เรียกแล้วไม่หัน

เรียกแล้วไม่หัน

! เรียกแล้วไม่หัน ! สัญญาณอันตรายในเด็ก : คุณพ่อ และคุณแม่หลาย ๆ ท่านคงจะกังวลไม่น้อย หากพบว่าลูก หรือบุตรหลานของท่านมีปัญญาทางการได้ยิน เพราะนอกจากจะทำให้ไม่สามารถสื่อสารได้อย่างปกติทั่วไปแล้ว ยังเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ขัดขวางการเรียนรู้และการพัฒนาตามช่วงวัยของเด็ก

รวมถึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันในระยะยาว แต่ปัญหาดังกล่าวสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น หรือป้องกันอาการที่อาจรุนแรงขึ้น หากได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ วันนี้ hearLIFE จะพาทุกท่านไปทราบถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และวิธีการรักษาของความบกพร่องทางการได้ยินในเด็ก

สาเหตุของความบกพร่องทางการได้ยิน

ปัญหาทางการได้ยินนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ก่อนที่เราจะไปทราบถึงสาเหตุ เราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานและกลไกของหูเบื้องต้นของเราก่อน

โดยหูของเราแบ่งได้เป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ดังนี้

  • หูชั้นนอก
  • ใบหู (Pina หรือ auricle) ทำหน้าที่รับเสียง และส่งเข้าไปในช่องหู
  • ช่องหู (Ear canal) เปรียบเสมือนทางเดินของเสียงที่ส่งเข้าหู
  • หูชั้นกลาง
  • แก้วหู หรือ เยื่อแก้วหู (Eardrum หรือ tympanic membrane) ทำหน้าที่แปลงเสียงเป็นแรงสั่นสะเทือนไปยัง กระดูกค้อน ทั่ง โกลน
  • กระดูกค้อน ทั่ง โกลน (malleus , incus , stapes) กระดูกทั้งสามชั้นจะทำหน้าที่ส่งการสั่นสะเทือนของเสียงที่ได้รับไปยังหูชั้นใน
  • ท่อยูสเตเชี่ยน (Eustachian Tube) ทำหน้าที่คอยปรับความดันในช่องหูชั้นกลาง
  • หูชั้นใน
  • หูชั้นใน หรือ ก้นหอย (cochlea) ประกอบด้วยน้ำและเซลล์ “ขน” ที่มีการตอบรับและตอบสนองด้วยความไวสูง ซึ่งเคลื่อนไหวเมื่อถูกกระตุ้นด้วยแรงสั่นสะเทือนของเสียง
  • ระบบการทรงตัว (Vestibular system) ประกอบด้วยเซลล์ที่ทำหน้าที่ความคุมการทรงตัว
  • เส้นประสาทรับเสียง (Auditory nerve) ทำหน้าที่ส่งเสียงจากก้นหอย ไปยังสมอง

โดยเมื่อเสียงถูกส่งเข้ามาผ่านเข้าช่องหู เสียงจะไปสัมผัสกับแก้วหูทำให้เกิดความสั่นสะเทือน จากนั้นแก้วหูจะส่งสัญญาณการสั่นสะเทือนไปยัง กระดูก 3 ชิ้น ได้แก่ กระดูกค้อน ทั่ง โกลน ที่อยู่ในหูชั้นกลาง และส่งสัญญาณต่อไปยังหูชั้นในตามลำดับ

การสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้น้ำในหูชั้นในเกิดการกระเพื่อม ทำให้เซลล์ขนเกิดการลู่ลง เซลล์ขนเหล่านี้จะทำหน้าที่แปลงเสียงเป็นสัญญาณเพื่อส่งต่อไปยังประสาทรับเสียง และสัญญาณจะถูกส่งต่อไปยังสมองเพื่อแปลความหมายของเสียง

ส่วนสาเหตุที่ส่งผลต่อความบกพร่องทางการได้ยินในเด็ก แบ่งได้ดังนี้

  • หูชั้นนอก
  • มีสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้เกิดการอุดตันในช่องหู เช่น ขี้หูอุดตัน แมลง ลูกปัด เป็นต้น
  • ไม่มีรูหู, ใบหู หรือใบหูเล็กผิดรูปร่างตั้งแต่กำเนิด
  • เกิดการอักเสบของหูชั้นนอก
  • หูชั้นกลาง
  • มีน้ำขังอยู่ในหูชั้นกลาง เช่น การเป็นหวัด เนื่องจากจมูกกับหูชั้นกลางจะเชื่อมต่อกัน น้ำมูกอาจค้างอยู่ ทำให้การได้ยินลดลงได้
  • กระดูกหูผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
  • แก้วหูทะลุ เกิดจากการปั่นหูแรง หรือสั่งน้ำมูกแรง ๆ
  • ท่อยูสเตเชียนทำงานผิดปกติ
  • หูชั้นใน
  • สามารถเกิดได้ทั้งก่อนกำเนิด หรือหลังกำเนิดก็ได้ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งเกิดได้จากการสืบทอดจากพ่อแม่
  • การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน หรือปัญหาสุขภาพของแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ อาจส่งผลต่อการพัฒนาของหูของทารกในครรภ์

ลักษณะอาการ

ผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการของเด็กได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เปิดโทรทัศน์เสียงดัง เด็กมีการถามซ้ำ ๆ หรือ เรียกแล้วเด็กไม่ตอบสนองต่อเสียงที่เรียก หากพบปัญหาดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์ในทันที เพื่อเข้ารับการประเมินอาการโดยเร็วที่สุด

การป้องกัน

เบื้องต้น เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กมีปัญหาการได้ยินบกพร่องตั้งแต่แรกเกิด ควรตรวจสุขภาพของคู่สมรส และหากครอบครัวมีประวัติการป่วยที่เกี่ยวกับหู ควรปรึกษาแพทย์ก่อนมีบุตร ในระหว่างตั้งครรภ์ควรฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ และไม่ควรใช้ยาหรือสารเคมีที่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์

ต่อมา การป้องกันการได้ยินในเด็ก เด็กควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคที่จำเป็น และผู้ปกครองควรสังเกตอาการของเด็กอยู่เสมอ เพราะหากเกิดปัญหาจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที 

สุดท้าย การดูแลสุขภาพหูอย่างถูกต้อง หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง หรือในสมัยปัจจุบันควรตรวจหูฟังของเด็กว่าเปิดดังไปหรือไม่ และควรหลีกเลี่ยงการแคะหู ปั่นหู หรือนำสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในรูหู เพราะอาจทำให้เกิดการอุดตัน อาจส่งผลร้ายแรงถึงแก้วหูอักเสบได้

โดยร่างกายของมนุษย์สามารถทำความสะอาดหูของตัวเองได้ ขี้หูสามารถไหลออกมาจากรูหูได้ตามธรรมชาติ เราเพียงแค่ดูแลความสะอาด และเช็ดบริเวณรอบ ๆ ใบหู ก็เพียงพอแล้ว 

การรักษา

การรักษาปัญหาการได้ยิน สามารถรักษาได้ตามความรุนแรงของอาการที่แตกต่างกันออกไป สามารถแบ่งได้ ดังนี้

  • การกำจัดขี้หู สามารถรักษาได้ด้วยการล้างหู ใช้ยาหยอด หรือใช้อุปกรณ์สูญญากาศเพื่อดูดขี้หูออกมา
  • การใส่เครื่องช่วยฟัง เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ขยายเสียงจากภายนอกให้ได้ยินชัดเจนมากขึ้น โดยอุปกรณ์จะมีขนาดพอดีหู โดยมักจะพบในผู้ป่วยที่มีปัญหาการได้ยินในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง
  • ประสาทหูเทียม วิธีนี้ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติตรงบริเวณประสาทรับเสียงระดับรุนแรง โดยจะเป็นการผ่าตัดเพื่อใส่เครื่องมือขนาดเล็กที่ถูกนำไปทดแทนการทำงานของหูชั้นในที่ได้รับความเสียหาย 
  • การผ่าตัด ผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเนื่องจากสาเหตุเฉพาะ เช่น โรคหินปูเกาะกระดูกหู การติดเชื้อในหูซ้ำ ๆ การได้รับบาดเจ็บรุนแรงบางอย่างที่หู เป็นต้น ซึ่งวิธีนี้ แพทย์จะใส่ท่อเล็ก ๆ ในหู เพื่อป้องกันการติดเชื้อในหู และระบายของเหลวที่อยู่ในหูออกมา

หมายเหตุ ตามประกาศของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อปี พ.ศ. 2564 เด็กไทยสามารถใช้สิทธิระบบบัตรทอง เพื่อเข้ารับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม โดยมีข้อกำหนด ต้องอายุไม่เกิน 5 ปี และมีระดับการได้ยินที่ 90 เดซิเบลขึ้นไป

หากคุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครองท่านใด พบว่าบุตรหลานของท่านมีอาการตามที่กล่าวมา ตามบทความ ! เรียกแล้วไม่หัน ! สัญญาณอันตรายในเด็ก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับรักษา ทั้งนี้ หากใครที่ไม่ได้มีอาการก็อย่างพึ่งนิ่งนอนใจ ควรทำตามคำแนะนำเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาของการได้ยินที่จะตามมา เพราะหากรู้ตัวในวันที่สายไป อาจทำให้สูญเสียการได้ยินอย่างถาวรได้

หากท่านใดสนใจอยากปรึกษาเกี่ยวกับ เครื่องช่วยฟัง ประสาทหูเทียม สามารถติดต่อมาได้ที่ hearLIFE เรามีผลิตภัณฑ์ที่พร้อมรองรับทุกปัญหาการได้ยิน และทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการแก้ไขปัญหาการได้ยินที่พร้อมให้คำปรึกษา และบริการ

สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับโรคหูเพิ่มเติมได้ที่ บทความ

image by Freepik

Line Official : @hearlifeth

Facebook: https://www.m.me/hearlifethai

หรือโทร 02-693-9411

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *