นเสียงที่ทำให้เกิดอันตรายต่อระบบการได้ยินของมนุษย์ สำหรับประเทศไทย ตามประกาศกฏกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน ความสว่างและเสียง พ.ศ. 2549 กำหนดมาตรฐานระดับเสียงที่ยอมให้ลูกจ้างได้รับขณะทำงานในแต่ละวัน ดังตารางต่อไปนี้

จะเห็นได้ว่าเมื่อเสียงยิ่งดังมากขึ้นระยะเวลาในการรับฟังเสียงจะยิ่งลดลง เพราะถ้ารับฟังเสียงที่ดังมากในระยะเวลาที่เกินกำหนดอาจทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินขึ้นได้ ดังนั้นหากเราต้องอาศัยหรือทำงานในสถานที่ที่มีเสียงรบกวนดังมากเกินไปเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อการได้ยินได้

 

การได้ยินจะเป็นอย่างไร เมื่อได้ยินเสียงดัง

เมื่อมีการสัมผัสเสียงดังเป็นระยะเวลานานจะส่งผลกระทบต่อระบบการได้ยิน โดยการสูญเสียการได้ยินที่เกิดขึ้นมักจะเกิดที่หูชั้นในเนื่องจากได้รับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องและไม่มีระยะเวลาให้พักฟื้น การสูญเสียการได้ยินจากการสัมผัสเสียงดังนั้นสามารถเกิดได้ 2 รูปแบบ ได้แก่

  1. การสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว
    สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อมีการสัมผัสเสียงดังเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยเมื่อออกจากบริเวณนั้นจะมีอาการหูอื้อ ฟังไม่ค่อยชัดเจน สาเหตุมาจากเซลล์ขนในหูชั้นในทำงานอย่างต่อเนื่องและเกิดอาการล้าทำให้ไม่สามารถทำงานอย่างปกติได้ เมื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเสียงและได้พักผ่อนประมาณ 14-16 ชั่วโมง ก็จะสามารถกลับมาได้ยินเป็นปกติได้
  2. การสูญเสียการได้ยินแบบถาวร
    เกิดขึ้นเมื่อมีการสัมผัสเสียงดังเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดและมีการสัมผัสอย่างต่อเนื่องไม่มีระยะเวลาในการพักฟื้น ซึ่งจะทำให้การได้ยินสูญเสียไปอย่างถาวร ไม่สามารถรักษาให้กลับคืนสู่สภาพปกติได้

ต่อไปนี้เราคงต้องสังเกตเสียงในสภาพแวดล้อมรอบตัวมากขึ้นว่าเป็นเสียงดังจนเกินไปหรือไม่ เพื่อป้องกันอันตรายจากเสียงดังที่จะเกิดขึ้นกับระบบการได้ยินของเราในอนาคต

 

 

ที่มา: https://www.labour.go.th/th/doc/law/safty_hot_2549.pdf

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *