หนึ่งแง่คิดชีวิตวัยรุ่นกับการผ่าตัดประสาทหูเทียมของ คุณตาล สาวน้อยนักคณิตศาสตร์ประกันภัย

ย้อนเส้นทางการได้ยินของ คุณตาล สาวน้อยนักคณิตศาสตร์ประกันภัยผู้มีความมุ่งมั่นในการทำตามความฝันให้สำเร็จ “เรามีความฝันว่าอยากเรียนอะไร เป็นอะไร ทำให้เรากังวลว่าถ้าเราไม่ได้ยินเสียง เราจะทำตามความฝันนั้นไม่ได้ พอรู้จักว่ามีประสาทหูเทียมด้วยก็อยากผ่าตัดค่ะ มันทำให้เรามีความหวังในชีวิตมากขึ้น” ตาลกล่าวด้วยน้ำเสียงสดใสพร้อมรอยยิ้มกว้างของเธอ

Q : ช่วยแนะนำตัวเองให้รู้จักหน่อยได้ไหมคะ ?

A : สวัสดีค่ะ ชื่อ ตาลค่ะ จบการศึกษาจากคณะพาณิชย์ศาสตร์การบัญชี ภาควิชาสถิติ สาขาวิชาการประกันภัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยค่ะ (ยิ้ม)

Q : พอจะทราบไหมว่าอะไรเป็นสาเหตุให้สูญเสียการได้ยิน ?

A :  ตาลสูญเสียการได้ยินข้างซ้ายตั้งแต่ตอนป.6 และข้างขวาตอนอยู่ม.5 ค่ะ โดยคุณหมอบอกว่าเป็นประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน แต่ไม่ทราบสาเหตุค่ะ

Q : การสูญเสียการได้ยินส่งผลอย่างไรบ้างกับเรา ทั้งในแง่การเรียน และ การใช้ชีวิต ?

A : พอสูญเสียการได้ยินที่หูข้างขวา ตาลก็ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลยค่ะ คุยกับใครก็ไม่รู้เรื่อง ไปเรียนก็ไม่ได้ยินเสียงครู คุยกับเพื่อนใช้วิธีเขียนคุยเอา โดยตาลจะพกสมุดเล่มหนึ่งติดตัวไว้ตลอด ช่วงที่สูญเสียการได้ยินคุณครูติดต่อทำเรื่องกับคุณหมอให้ตาลใส่เครื่องช่วยฟังแล้วก็กลับมาเรียนต่อค่ะ แต่ว่าเสียงที่ได้ยินจะเครื่องช่วยฟังมันค่อนข้างดัง ฟังแล้วกระแทกหู ทนใส่ไม่ไหว เลยไม่ใส่ กลายเป็นไม่ได้ยินเลยค่ะ

Q : ได้ข่าวว่าคุณแม่เป็นคนบอกเราเรื่องประสาทหูเทียม ?

A : ใช่ค่ะ คุณแม่เป็นคนมาบอกตาล ทำให้ตาลรู้ว่ามีประสาทหูเทียม โดยคุณแม่เป็นคนติดต่อกับเจ้าหน้าที่ที่บริษัทและที่โรงพยาบาลศิริราชให้ค่ะ

Q : จำความรู้สึกก่อนผ่าตัดได้ไหม และ อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เราเลือกผ่าตัดประสาทหูเทียม ?

A : ตอนที่ยังไม่ได้ผ่าตัดคือไม่ได้ยินเสียงอะไรเลยค่ะ เวลาไปเรียนและพูดคุยกับเพื่อนก็ลำบาก เรามีความฝันว่าอยากเรียนอะไร เป็นอะไร ทำให้เราก็กังวลว่าถ้าเราไม่ได้ยินเสียง เราก็จะทำตามความฝันนั้นไม่ได้ พอรู้จักว่ามีประสาทหูเทียมด้วยก็อยากผ่าตัดค่ะ มันทำให้เรามีความหวังในชีวิตมากขึ้น

Q : วันเปิดเครื่องครั้งแรกเป็นอย่างไร ได้ยินเสียงอะไรบ้าง ?

A : วันแรกที่เปิดเครื่องมาได้ยินไม่ค่อยชัดเท่าไร ทางเจ้าหน้าที่จะมีกระดาษมาให้พอจะปรับเสียงตามความถี่เขาก็จะให้เลือกระดับว่าได้ยินชัด ได้ยินดีแล้วหรือยังจะประกอบด้วยระดับดี ดีมาก ดังเกินไปทำนองนี้ค่ะ พอปรับไปจนเสร็จเราก็รู้สึกว่าเสียงชัดขึ้นค่ะ

Q : ใช้เวลานานไหมในการปรับตัวเข้ากับประสาทหูเทียม ?

A : ไม่นานค่ะ ในช่วงแรกเจ้าหน้าที่จะนัดมาปรับเครื่องทุกเดือน หลังจากปรับเครื่องเราก็สามารถคุยกับคุณหมอได้รู้เรื่องแล้วค่ะ

Q : ถ้ามีเพื่อนๆรุ่นเดียวกันมาขอคำแนะนำเกี่ยวกับการผ่าตัดประสาทหูเทียม อยากจะบอกเขาว่าอะไร ?

A : การผ่าตัดประสาทหูเทียมมีประโยชน์มากเลยนะคะ ทำให้เรากลับมาได้ยินเสียงอีกครั้งหนึ่ง เราสามารถสื่อสารกับคนรอบข้างได้เหมือนคนปกติค่ะ แต่ทั้งนี้หลังจากผ่าตัดแล้วจะต้องฝึกฟังเป็นประจำด้วยนะคะ เพราะบางเสียงออกเสียงคล้ายกัน เราต้องไม่ลืมที่จะฝึกฟังและปรับตัวให้เข้ากับเครื่องค่ะ (ยิ้ม)

Q : เสียงไหนบ้างที่ยากสำหรับการฟัง ?

A : สำหรับตาลคิดว่าเสียงที่คล้ายกันค่ะ เช่น เสียงฉ.ฉิ่ง กับ ส.เสือ เพราะเสียง ฉ กับ ส จะมีการออกเสียง /ช/ คล้ายกัน ทำให้ฟังและแยกเสียงยากนิดนึงค่ะ (หัวเราะ)

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *