การตรวจการได้ยิน : ในยุคปัจจุบันนี้ท่านสามารถเข้ารับบริการตรวจเช็คระดับการได้ยินของหูได้โดยสะดวก ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล, คลินิกหู คอ จมูก, ศูนย์การได้ยิน, บริษัทหรือร้านที่จำหน่ายเครื่องช่วยฟังที่มีเจ้าหน้าที่เฉพาะทางด้านการได้ยินให้บริการในการ ตรวจการได้ยิน อยู่ โดยผลตรวจการได้ยินจะแสดงผลออกมาเป็นตัวเลขในหน่วย เดซิเบล ซึ่งการได้ยินปกติ หมายถึงมีระดับการได้ยินไม่เกิน 25 เดซิเบล ในทุกความถี่ที่ทำการตรวจวัด
ซึ่งหากตรวจพบว่าระดับการได้ยินไม่อยู่ในเกณฑ์ปกติ (คือมีจุดที่การได้ยินเกิน 25 เดซิเบล) แนะนำให้ตรวจการได้ยินแบบละเอียดเพิ่มเติม เพื่อนำผลตรวจไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา หรือพิจารณาอุปกรณ์ช่วยเหลือเป็นลำดับต่อไป ซึ่งแพทย์อาจสั่งตรวจการได้ยินชนิดอื่นๆเพิ่มเติมได้ดังต่อไปนี้
1. การตรวจการได้ยิน แบบวินิจฉัย (Audiometry)
เป็นการตรวจหาระดับเริ่มต้นการได้ยิน โดยการตรวจจะต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยในการตอบสนองต่อเสียงทุกครั้งที่ได้ยิน โดยการกดปุ่มหรือยกมือเมื่อได้ยินเสียงสัญญาณ ประกอบด้วย
- การตรวจการได้ยินโดยใช้เสียงบริสุทธิ์ (เสียงปี๊ด ,ปู๊ด ทุ้มแหลมแตกต่างกันไปตามความถี่) ซึ่งจะตรวจ2ช่องทาง ได้แก่ ตรวจผ่านการนำเสียงทางอากาศ (ครอบหูด้วย headphone / earphone) และตรวจผ่านการนำเสียงทางกระดูก (วางอุปกรณ์สั่นสะเทือนไว้ที่กระดูกกกหู)
- การตรวจการได้ยินโดยใช้เสียงพูด (ให้ผู้ป่วยพูดตามคำพูด 1-2 พยางค์)
2. การตรวจการทำงาน ของหูชั้นกลาง (Tympanometry)
เป็นการตรวจวัดการทำงานของหูชั้นกลาง ตรวจโดยการปล่อยความดันพร้อมกับเสียงสัญญาณเข้าไปในช่องหูของผู้ป่วยผลตรวจแสดงเป็นกราฟรูปร่างต่างๆ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประกอบกับผลตรวจการได้ยินชนิดอื่นๆเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำมากขึ้น
3. การตรวจการได้ยิน ระดับก้านสมอง (ABR / ASSR)
เป็นการตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง ทดสอบการทำงานของ neuroauditory pathway ทำการตรวจได้โดยง่ายโดยไม่ต้องใช้การตอบสนองจากผู้ป่วย ผู้เข้ารับการตรวจแค่เพียงนอนนิ่งๆ ฟังเสียงสัญญาณการตรวจ ผลตรวจจะแสดงออกเป็นกราฟ ซึ่งสามารถใช้ในการประเมินระดับการได้ยิน หรือใช้แยกพยาธิสภาพระหว่างหูชั้นในกับเส้นประสาทหรือสมองได้
4. การ ตรวจประเมินเสียงรบกวนในหู (Tinnitus evaluation)
เป็นการตรวจหาความถี่และความดังที่ใกล้เคียงกับเสียงรบกวนที่ดังในหูของผู้ป่วย ใช้ตรวจเพื่อประกอบการวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษา
5. ตรวจการได้ยิน High frequency audiometry
เป็นการตรวจหาระดับเริ่มต้นการได้ยินที่บริเวณความถี่สูง (เหนือ 8000 Hz) ใช้ในการตรวจเพื่อเปรียบเทียบการได้ยินในผู้ป่วยที่ได้รับยาที่มีพิษต่อหูก่อนและหลังได้รับยา (ยาเคมีบำบัดบางชนิดมีผลข้างเคียงต่อการได้ยิน) หรือในผู้ป่วยที่มีปัญหาเสียงรบกวนในหู
สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับโรคหูเพิ่มเติมได้ที่ บทความ
image by Freepik
Line Official : @hearlifeth
Facebook: https://www.m.me/hearlifethai
No responses yet