เครื่องช่วยฟัง Hearing aid

เครื่องช่วยฟัง Hearing aid

เครื่องช่วยฟัง Hearing aid นวัตกรรม และเทคโนโลยี : เครื่องช่วยฟัง เป็นอุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์ชนิดหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขความผิดปกติทางการได้ยิน โดยเน้นขยายเสียงของคำพูดเพื่อให้ได้ยินชัดเจนและสามารถสื่อสารได้อย่างปกติ

ซึ่งถูกพัฒนาให้มีความสามารถใกล้เคียงกับการรับฟังเสียงแบบธรรมชาติมากที่สุด โดยจะเห็นได้ว่ามีการพัฒนามาจากเครื่องช่วยฟังระบบอนาลอค จนปัจจุบันกลายเป็นระบบดิจิตอลทั้งสิ้น ระบบเครื่องช่วยฟังในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีส่วนช่วยทำให้คุณภาพเสียงดีขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นส่วนประกอบในการรับเสียง การขยายเสียง และการส่งสัญญาณเสียง รวมทั้งการประมวลผลที่รวดเร็ว ความก้าวหน้าเหล่านี้เองทำให้เกิดนวัตกรรมที่นำมาใช้ในเครื่องช่วยฟังเพื่อให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น

เครื่องช่วยฟัง Hearing aid กับเทคโนโลยี แต่ละแบบมีประโยชน์อย่างไร ?

Sound Quality | คุณภาพเสียง

เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าคุณภาพเสียงเป็นปัจจัยต้น ๆ ที่จะนำมาสู่การพิจารณาเลือกเครื่องช่วยฟังซึ่งเทคโนโลยีที่จะทำให้มีคุณภาพเสียงที่ดีคือจำนวนช่องสัญญาณ โดยช่องสัญญาณจะทำหน้าที่แยกเสียงที่เข้ามาเป็นช่อง ๆ และทำการปรับเพิ่มลงเสียงที่ต้องการขยายในแต่ละช่อง

โดยเมื่อมีการทำงานร่วมกันทั้งระบบจะทำให้ได้เสียงที่ดังฟังชัดเจน ซึ่งหากมีจำนวนช่องสัญญาณเสียงเยอะก็จะทำให้คุณภาพเสียงที่ขยายได้มีความละเอียดคมชัดมากขึ้น

Listening Comfort | ความรู้สึกสบายในการรับฟังเสียง

ความรู้สึกว่าเสียงที่ได้ยินฟังสบายจากการใช้เครื่องช่วยฟังนั้น ขึ้นอยู่กับการปรับระดับเสียงรบกวนที่เข้ามาในตัวเครื่องหรือที่เรียกว่า Noise reduction ซึ่งปัจจุบันเครื่องช่วยฟังที่มีคุณภาพดีจะสามารถปรับระดับเสียงรบกวนได้อัตโนมัติ

ทั้งเสียงรบกวนในสภาพแวดล้อม และเสียงรบกวนอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การออกกำลังกาย ขณะขับขี่ยานยนต์ เป็นต้น

Speech Understanding | เข้าใจในคำพูดได้ง่ายขึ้น

การฟังและแปลความหมายของคำพูดจะเป็นการตอบสนองของระบบประสาท แต่หากเครื่องช่วยฟังสามารถคัดแยกเสียงคำพูดให้ชัดเจนมากขึ้นก็จะช่วยให้สมองแปลความเสียงคำพูดออกจากเสียงรบกวนต่าง ๆ ได้ดีขึ้น การเลือกจับสัญญาณเสียงคำพูดจะเป็นการทำหน้าที่ของไมโครโฟนโดยตรง เทคโนโลยีนี้เรียกว่า Directional Microphone

ซึ่งจะมีระบบปฏิบัติการที่หลากหลาย ตั้งแต่การปฏิบัติแบบอัตโนมัติ คือเลือกรับเสียงคำพูดและตัดเสียงรบกวนได้เองตามแต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งไมโครโฟนจะทำหน้าที่รับเฉพาะเสียงที่มีการเคลื่อนไหวขึ้นลงมากกว่าเสียงที่ดังต่อเนื่อง (เสียงรบกวนต่างๆ) โดยมีการทำงานตั้งแต่ระดับพื้นฐานคือ Fixed Directionality เป็นการตั้งค่าให้ไมโครโฟนทำงานแบบแยกทิศทางของเสียงตลอดการใช้งานไปจนถึงระดับสูงคือ Integrated Directionality เป็นการทำงานที่เป็นอิสระมากขึ้น

โดยไมโครโฟนจะมีการสื่อสารกันระหว่างหูทั้ง 2 ข้าง เพื่อคำนวณลักษณะเสียงของสิ่งแวดล้อมแล้วเลือกวิธีการรับเสียงที่เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ เช่น การรับเสียงจะเปลี่ยนแปลงไประหว่างสถานการณ์ที่มีคนพูดในที่มีเสียงรบกวนและการพูดคุยกันในรถยนต์

Feedback Management | ระบบจัดการกับเสียงหวีดหอน

เป็นระบบการตัดเสียงหวีดหอนที่อาจเกิดขึ้นได้ขณะใส่เครื่องช่วยฟังเข้าสู่ช่องหู ซึ่งเสียงหวีดหอนนี้จะทำให้ผู้ใช้เครื่องช่วยฟังรู้สึกรำคาญในขณะใส่ เทคโนโลยีนี้จึงมีความสำคัญในการตัดลดระดับเสียงที่หวีดหอนลงได้

หากเครื่องช่วยฟังสามารถตรวจวัดเสียงหวีดหอนที่จะเกิดขึ้นแล้วทำการตัดลดลงก่อนที่ผู้ใช้งานจะรู้สึก จะทำให้ผู้ใช้เครื่องช่วยฟังรู้สึกสบายทุกครั้งที่มีการสวมใส่เครื่องได้

Acclimatization Manager | ระบบช่วยให้การปรับตัวเข้ากับเครื่องช่วยฟังง่ายขึ้น

เป็นระบบที่ใช้ในการตั้งค่าระดับกำลังขยายให้ค่อย ๆ เพิ่มตามระยะเวลาที่ต้องการ เป็นการสร้างประสบการณ์ในการฟังเสียงให้ค่อย ๆ ได้ยินชัดเจนมากขึ้น ซึ่งการตั้งค่าเช่นนี้จะเหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มใช้เครื่องช่วยฟังและผู้ที่ไม่สามารถทนฟังเสียงดัง ๆ ได้

โดยผู้ใช้เครื่องช่วยฟังจะต้องปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในการปรับตั้งเครื่องช่วยฟัง และต้องได้รับการติดตามผลการใช้เครื่องอย่างเป็นระยะ

Nano Coating | เคลือบสารป้องกันความชื้นและฝุ่นละออง

เป็นการเคลือบสารกันความชื้นและฝุ่นละอองลงบนตัวเรือนของเครื่องช่วยฟัง เนื่องจากความชื้นและฝุ่นละอองจากสภาพแวดล้อม และเหงื่อของผู้ใช้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสนิมขึ้นภายในวงจรจนทำให้เครื่องช่วยฟังเสียในที่สุด

การใช้เทคโนโลยีชนิดนี้ ถือเป็นการช่วยยืดอายุของการใช้งานเครื่องช่วยฟังได้ดีทีเดียว

Fitting Flexibility | ปรับตั้งเครื่องได้หลากหลาย

เทคโนโลยีด้านการปรับตั้งเครื่องเป็นปัจจัยสำคัญต่อเสียงที่ได้ยินจากเครื่องช่วยฟัง โดยการปรับตั้งเครื่องจะเป็นการปรับเฉพาะบุคคล เนื่องจากการได้ยินของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน การปรับตั้งเครื่องจึงต้องแตกต่างกันไปด้วย

ด้วยความแตกต่างกันนี้เองทำให้มีนวัตกรรมในการเปลี่ยนความถี่ของเสียงในการขยายช่วงสัญญาณ การเลือกกำลังขยายที่เหมาะสมในแต่ละช่วงสัญญาณเกิดขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานมากที่สุด

นวัตกรรมเหล่านี้ล้วนมีอยู่ในเครื่องช่วยฟังที่มีคุณภาพดีทั้งสิ้น แต่จะไร้ประโยชน์หากไม่ได้นำมาใช้อย่างถูกต้องกับผู้ที่สูญเสียการได้ยิน ดังนั้น การปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในการลองเครื่องช่วยฟังจะช่วยทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงนวัตกรรมที่เหมาะสมกับตนเองได้มากขึ้น

สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับโรคหูเพิ่มเติมได้ที่ บทความ

Line Official : @hearlifeth

Facebook: https://www.m.me/hearlifethai

หรือโทร 02-693-9411

 

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *