10 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับ ” การได้ยิน ” : หลายครั้งที่เราอาจจะเคยได้ยินคนอื่นเล่าต่อกันมาต่าง ๆ นานาว่า ต้องทำแบบนี้ ห้ามทำแบบนั้น ทำแบบนี้แล้วไม่ดี ทำแบบนั้นแล้วจะดีกว่า เกี่ยวกับเรื่องของ การได้ยิน เป็นต้น
แต่เราก็ไม่รู้ว่าความเชื่อเหล่านั้นเป็นความเชื่อที่ถูกต้องจริงหรือไม่ ดังนั้นเราจะมาทำความกระจ่างกันเสียตั้งแต่วันนี้ เพื่อไม่ให้ความเชื่อผิด ๆ ถูกเผยแพร่ออกไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานของเราต่อไป
รวม 10 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับ ” การได้ยิน “
1. ขี้หู ยี้…สกปรก
คนส่วนใหญ่อาจมองว่าขี้หูคือสิ่งสกปรกที่ต้องจำกัดออกจากร่างกาย แต่ในความจริงแล้วขี้หูนั้นมีหน้าที่สำคัญมากต่อระบบการฟังเสียงของเรา ขี้หูมีลักษณะคล้ายขี้ผึ้งซึ่งเกิดจากต่อมสร้างขี้หู ทำหน้าที่ช่วยป้องกันผิวหนังบริเวณช่องหู ทำความสะอาดช่องหูโดยจับกับเซลล์ผิวหลังที่ตายแล้วหลุดลอกออกมา ป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ช่องหู เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา แมลง และน้ำ จึงอาจกล่าวได้ว่าขี้หูเปรียบเสมือนสารหล่อลื่นและเครื่องป้องกันการติดเชื้อในช่องหู
ดังนั้นการจำกัดขี้หูออกจนหมด จึงเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะปกติแล้วขี้หูจะถูกขับออกมาเองได้โดยเฉพาะเวลาเคี้ยวอาหารขี้หูจะสามารถค่อย ๆ เลื่อนหลุดออกมาได้เองตามธรรมชาติ ซึ่งการกำจัดขี้หูออกนั้น มีกรณีเดียวที่จำเป็นต้องทำ นั่นก็คือเมื่อมีปัญหาขี้หูอุดตัน โดยจะมีอาการแน่นรูหู มีเสียงดังในหู ได้ยินเสียงลดลง ปวดหู หรือมีของเหลวไหลออกจากหู
ในกรณีเช่นนี้ก็ไม่ควรกำจัดออกด้วยตนเอง แต่ต้องไปปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก เพื่อทำการรักษาให้ และไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน เพราะอาจจะทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้
2. เครื่องช่วยฟัง: อุปกรณ์แห่งความบกพร่อง
เมื่อมีการตรวจการได้ยินแล้วพบว่าควรใส่เครื่องช่วยฟัง แต่ยังรู้สึกอายเนื่องจากเข้าใจว่าเครื่องช่วยฟังคืออุปกรณ์ที่แสดงถึงความพิการ ความบกพร่อง ความผิดปกติของร่างกาย สิ่งเหล่านี้คืออุปสรรคทางความคิดอันดับต้น ๆ ที่จะทำให้ปฏิเสธการใส่เครื่องช่วยฟัง
ซึ่งนั่นหมายความว่าคุณได้ปฏิเสธการใช้ประสาทสัมผัสทางหูออกไป การปฏิเสธนี้จะส่งผลกระทบต่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน เมื่อคุณไม่สามารถสื่อสารได้อย่างปกติเพราะฟังไม่ชัดเจน ได้ยินเสียงเบา หรือบางคนแทบจะไม่ได้ยินเสียงคำพูดเลย จะทำให้ผู้ร่วมสนทนาทราบว่า คุณกำลังมีปัญหา และนี่คือความบกพร่องอย่างแท้จริง
จะดีกว่าไหม..หากเราสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เพียงแค่ดำเนินตามขั้นตอนการรักษาอย่างถูกต้อง การใส่เครื่องช่วยฟังอาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ร่วมสนทนาใช้การสื่อสารที่เหมาะสมจนคุณสามารถฟังเสียงการสนทนาได้อย่างราบรื่นและไม่รู้สึกถึงผิดปกติเลยก็ได้
3. หูไม่ได้ตึง แค่พูดให้ดังก็ฟังได้แล้ว
สิ่งที่น่าแปลกในที่สุดก็คือ คำพูดนี้มักจะมาจากผู้ที่มีปัญหาหูตึงโดยตรง การให้ผู้พูดใช้เสียงดังขึ้นกว่าระดับปกติแล้วผู้ฟังจะได้ยินเสียงดังฟังชัด นั่นหมายความว่า คุณมีปัญหาการได้ยินเรียบร้อยแล้ว เพราะไม่สามารถฟังเสียงได้ชัดเจนในระดับเสียงปกติ
ในช่วงแรกผู้ที่สูญเสียการได้ยินอาจจะไม่รู้สึกถึงปัญหาเพราะแค่ให้พูดดังขึ้นหรือตะโกนก็จะสามารถสื่อสารกันได้ แต่ในระยะยาวคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวจะรู้สึกว่าไม่สามารถตะโกนคุยได้ตลอดเวลา จนในที่สุดต้องใส่เครื่องช่วยฟัง
ถ้าสังเกตพบปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้น สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนก็คือทำการนัดตรวจการได้ยินเพื่อประเมินถึงระดับการได้ยินว่ามีปัญหาหรือไม่ หลังจากนั้นจึงทดลองเครื่องช่วยฟังที่จะช่วยในการสื่อสารต่อไป
4. แก่แล้ว/อยู่คนเดียว จะใช้เครื่องช่วยฟังไปทำไม
เหตุผลที่ทำให้ผู้สูญเสียการได้ยินต้องใส่เครื่องช่วยฟัง คือ เพื่อช่วยรักษาการได้ยินให้คงที่และไม่เสื่อมไปมากกว่าเดิม ซึ่งฟังดูก็เป็นประโยคที่สมเหตุสมผล แต่ก็มักจะมีเหตุผลอื่น ๆ ที่ทำให้ผู้ใช้เลือกที่จะปฏิเสธการใส่เครื่องช่วยฟัง เช่น อายุเยอะแล้ว อยู่บ้านคนเดียว ไม่มีคนคุยด้วย เป็นต้น
ซึ่งแท้จริงแล้ว การใส่เครื่องช่วยฟังจะทำหน้าที่ขยายเสียงทุกเสียงที่อยู่รอบตัวเข้าไปกระตุ้นระบบประสาทการได้ยินที่เสื่อมไปแล้วให้ยังคงทำงานเสมือนมีการได้ยินที่ใกล้เคียงปกติ ในระยะแรกของผู้ใช้เครื่องช่วยฟังอาจต้องมีการปรับตัวกับเสียงรอบข้าง แต่เมื่อปรับตัวได้ก็จะสามารถฟังเสียงรอบตัวได้อย่างเป็นธรรมชาติ
ดังนั้น การที่คุณอยู่คนเดียวไม่ได้หมายความว่าไม่จำเป็นจะต้องได้ยินเสียงอะไรเลย เพราะเสียงที่อยู่รอบตัวคุณเหล่านี้เองจะทำให้คุณรู้สึกว่าคุณได้ยินเสียง
5. เครื่องช่วยฟัง ยิ่งใส่ หูยิ่งเสีย
การใส่เครื่องช่วยฟังทำให้หูเสียได้จริงหรือ ? การใส่เครื่องช่วยฟังที่ถูกต้องตามมาตรฐาน คือ จะต้องได้รับการตรวจประเมินการได้ยิน แล้วเลือกเครื่องช่วยฟังที่เหมาะสมกับการสูญเสียที่เกิดขึ้น โดยสิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรก ๆ คือ “กำลังขยาย” ของเครื่องช่วยฟังว่ามีเพียงพอกับระดับการสูญเสียที่เกิดขึ้นหรือไม่ และการปรับตั้งเครื่องช่วยฟังที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ใช้ได้รับประโยชน์จากเครื่องช่วยฟังมากที่สุด
ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจำเป็นต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญและมีการนัดติดตามอยู่เป็นระยะ จึงจะไม่ทำให้การได้ยินเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว แต่หากใส่เครื่องช่วยฟังแล้วไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ นั่นก็อาจจะทำให้สูญเสียการได้ยินเพิ่มมากขึ้นได้
6. เปิดยิ่งดัง ฟังยิ่งมันส์
หลายคนที่ใช้เครื่องช่วยฟังตามที่ผู้เชี่ยวชาญปรับตั้งให้แล้วรู้สึกเบาเกินไปจึงขอเพิ่มเสียงให้รู้สึกดังมาก ๆ จึงพอใจ การกระทำเหล่านี้อาจส่งผลร้ายต่อการได้ยินได้ เนื่องจากการปรับตั้งค่าตามระดับการสูญเสียการได้ยินจะเป็นการปรับที่เหมาะสมแล้ว
แต่หากรู้สึกเบามาก ฟังไม่ได้ยิน อาจต้องทำการประเมินระดับการได้ยินหรือตั้งค่าเครื่องช่วยฟังที่เหมาะสมใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ในช่วงแรกของการเริ่มใช้เครื่องช่วยฟัง ผู้ใช้อาจรู้สึกว่าการได้ยินขณะใส่เครื่องช่วยฟังไม่ค่อยสบายหู นั่นเป็นเพราะไม่เคยชินกับเสียงจากเครื่องช่วยฟัง
ดังนั้นการดูแลหลังการขายที่ดีจึงควรมีการนัดติดตามหลังใส่เครื่องช่วยฟังอย่างน้อย 1-3 เดือน เพื่อประเมินระดับการได้ยินและปรับแก้ตามสภาพปัญหาที่ผู้ใช้งานจริงประสบอยู่
7. เครื่องช่วยฟังอันละร้อยก็ใช้ได้เหมือนกัน
ปัจจุบันมีการจำหน่ายเครื่องช่วยฟังอย่างแพร่หลาย เป็นที่ทราบกันดีว่ามีเครื่องช่วยฟังราคาถูกที่วางขายอยู่ทั่วไป เครื่องช่วยฟังราคาถูกมาก ๆ เหล่านั้น คือ เครื่องช่วยฟังที่ทำหน้าที่ขยายเสียงเพียงอย่างเดียว เปรียบได้กับการเปิดลำโพงกรอกใส่หู ซึ่งไม่สามรถปรับตั้งค่าตามระดับการสูญเสียการได้ยินที่เหมาะสมได้
หากคุณคิดว่านี่เป็นทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสม คุณกำลังคิดผิด การเลือกเครื่องช่วยฟังที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถปรับตั้งค่ากำลังขยายได้นั้นจะทำให้ผู้ใช้เครื่องช่วยฟังมีการสูญเสียการได้ยินเพิ่มมากขึ้นจนถึงขั้นหูหนวกได้ เนื่องจากผู้ใช้ถูกกระตุ้นด้วยเสียงที่ดังจนเกินไปในระยะเวลานานจนทำให้เซลล์ประสาทหูเกิดความอ่อนล้าและตายลงในที่สุด การเสื่อมและล้มตายของเซลล์ประสาทหูนี้จะไม่สามารถรักษาให้คืนกลับมาเป็นปกติได้
ดังนั้นจึงควรคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจเลือกอุปกรณ์ที่จะนำมาใช้กับร่างกาย โดยเฉพาะเครื่องช่วยฟังที่สามารถตัดสินอนาคตการได้ยินของตัวคุณเอง
8. ยืมเครื่องช่วยฟังคนอื่นมาใส่ ก็ฟังได้ชัดเจนดี
การใส่เครื่องช่วยฟังของผู้อื่นอาจทำให้รู้สึกว่าได้ยินเสียงดังฟังชัดเจน แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าการได้ยินที่ชัดเจนนั้นเหมาะสมกับตัวคุณหรือไม่ และหากเครื่องช่วยฟังที่ยืมมาเป็นเครื่องช่วยฟังแบบในช่องหูแล้วละก็จะทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น เจ็บหู มีแผลที่หู ปวดหู บวม แดง จนอาจทำให้หูอักเสบได้
เนื่องจากเครื่องช่วยฟังแบบดังกล่าวเป็นเครื่องช่วยฟังที่สั่งทำขึ้นมาเฉพาะของช่องหูบุคคลนั้น ๆ จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่คนอื่นจะสามารถใส่ได้อย่างแนบสนิท และแม้จะเป็นเครื่องช่วยฟังแบบเกี่ยวหลังใบหู ก็ควรจะต้องมีการปรับตั้งค่าการได้ยินให้เหมาะสมกับระดับการได้ยินก่อนจะใช้เป็นอุปกรณ์เครื่องช่วยฟัง
9. ใส่เครื่องช่วยฟัง เฉพาะตอนที่มีคนพูดด้วยก็พอ
หากคุณเห็นประโยชน์ของเครื่องช่วยฟังเฉพาะช่วงสนทนาเท่านั้น คุณประเมินคุณค่าของเครื่องช่วยฟังน้อยเกินไป การใช้เครื่องช่วยฟังเพื่อช่วยในการสื่อสารเป็นหน้าที่หลักของเครื่องช่วยฟังก็จริง แต่อย่าลืมอีกหน้าที่ที่สำคัญไม่แพ้กันนั่นก็คือการกระตุ้นให้เซลล์ประสาทหูได้ทำงานอย่างสม่ำเสมอ เปรียบเสมือนมีการออกกำลังกายที่หูอยู่ตลอดเวลาขณะใส่เครื่องช่วยฟัง
ซึ่งจะทำให้เซลล์ประสาทหูไม่เสื่อมลดลงไปกว่าเดิม ในทางกลับกันหากมีการใส่เฉพาะช่วงเวลาที่มีเสียงพูด และเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ต่อวัน ก็จะไม่สามารถกระตุ้นการทำงานได้เท่าที่ควร จึงควรใส่ในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อการกระตุ้นเซลล์ประสาทหูที่ต่อเนื่องเพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งความสามารถเดิมของการได้ยินให้คงที่
10. เครื่องช่วยฟังพังง่ายจัง ไม่เคยได้เอามาฟัง อ้าว….ฟังซะแล้ว
เครื่องช่วยฟังคืออุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ชนิดหนึ่ง ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับพลังงานไฟฟ้าที่พอเหมาะเพื่อกระตุ้นให้เครื่องช่วยฟังทำงานตามปกติ แต่หากไม่มีการเปิดใช้งานเลยเป็นระยะเวลานาน ๆ ชิ้นส่วนของอุปกรณ์เหล่านี้อาจเกิดการชำรุดเสียหายเนื่องจากสภาพความร้อน ความชื้น ของสถานที่ที่เก็บรักษา จึงทำให้เปิดเครื่องไม่ติดหรือเครื่องมีปัญหาได้
ดังนั้นสถานที่เก็บเครื่องช่วยฟังและการจ่ายไฟอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยชะลอการชำรุดเสียงหายของเครื่องช่วยฟังได้ ซึ่งการดูแลรักษาเครื่องช่วยฟังตามคำแนะนำก็จะเป็นตัวช่วยในการยืดอายุการใช้งานของเครื่องช่วยฟังได้เป็นอย่างดี
เป็นอย่างไรกันบ้าง ได้ไขความกระจ่างกันไปเยอะเลย และถ้าหากผู้อ่านท่านใดยังคงมีข้อสงสัย หรือต้องการคำปรึกษาจากนักแก้ไขการได้ยินและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ก็สามารถฝากข้อความ หรือทำนัดหมายเพื่อเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ
สามารถรับชมคลิปวิดีโอเพิ่มเติมได้ที่ด้านล่าง
สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับโรคหูเพิ่มเติมได้ที่ บทความ
Line Official : @hearlifeth
Facebook: https://www.m.me/hearlifethai
หรือโทร 02-693-9411
No responses yet