อาการหูตึง

อาการหูตึง

เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ไม่มากก็น้อย ต้องรู้จักกับคำว่า หูตึง ซึ่งเป็นคำ คำหนึ่งที่ถูกคนไทยนำมาพูดจนติดปากในเชิงขบขัน เช่น ทำหูตึงทุกครั้งที่แม่บ่น เป็นต้น ส่งผลให้เกิดความคุ้นชินและความคุ้นเคยจนลืมความน่ากลัวของโรคดังกล่าว แต่เพื่อน ๆ ทราบหรือไม่ว่าแท้จริงแล้ว ภาวะหูตึง เป็นอาการที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก ทั้งในทางตรงและทางอ้อม วันนี้ hearLIFE จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักเกี่ยวอาการหูตึง ทั้งสาเหตุของโรค และวิธีรักษา 

หูตึง คืออะไร ?

เป็นภาวะการสูญเสียการได้ยิน ที่ทำให้การได้ยินของเราลดลง หรือฟังได้ยินแต่ไม่เข้าใจความหมายของคำที่พูด ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถเกิดได้กับหูทั้งสองข้างพร้อมกัน หรือข้างเดียวก็ได้ โดยส่วนใหญ่มักจะพบในผู้สูงอายุ ที่มีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 50 – 60 ปีขึ้นไป แต่ในบางกรณีก็เกิดขึ้นก่อนวัยได้ หากผู้ป่วยได้รับเสียงที่ดังมากจนเกินไป เป็นระยะเวลาติดต่อกันนาน ๆ โดยอาการสามารถเกิดขึ้นได้อย่างช้า ๆ หรืออาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน

ลักษณะอาการ

  • ขอให้ผู้อื่นพูดซ้ำ ๆ อย่างช้า ๆ ในระดับเสียงที่ดัง
  • ยกมือขึ้นมาป้องหูขณะที่พูดคุยเพื่อให้ตัวเองได้ยินชัดขึ้น
  • เปิดเสียงต่าง ๆ ที่ดังมากกว่าปกติ เพื่อให้ได้ยินชัดขึ้น
  • ได้ยินเสียงดังในหู รวมถึงมีอาการหูอื้อร่วมด้วย

สาเหตุของอาการ

ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น อาการส่วนใหญ่มักจะพบในผู้สูงอายุ ที่เกิดจากการเสื่อมตามวัยของอวัยวะ ทั้งนี้ สาเหตุของอาการยังสามารถเกิดขึ้นได้จาก ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง จนส่งผลกระทบให้เซลล์ประสาทของหูชั้นในได้รับความเสียหาย หรือการได้รับเสียงที่ดังมากในช่วงสั้น ๆ เช่น เสียงปืน เสียงระเบิด ร่วมไปถึงการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส อุบัติเหตุทางศีรษะที่ส่งผลกระทบไปถึงประสาทหู และโรคบางชนิด เช่น เนื้องอกบนเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

ตารางระดับการสูญเสียการได้ยินของอาการ หูตึง

ระดับเสียง (เดซิเบล) ระดับอาการ ลักษณะอาการ

26 – 40

หูตึงเล็กน้อย จะไม่ได้ยินเสียงพูดเบา ๆ

41 – 55

หูตึงปานกลาง จะไม่ได้ยินเสียงพูดเบา ๆ

เข้าใจเสียงพูดในระยะ 3 – 5 ฟุต

56 – 70

หูตึงมาก ต้องพูดเสียงดัง ๆ ถึงจะเข้าใจความหมาย และมีความลำบากในการฟังขณะอยู่ในที่มีเสียงรบกวน

71 – 90

หูตึงรุนแรง เมื่อตะโกนหรือใช้เครื่องขยายเสียง จะได้ยินเสียง แต่เสียงที่ได้รับจะไม่ชัดเจน

ท่านใดที่มีอาการคล้ายดังที่กล่าวไว้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อเข้ารับการวินิจฉัย ประเมินอาการ และรักษาตามระดับความรุนแรง 

การรักษาอาการ หูตึง

โดยการรักษาอาการหูตึง ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

  • การกำจัดขี้หู ในหลาย ๆ กรณี มีผู้ป่วยที่มีอาการหูตึงเพราะมีขี้หูที่สะสมอยู่จนอุดตันมากเกินไป สามารถรักษาได้ด้วยการล้างหู ใช้ยาหยอด หรือใช้อุปกรณ์สุญญากาศเพื่อดูดขี้หูออกมา
  • การใส่เครื่องช่วยฟัง เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ขยายเสียงจากภายนอกให้ได้ยินชัดเจนมากขึ้น โดยอุปกรณ์จะมีขนาดพอดีหู โดยมักจะพบในผู้ป่วยที่มีอาการหูตึง เนื่องจากหูชั้นในได้รับความเสียหายระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง
  • ประสาทหูเทียม วิธีนี้ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติตรงบริเวณประสาทรับเสียงระดับรุนแรง โดยจะเป็นการผ่าตัดเพื่อใส่เครื่องมือขนาดเล็กที่ถูกนำไปทดแทนการทำงานของหูชั้นในที่ได้รับความเสียหาย
  • การผ่าตัด ผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเนื่องจากสาเหตุเฉพาะ เช่น โรคหินปูเกาะกระดูกหู การติดเชื้อในหูซ้ำ ๆ การได้รับบาดเจ็บรุนแรงบางอย่างที่หู เป็นต้น ซึ่งวิธีนี้ แพทย์จะใส่ท่อเล็ก ๆ ในหู เพื่อป้องกันการติดเชื้อในหู และระบายของเหลวที่อยู่ในหูออกมา

ทั้งนี้อาการหูตึง ยังส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจของตนเอง ไม่เพียงเท่านั้นยังส่งผลต่อคนรอบข้างอีกด้วย เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดมาจากการสื่อสารที่ขาดตกบกพร่อง ทำให้ขาดความเข้าใจกัน เป็นผลให้ในผู้ป่วยบางรายมีภาวะเครียด รู้สึกหดหู่ หรือรู้สึกขาดความมั่นใจในตนเองไป ดังนั้น หากพบใครที่มีอาการ ควรแนะนำให้เข้ารับการรักษา นอกจากจะสามารถสื่อสารให้เข้าใจกับคนอื่นได้มากขึ้น ทั้งยังเพิ่มความมั่นใจในการสื่อสาร และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

สุดท้ายนี้ หวังว่าบทความดังกล่าวจะสามารถช่วยให้หลาย ๆ ท่าน หรือคนใกล้ชิดที่มีภาวะ หรือลักษณะอาการตรงตามที่ปรากฏ สามารถรับมือและจัดการกับปัญหาของอาการได้ 

สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับโรคหูเพิ่มเติมได้ที่ บทความ

image by Freepik

Line Official : @hearlifeth

Facebook: https://www.m.me/hearlifethai

หรือโทร 02-693-9411

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *