หูหนวก : เตรียมพร้อมรับมือ : ก่อนที่จะสายไป

หูหนวก : เตรียมพร้อมรับมือ : ก่อนที่จะสายไป

หูหนวก : เตรียมพร้อมรับมือ ก่อนที่จะสายไป การสื่อสาร ถือเป็นเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์เรา หากขาดการสื่อสาร ก็จะทำให้ขาดความเข้าใจซึ่งกันและกัน จนอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ เพื่อน ๆ รู้หรือไม่ว่า หู คืออวัยวะหลัก ที่สำคัญต่อการสื่อสารของคนเรา เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการได้ยินเสียง ที่ทำให้เราสามารถเข้าใจถึงสารที่จะสื่อออกมาได้ หากเกิดอะไรขึ้นกับหูของเรา ก็จะส่งผลให้เราไม่สามารถได้ยินเสียง และไม่สามารถพูดโต้ตอบได้ วันนี้ hearLIFE จะพาทุกท่านไปรู้จักกับ อาการหูหนวก สาเหตุของอาการ วิธีป้องกัน และวิธีการรักษาที่จะสามารถช่วยให้สามารถกลับมาได้ยินอีกครั้ง

หูหนวก คืออะไร ?

คือ การที่คนเรามีความสามารถทางได้ยินลดลง หรือสูญเสียการได้ยินทั้งหมดไป เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่กำเนิด หรืออาจเกิดขึ้นภายหลังก็ได้ สามารถเกิดขึ้นได้กับหูข้างเดียว และอาจเกิดพร้อมกันทั้งสองข้างก็ได้ โดยส่วนใหญ่เกิดจากการที่ประสาทหูของเรานั้นเสื่อมสภาพลงเพราะมีอายุที่มากขึ้น กรรมพันธุ์ หรือการได้ยินเสียงดังมากๆเป็นเวลานาน เป็นต้น

สาเหตุของอาการ หูหนวก

การสูญเสียการได้ยิน มีสาเหตุมาจากการที่คลื่นเสียงที่ส่งมาจากภายนอกไม่สามารถนำเสียงส่งไปยังสมองได้ โดยการสูญเสียการได้ยินแบ่งเป็น 3 ประเภทได้แก่

1. การสูญเสียการได้ยินจากการนำเสียงบกพร่อง (Conductive Hearing Loss) 

เป็นการที่เสียงไม่สามารถเดินทางผ่านหูชั้นนอก และหูชั้นกลาง เพื่อนำไปสู่หูชั้นในตามปกติได้ เช่น

  • มีขี้หูอุดตันอยู่ในรูหูเป็นจำนวนมาก
  • มีสิ่งแปลกปลอมค้างอยู่ในรูหู เช่น น้ำ หรือเศษฝุ่น เป็นต้น
  • แก้วหูทะลุ 
  • โรคหินปูนเกาะกระดูกหู มีหินปูนเกิดขึ้นที่หูชั้นกลาง ทำให้ไม่สามารถส่งเสียผ่านจากหูชั้นกลางไปยังหูชั้นในได้
  • เกิดการทำงานที่ผิดปกติของท่อยูสเตเชียน (Eustachian Tube)  เป็นท่อที่เชื่อมต่อกับคอหอย ทำหน้าที่ปรับแรงดันในช่องหูชั้นกลาง

2. การสูญเสียการได้ยินที่โสตประสาท (Sensorineural Hearing Loss) 

เป็นการที่หูชั้นใน หรือประสาทการได้ยิน ได้รับความเสียหาย เช่น

  • เสื่อมตามวัย
  • กรรมพันธุ์
  • การได้รับบาดเจ็บรุนแรงที่กระทบต่อหูชั้นใน
  • การติดเชื้อที่หูชั้นใน
  • การใช้ยาจากการรักษาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัด หรือยาปฏิชีวนะ
  • โรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรังหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยโรคเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเสียการได้ยิน

3. การรับฟังเสียงบกพร่องแบบผสม (Mixed Hearing Loss) 

คือ การเป็นทั้งสองกรณีจากที่กล่าวข้างต้น เป็นการสูญเสียการความสามารถการนำเสียงของหูชั้นนอก และหูชั้นกลาง ร่วมกับการสูญเสียความสามารถของหูชั้นใน 

ลักษณะอาการ

โดยทั่วไปอาการ หูหนวก จะค่อย ๆ เป็นทีละนิด เกิดจากการเสื่อมตามวัยของอวัยวะ มักจะพบในผู้สูงอายุ แต่อาการก็สามารถเกิดขึ้นอย่างฉับพลันได้ หากละเลยการดูแลสุขภาพ และการใช้งานหูที่หนักเกินไป ลักษณะอาการที่พบ ได้แก่

  • ได้ยินเสียง แต่ไม่สามารถหาต้นต่อของเสียงได้ 
  • มักจะให้ผู้อื่นพูดซ้ำ ๆ ไม่สามารถเข้าใจความหมายของคำพูด
  • ได้ยินเสียงต่าง ๆ ไม่ชัดเจน ต้องการเสียงที่ดังมาก ๆ ถึงจะสามารถสื่อสารได้

หากพบอาการดังกล่าว ควรเข้าพบแพทย์หลังจากมีอาการไม่เกิน 1-2 วัน เพื่อที่จะสามารถรักษา และประเมินอาการได้อย่างทันท่วงที โดยระดับการสูญเสีย การได้ยินของอาการหูหนวกคือ เสียงที่ได้ยินเบาที่สุดคือระดับ 90 เดซิเบล ในกรณีนี้ผู้ป่วยสามารถรักษาได้ ดังนี้

  • การใส่เครื่องช่วยฟัง เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ขยายเสียงจากภายนอกให้ได้ยินชัดเจนมากขึ้น เป็นหนึ่งในทางเลือกของคนที่ไม่สะดวกเข้ารับการผ่าตัด ก็สามารถใช้อุปกรณ์ดังกล่าวได้
  • ประสาทหูเทียม เป็นการผ่าตัดเพื่อใส่เครื่องมือขนาดเล็กที่ถูกนำไปทดแทนการทำงานของหูชั้นในที่ได้รับความเสียหาย เหมาะสำหรับผู้ที่ได้รับความเสียหายทางการได้ยินระดับรุนแรง 
  • การผ่าตัด เป็นการเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากสาเหตุเฉพาะ เช่น การติดเชื้อในหูซ้ำ ๆ การได้รับบาดเจ็บรุนแรงบางอย่างที่หู เป็นต้น

หูหนวก : เตรียมพร้อมรับมือ : ก่อนที่จะสายไป

การป้องกันอาการหูหนวก 

ในหลาย ๆ กรณี ก็มีผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ การป้องกัน และการดูแลหูให้ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อที่จะสามารถรักษาสุขภาพหูให้สามารถใช้งานได้อย่างยาวนานมากยิ่งขึ้น ทำได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังเกินไป เช่น เสียงจากหูฟังที่ดังเกินไป เสียงลำโพงจากคอนเสิร์ต หรือเสียงจากเครื่องจักร แต่หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรป้องกันด้วยเครื่องป้องกันเสียง เช่น ที่อุดหู หรือที่ครอบหู เป็นต้น
  • ทำความสะอาดรูหูอย่างถูกวิธี เราไม่ควรใช้ไม้พันสำลีทำความสะอาดในรูหูของเรา เพราะจะเป็นการดันให้ขี้หูขยับลึกเข้าไปอัดแน่นกันจนปิดกั้นการได้ยินเสียง โดยปกติแล้วขี้หูสามารถไหลออกมาจากการทำความสะอาดตัวเองของร่างกาย เราเพียงแค่เช็ดที่บริเวณหูชั้นนอก ก็เพียงพอต่อการทำความสะอาดแล้ว
  • ตรวจสอบยาที่ใช้ มียารักษาโรคหลายชนิดที่ส่งผลต่อการได้ยินเช่น ยาปฏิชีวนะ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ และพูดถึงต่อผลกระทบ หรือตรวจสอบการได้ยินก่อนที่จะใช้ยา

 

ดังนั้น หากมีเพื่อน ๆ หรือคนใกล้ชิดคนใด มีการเข้าข่ายตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อรักษา หากปล่อยไว้นาน อาจทำให้สูญเสียการได้ยินไปอย่างถาวร ทั้งยังส่งผลโดยตรงต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วย และการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เกิดอาการวิตกกังวล รู้สึกแย่ ไม่อยากออกไปพบปะผู้คน หลีกเลี่ยงการพูดคุย 

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ หูหนวก เป็นชื่อที่ดูน่ากลัว แต่ถ้าเราทราบถึงสาเหตุ วิธีการป้องกัน และวิธีการรักษาแล้ว ก็จะสามารถรับมือกับอาการดังกล่าวได้ หากใครมีข้อสงสัย หรือคำถามใด ๆ  สามารถทักมาสอบถามกับเราได้ 

 

สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับโรคหูเพิ่มเติมได้ที่ บทความ

image by Freepik

Line Official : @hearlifeth

Facebook: https://www.m.me/hearlifethai

หรือโทร 02-693-9411

 

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *