ในปัจจุบันมีผู้ที่มีปัญหาการได้ยินจำนวน 5 % ของจำนวนประชากรโลก (หรือมากกว่า 430 ล้านคน) และได้มีการคาดการณ์ว่าในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้า (ปี 2050) จะมีผู้ที่มีปัญหาการได้ยินมากถึง 700 ล้านคน กล่าวได้ว่า ในประชากร 10 คน จะมีผู้ที่มีปัญหาการได้ยิน 1 คน
องค์การอนามัยโลกได้นิยามความหมายของ “ความพิการทางการได้ยิน” หมายถึง การที่บุคคลนั้นมีระดับการสูญเสียการได้ยินมากกว่า 35 เดซิเบล (dB) ในหูการได้ยินที่ดีกว่า จากผลสำรวจพบว่าเกือบ 80 % ของผู้พิการทางการได้ยินอาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง และความชุกของการสูญเสียการได้ยินจะเพิ่มขึ้นตามอายุ พบมากในหมู่ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งมากกว่า 25 % ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียการได้ยิน
“ผู้ที่มีการสูญเสียการได้ยิน” หมายถึง ผู้ที่ไม่สามารถได้ยินเสียงต่างๆได้เท่าเทียมกับผู้อื่นที่มีการได้ยินปกติ ซึ่งการสูญเสียการได้ยินอาจน้อย ปานกลาง มาก รุนแรง หรือหนวกก็ได้ และอาจมีการสูญเสียการได้ยินที่หูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างก็ได้
“ผู้ที่มีการได้ยินปกติ” หมายถึง ผู้ที่มีระดับเริ่มได้ยินเสียงที่ไม่มากกว่า 20 เดซิเบลในหูทั้งสองข้าง
“หูตึง” หมายถึงผู้ที่สูญเสียการได้ยินตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรง ผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยินมักจะสื่อสารผ่านภาษาพูด และสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องช่วยฟัง ประสาทหูเทียม และอุปกรณ์ช่วยเหลืออื่นๆ
คนที่ “หูหนวก” ส่วนใหญ่สูญเสียการได้ยินรุนแรงมาก ๆ ซึ่งหมายถึงมีการได้ยินน้อยมากหรือแทบไม่ได้ยินเลย พวกเขามักใช้ภาษามือในการสื่อสาร
สาเหตุของการสูญเสียการได้ยิน และภาวะหูหนวก
มีปัจจัยต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดการสูญเสียการได้ยินได้ ซึ่งสามารถพบได้ในช่วงเวลาต่าง ๆ ได้ตลอดช่วงชีวิตของเรา
- สาเหตุของการสูญเสียการได้ยินที่เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์
- ปัจจัยทางพันธุกรรม – รวมถึงการสูญเสียการได้ยินทางพันธุกรรม และไม่ใช่กรรมพันธุ์
- การติดเชื้อในมดลูก – เช่น หัดเยอรมัน และการติดเชื้อ CMV (cytomegalovirus)
- สาเหตุของการสูญเสียการได้ยินที่เกิดขึ้นในขณะคลอด
- ภาวะขาดออกซิเจนขณะเกิด
- ภาวะบิลิรูบินในเลือดสูง (โรคดีซ่านรุนแรงในช่วงทารกแรกเกิด)
- น้ำหนักแรกเกิดต่ำ (น้อยกว่า 1500 กรัม)
- โรคและการติดเชื้ออื่น ๆ และการจัดการกับโรค
- สาเหตุของการสูญเสียการได้ยินที่เกิดขึ้นในช่วงวัยเด็กเล็ก และวัยรุ่น
- การติดเชื้อที่หูเรื้อรัง (หูชั้นกลางอักเสบที่เป็นหนองเรื้อรัง)
- การมีของเหลวในหู (หูชั้นกลางอักเสบที่ไม่เป็นหนองเรื้อรัง)
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบและการติดเชื้ออื่น ๆ
- สาเหตุของการสูญเสียการได้ยินที่เกิดขึ้นในผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ
- โรคเรื้อรัง
- การสูบบุหรี่
- โรคหินปูนเกาะกระดูกหู
- ประสาทหูเสื่อมตามวัย
- สูญเสียการได้ยินอย่างฉับพลัน
- ปัจจัยอื่น ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดช่วงชีวิต
- ขี้หูอุดตันในช่องหู
- การบาดเจ็บที่หูหรือศีรษะ
- การสัมผัสเสียงดัง
- ได้รับยาที่มีพิษต่อหู
- ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีที่มีพิษต่อหู
- ภาวะขาดสารอาหาร
- การติดเชื้อไวรัสและอาการทางหูอื่น ๆ
- มีการสูญเสียการได้ยินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากสาเหตุทางพันธุกรรม
ผลกระทบของการสูญเสียการได้ยิน
การสูญเสียการได้ยินส่งผลกระทบต่อชีวิตของบุคคลในหลาย ๆ ด้าน ดังนี้
1. ด้านการพูดและการสื่อสาร
เด็กที่มีการสูญเสียการได้ยินตั้งแต่กำเนิดจะมีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ภาษา เพื่อใช้ในการพูดสื่อสารกับผู้อื่น. โดยจะไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาพูดได้เช่นเดียวกับเด็กปกติ จำเป็นต้องใช้ภาษาท่าทางหรือภาษามือในการสื่อสาร
2. ด้านการเรียนและการทำงาน
ในประเทศกำลังพัฒนา เด็กที่สูญเสียการได้ยินและหูหนวกมักไม่ได้รับการศึกษา ส่วนผู้ใหญ่ที่สูญเสียการได้ยินก็มีอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นเช่นกัน ในบรรดาผู้สูญเสียการได้ยินที่ได้รับการจ้างงานนั้น พบว่าส่วนใหญ่ผู้ที่สูญเสียการได้ยินมักจะได้รับการจ้างงานในระดับงานที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับบุคคลทั่วไป
3. ด้านการเข้าสังคม
เมื่อมีการสูญเสียการได้ยินบุคคลผู้นั้นอาจมีความไม่มั่นใจและไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เนื่องจากกลัวสื่อสารผิดพลาดและเข้าใจผิดในการสนทนา ก่อให้เกิดการแยกตัวออกจากสังคมไปอยู่คนเดียวและไม่ค่อยติดต่อสื่อสารกับใคร ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะซึมเศร้าและปัญหาสุขภาพจิตได้
4. ผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ
องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการว่าการสูญเสียการได้ยินทำให้เกิดค่าใช้จ่ายทั่วโลกถึง 980 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพ (ไม่รวมค่าอุปกรณ์ช่วยฟัง) ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนด้านการศึกษา การสูญเสียกำลังผลิต และค่าใช้จ่ายทางสังคม ซึ่ง 57 % ของค่าใช้จ่ายเหล่านี้มาจากประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง
การป้องกันการสูญเสียการได้ยิน
เราสามารถหลีกเลี่ยงหลาย ๆ สาเหตุของการนำไปสู่การสูญเสียการได้ยินได้ผ่านการใช้กลยุทธ์ด้านสาธารณสุขและการให้บริการทางคลินิกที่มีประสิทธิภาพตลอดช่วงชีวิตของบุคคล
การป้องกันการสูญเสียการได้ยินเป็นสิ่งที่สำคัญและควรกระทำตลอดช่วงชีวิตของเรา ตั้งแต่ขณะตั้งครรภ์จนถึงวัยชรา จากผลสำรวจในเด็ก พบว่าเกือบ 60% เกิดจากสาเหตุที่สามารถหลีกเลี่ยงได้หรือป้องกันได้โดยใช้มาตรการด้านสาธารณสุข
สำหรับในวัยผู้ใหญ่ สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของการสูญเสียการได้ยิน คือ การสัมผัสกับเสียงดังและการได้รับยาที่มีพิษต่อหูซึ่งสามารถป้องกันได้เช่นเดียวกัน
*** กลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการลดการสูญเสียการได้ยินในระยะต่าง ๆ ของช่วงชีวิต ได้แก่:
- การสร้างภูมิคุ้มกัน
- การดูแลครรภ์ของมารดา และการดูแลเด็กอย่างดี;
- การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโรคทางพันธุกรรม
- การสังเกตและการดูแลสุขภาพหูโดยทั่วไป
- โครงการอนุรักษ์การได้ยินในการทำงานสำหรับการสัมผัสเสียงดัง และสารเคมีที่เป็นพิษ
- กลยุทธ์การฟังอย่างปลอดภัยเพื่อลดการสัมผัสเสียงดังในการใช้ชีวิตประจำวัน
- การใช้ยาอย่างสมเหตุผลเพื่อป้องกันการสูญเสียการได้ยินจากยาที่มีพิษต่อหู
การตรวจหา และการจัดการกับการสูญเสียการได้ยิน
1. การตรวจพบการสูญเสียการได้ยินตั้งแต่เริ่มต้น เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้จัดการกับการสูญเสียการได้ยินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องมีการตรวจคัดกรองการได้ยินอย่างเป็นระบบเพื่อตรวจหาการสูญเสียการได้ยินและโรคหูที่เกี่ยวข้องในผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ได้แก่
- ทารกแรกเกิด และเด็กเล็ก ๆ
- เด็กก่อนวัยเรียน และวัยเรียน
- ผู้ที่สัมผัสกับเสียงดังหรือสารเคมีในที่ทำงาน
- ผู้ที่ได้รับยาที่มีพิษต่อหู
- ผู้สูงอายุ
2. การตรวจประเมินทางการได้ยินและการตรวจหู ซึ่งสามารถทำได้ในสถานพยาบาลและชุมชน หรือ การประเมินเบื้องต้นด้วยตนเอง เช่นการสังเกตความผิดปกติทางการได้ยินของตัวเอง หรือการใช้แอปพลิเคชั่นตรวจการได้ยิน เป็นต้น ซึ่งเมื่อมีการตรวจพบการสูญเสียการได้ยิน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขโดยเร็วที่สุดและในลักษณะที่เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบอื่นๆที่อาจตามมา
3. มาตรการฟื้นฟูผู้ที่สูญเสียการได้ยิน ได้แก่
- การใช้เทคโนโลยีเกี่ยวกับการช่วยเหลือการได้ยิน เช่น เครื่องช่วยฟัง ประสาทหูเทียม และหูชั้นกลางเทียม
- การใช้ภาษามือ และประสาทสัมผัสด้านอื่นทดแทน เช่น การอ่านริมฝีปากขณะพูด การสื่อสารด้วยภาษามือ การสะกดคำบนฝ่ามือ หรือทาโดมา (เป็นวิธีการสื่อสารสำหรับคนหูหนวกและตาบอดที่ใช้มือวางไว้บนริมฝีปากของผู้พูด)
- การบำบัดฟื้นฟูเพื่อเพิ่มทักษะการรับรู้ และพัฒนาความสามารถในการสื่อสารและภาษา
- การใช้เทคโนโลยีเครื่องช่วยฟัง และบริการต่างๆ เช่น ระบบ FM และระบบ Loop system อุปกรณ์แจ้งเตือน อุปกรณ์โทรคมนาคม บริการคำบรรยายใต้ภาพ และล่ามภาษามือ ซึ่งสามารถปรับปรุงการเข้าถึงการสื่อสารและการศึกษาสำหรับผู้ที่สูญเสียการได้ยิน
ที่มา : https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/deafness-and-hearing-loss
No responses yet