เครื่องช่วยฟัง

เครื่องช่วยฟัง

หลายคนที่กำลังเริ่มรู้สึกว่าการได้ยินของเรานั้นเริ่มบกพร่อง หรือพบว่าตัวเองประสบกับปัญหาในด้านการได้ยินและได้รับคำแนะนำจากแพทย์ว่าควรดูแลตัวเองด้วยการใส่เครื่องช่วยฟัง แต่ยังติดภาพจำที่ยังรู้สึกว่าการใส่ เครื่องช่วยฟัง ทำให้ตนเองขาดความมั่นใจ วันนี้เรามีข้อมูลของ เครี่องช่วยฟัง มาแนะนำกันค่ะ

เครื่องช่วยฟังคืออะไร

เครื่องช่วยฟังเป็นเครื่องขยายเสียงขนาดเล็กที่จะสวมใส่เอาไว้ที่หูเพื่อช่วยในการขยายเสียงพูดจากคู่สนทนาและเสียงจากสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นซึ่งผู้ใช้เครื่องช่วยฟังจะได้ยินเสียงดังขึ้น ส่วนความชัดเจนของคำจะขึ้นอยู่กับประสาทหูที่มีอยู่

เครื่องช่วยฟังมีส่วนประกอบหลัก ๆ อยู่ 3 ส่วน

  • ไมโครโฟน (Microphone) เป็นหนึ่งในส่วนประกอบ ซึ่งมีหน้าที่ในการรับเสียงเพื่อเปลี่ยนพลังงานเสียงให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยจะมีช่องเปิดที่บริเวณด้านนอกของเครื่องช่วยฟัง ซึ่งสามารถจะอยู่บริเวณด้านหน้า ด้านหลัง หรือด้านข้างของเครื่องช่วยฟังก็ได้ โดยจะขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องช่วยฟัง ซึ่งจะมีทั้งหมด 3 แบบ
  • ไมโครโฟนแบบใช้สนามแม่เหล็ก (Magnetic)
  • ไมโครโฟนแบบเซรามิค (Ceramic)
  • ไมโครโฟนแบบไฟฟ้า (Electret) เป็นไมโครโฟนที่ถูกนำมาใช้ในเครื่องช่วยฟังมากที่สุด

ปัจจุบันเครื่องช่วยฟังมีการพัฒนาไมโครโฟนเพื่อให้เครื่องช่วยฟังสามารถรับเสียงที่ต้องการ ซึ่งจะตอบสนองต่อเสียงด้านหน้า ซึ่งจะช่วยให้เครื่องช่วยฟังสามารถรับเสียงได้ดีขึ้นแม้จะมีเสียงรบกวน โดยจะเรียกไมโครโฟนชนิดนี้ว่า Directional Microphone และเครื่องช่วยฟังบางรุ่นจะมี Telecoil เพื่อใช้งานร่วมกับโทรศัพท์ได้อีกด้วย 

  • เครื่องขยายเสียง (Amplifiers) จะอยู่ภายในเครื่องช่วยฟังซึ่งมีปุ่มปรับความดังได้ ทำหน้าที่เป็นช่องขยายสัญญาณหรือพลังงานไฟฟ้าที่ส่งมาจากไมโครโฟนให้ดังขึ้น โดยการขยายสัญญาณมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับกำลังขยายและกำลังขยายสูงสุดของเครื่องขยายสัญญาณ
  • ลำโพง (Receiver) ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าที่ผ่านการขยายแล้วให้กลายเป็นพลังงานกลแล้วเปลี่ยนให้กลับมาเป็นพลังงานเสียง โดยปกติแล้ว Receiver จะอยู่ภายในเครื่อง หากมี Receiver อยู่ข้างนอกจะพบได้เฉพาะเครื่องช่วยฟังแบบกล่องหรือแบบ Receiver In Canal

ใครที่ควรใช้เครื่องช่วยฟัง

  • คนที่สูญเสียการได้ยินและไม่สามารถรักษาให้หายขาดด้วยการให้ยาหรือการผ่าตัด ซึ่งการสูญเสียการได้ยินมีผลกระทบต่อการพูดและฟังทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
  • คนที่สูญเสียการได้ยินจากโรคของหูที่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด แต่ติดปัญหาข้อจำกัดในการผ่าตัด หรือในบางรายปฏิเสธการผ่าตัดเพื่อการรักษาโรคของหู

การสูญเสียการได้ยินเป็นความบกพร่องในการรับฟังที่ดูแตกต่างจากมาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับกลุ่มอายุและความรุนแรงของการสูญเสียการได้ยิน

อาการที่แสดงว่ากำลังพบกับปัญหาทางการได้ยิน

  • ผู้ใหญ่ มีอาการปวดหนักในหู มีน้ำภายในรูหู หูอื้อ ไม่สามารถจับคำพูดจากคู่สนทนาได้ มีเสียงรบกวนภายในหู บางรายมีอาการเวียนหัวร่วมอีกด้วย
  • เด็ก พูดช้าไม่ชัด ไม่แสดงอาการตอบสนองต่อเสียง พัฒนาการด้านการพูดและฟัง รวมไปถึงการใช้ภาษาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์

ซึ่งเมื่อพบว่ามีอาการดังนี้ควรเข้าพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อปรึกษาแพทย์รวมไปถึงให้แพทย์วินิจฉัยอาการเบื้องต้นและทำการรักษาตามอาการ เช่นการส่งต่อไปยังนักแก้ไขการได้ยิน

วิธีการสังเกตเด็กที่มีอาการบกพร่องทางการได้ยิน

  • พัฒนาการช้ากว่าเพื่อน ชอบพูดภาษาแปลก ๆ ออกมาไม่เป็นคำ
  • สมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำได้
  • ผลการเรียนไม่สูงเนื่องจากไม่สามารถจดจ่อกับการเรียนได้
  • มักพูดติดปากว่า “อะไรนะ” หรือ “ห๊ะ” บ่อย ๆ เมื่อกำลังสนทนาเนื่องจากได้ยินไม่ชัด
  • จับใจความเสียงพูดกับเสียงบรรยากาศรอบตัวไม่ได้ หรือแยกเพียงเสียงพูดออกมาไม่ได้
  • มักไม่ค่อยได้ยินเสียงโทรทัศน์อีกทั้งยังอยู่ในบริเวณที่เสียงดังได้เนื่องจากไม่ได้ยิน

ประโยชน์ของเครื่องช่วยฟัง

  • ช่วยให้การรับเสียงดีขึ้น และยังช่วยได้ยินเสียงที่ดังขึ้น
  • การใส่เครื่องช่วยฟังจะสามารถสื่อความหมายด้วยการฟังและการพูดด้วยการใช้น้ำเสียงในระดับปกติได้
  • อาการที่เคยมีเสียงรบกวนในหูจะลดลง ในบางรายดีขึ้นจนรู้สึกได้ว่าเสียงรบกวนหายไป
  • การใช้เครื่องช่วยฟังจะช่วยรักษาการทำงานของระบบหูเอาไว้

การได้รับประโยชน์จากเครื่องช่วยฟังจะขึ้นอยู่กับระดับการสูญเสียการได้ยิน การจำแนกเสียงพูด การฟังเพื่อทำความเข้าใจ และระยะเวลาในการสูญเสียการได้ยิน

เครื่องช่วยฟังมีทั้งหมด 6 ประเภท

  • เครื่องช่วยฟังแบบกล่อง (Pocket Aid)
  • เครื่องช่วยฟังแบบทัดหลังหู (Behind the ear / BTE)
  • เครื่องช่วยฟังแบบในช่องหู (Custom-made)
  • เครื่องช่วยฟังแบบลำโพงในช่องหู (Open-Fitting)
  • เครื่องช่วยฟังแบบ RIC
  • เครื่องช่วยฟังแบบรับเสียงทางกระดูก (Bone Hearing Aid)
  • ADHEAR : Bone Conduction Hearing Aid

การเลือกเครื่องช่วยฟังมีหลาย ๆ องค์ประกอบที่ควรเลือกดู ดังนี้

  • งบประมาณที่เรามีรวมไปถึงรูปแบบที่เหมาะสมกับเรา
  • คุณภาพของเสียง โดยจะมีให้เลือกอยู่ 2 รูปแบบ
  • แบบธรรมดา (Analog) เป็นระบบขยายเสียงแบบมาตรฐานทั่วไป นั้นคือการขยายทุกเสียงที่เราสามารถได้ยินได้
  • แบบดิจิตอล (Digital) เป็นระบบขยายเสียงที่ถูกพัฒนาให้ได้ยินเสียงพูดชัดเจน ลดเสียงรบกวนได้ดี และยังปรับเสียงได้ตามต้องการ
  • กำลังขยาย ควรเลือกเครื่องช่วยฟังที่มีกำลังขยายเสียงพอกับความต้องการของผู้ใช้เครื่องช่วยฟัง
  • โปรแกรมสำหรับใช้งานและการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ไร้สายที่ใช้เป็นประจำ
  • แหล่งที่ซื้อเครื่องช่วยฟังและการรับประกัน รวมไปถึงการให้บริการหลังการขาย

คำแนะนำในการปรับตัวกับเครื่องช่วยฟัง ควรเริ่มฝึกโดยเริ่มใส่เป็นระยะเวลาสั้น ๆ วันหลายล่ะหลายครั้งก่อนจะค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาในการฟังให้นานยิ่งขึ้น

  • ควรเริ่มฝึกฟังในสถานที่เงียบ
  • ค่อย ๆ ฝึกพูดโดยเริ่มจากคู่สนทนา 1 คนในที่เงียบ ๆ ก่อนจะเริ่มฝึกพูดและฟังกับคู่สนทนาหลายคน และควรเริ่มไปในที่ที่มีเสียงรบกวนเพื่อปรับตัวในการรับเสียง
  • การดูข่าวในโทรทัศน์จะฝึกฟังได้ง่าย ๆ เนื่องจากส่วนใหญ่นั้น นักข่าวจพูดด้วยน้ำเสียงในโทนและระดับเสียงที่เท่ากัน
  • เมื่อไปในสถานที่ที่เสียงดังมาก ๆ แนะนำให้ถอดเครื่องช่วยฟังเก็บเอาไว้ 
  • แนะนำให้ฝึกฟังคำที่ออกเสียงคล้ายกันเช่น ฟัน-ดัน เพื่อฝึกการแยกเสียง โดยสามารถใช้การอ่านปากช่วยได้
  • หากพบปัญหาให้รีบมาพบนักแก้ไขการได้ยินเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
  • ค่อย ๆ ฝึก อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ

สิ่งที่ผู้ใส่เครื่องช่วยฟังควรทำในระหว่างการสนทนา

  • ควรเว้นระยะระหว่างผู้พูดกับผู้ฟังประมาณ 3-6 ฟุต และควรเลือกที่เงียบ ๆ เพื่อช่วยให้ประสิทธิภาพในการฟังและการพูดดีขึ้น
  • ควรหาตำแหน่งที่มีแสดงสว่างมากพอ แต่ไม่ควรให้แสงแยงตาจนมองไม่ชัด ในบางรายที่อาศัยการอ่านปากร่วมอาจทำให้เราไม่เข้าใจสิ่งที่คู่สนทนาต้องการสื่อได้ 
  • บอกคู่สนทนาว่าคุณเป็นผู้ใช้เครื่องช่วยฟัง เพื่อให้การสนทนาไม่เร็วจนเกินไปและสามารถสื่อสารได้อย่างถูกต้องและชัดเจน
  • โฟกัสกับบทสนทนาตรงหน้าและมั่นใจในการสนทนาที่อยู่ตรงหน้า
  • หากไม่เข้าใจ อย่าแสร้งทำเป็นเข้าใจ ให้ถามคู่สนทนาซ้ำเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน

การดูแลรักษาเครื่องช่วยฟัง

  • อย่าปล่อยให้เครื่องช่วยฟังเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค

ควรทำความสะอาดมือและเล็บก่อนจะหยิบเครื่องช่วยฟัง เพราะไมโครโฟนในเครื่องช่วยฟังมีขนาดเล็กมาก หากมีอะไรหลุดรอดเข้าไปอาจทำให้เกิดการอุดตันภายในเครื่องช่วยฟังได้ หากเป็นไปได้ควรระวังการใช้เจลใส่ผมหรือเครื่องสำอาง เนื่องจากเศษของเครื่องสำอางหรือเจลใส่ผมอาจเข้าไปอุดตันในเครื่องจนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของเครื่องช่วยฟังลดลงได้

  • ป้องกันความชื้นสำหรับเครื่องช่วยฟัง

ถอดเครื่องช่วยฟังก่อนอาบน้ำหรือทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำเสมอ แนะนำให้ทำความสะอาดและเช็ดหูให้แห้ง สำหรับเครื่องช่วยฟังที่ใช้แบตเตอรี่แบบ Zinc Air หากตัวเครื่อสัมผัสกับน้ำ ให้รีบถอดแบตเตอรี่ออกและนำไปใส่ในเครื่องดูดความชื้นหรือกล่องที่ใส่ก้อนดูดความชื้นเพื่อให้เครื่องช่วยฟังแห้งสนิทก่อนนำออกมาใช้อีกครั้ง 

  • เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เนื่องจากอาจทำให้เกิดความเสียงหายกับเครื่องได้ แนะนำให้เก็บเครื่องช่วยฟังให้มิดชิดเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

  • อย่าพยายามซ่อมเครื่องด้วยตัวเอง 

หากพบว่าเครื่องช่วยฟังมีปัญหาแนะนำให้ติดต่อกับเจ้าของผลิตภัณฑ์เพื่อตรวจเช็คเครื่องช่วยฟังด้วยผู้เชี่ยวชาญ

  • ใช้ผ้าแห้งและนุ่มในการทำความสะอาด

หมั่นทำความสะอาดเครื่องช่วยฟังทุกวันโดยใช้ผ้าสะอาดที่แห้งและนุ่มมาเช็ดทำความสะอาด ไม่แนะนำให้ใช้น้ำยาใด ๆ ในการทำความสะอาด เพราะอาจทำให้เครื่องเกิดความเสียหายได้

สำหรับใครที่กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องช่วยฟังอยู่ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคนได้ไม่มากก็น้อยนะคะ หรือหากใครกำลังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเครื่องช่วยฟังอยู่ สามารถติดต่อมาที่ hearLIFE เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมรวมไปถึงข้อมูลของอุปกรณ์เครื่องช่วยฟังที่เหมาะสมกับตัวคุณเองค่ะ เพราะ hearLIFE อยากให้คุณใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

Line Official : @hearlifeth

Facebook: https://www.m.me/hearlifethai

หรือโทร 02-693-9411

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *