7 สิ่งที่ต้องคำนึง เพื่อ ยืดดดด..ด อายุ เครื่องช่วยฟัง

หากกล่าวถึง เครื่องช่วยฟัง สำหรับผู้ที่มีปัญหาหูตึงแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องช่วยฟังนั้นได้กลายเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญสำหรับผู้ที่สวมใส่เป็นอย่างมาก และเพื่อให้อุปกรณ์ชิ้นพิเศษนี้มีอายุการใช้งานและอยู่กับเราไปได้นาน แน่นอนว่าการดูแลรักษาที่ดีคือปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งที่จะทำให้เครื่องช่วยฟังของเรานั้นอยู่ในสภาพใหม่ ดูดี และพร้อมใช้งานทุกเมื่อที่เราต้องการ

สำหรับปัญหาของการใช้เครื่องช่วยฟังส่วนใหญ่ที่ทำให้เครื่องช่วยฟังมีอายุการใช้งานสั้น หรือกล่าวง่าย ก็คือ พังเร็วกว่าความเป็นจริง มักมีปัญหาที่เกิดมาจากความชื้น การตกหล่น การกระทบกระแทก รวมไปถึงการดูแลรักษาที่ผิดวิธี อย่างเช่น ไม่นำแบตเตอรี่หรือถ่านออกจากเครื่องช่วยฟังเมื่อไม่ได้ใช้เครื่องช่วยฟังเป็นระยะเวลานานจนทำลายขั้วสัมผัสภายในเครื่องช่วยฟังกลายเป็นสนิม ซึ่งเป็นสาเหตุให้เครื่องช่วยฟังไม่สามารถทำงานได้ตามปกติอีกต่อไป

และ 7 สิ่งต่อไปนี้คือสิ่งที่เราจะต้องคำนึงถึงเสมอ เพื่อให้เครื่องช่วยฟังทำงานเต็มประสิทธิภาพได้อย่างยาวนาน

1. เช็ดหูให้สะอาด

ก่อนการใช้งานเครื่องช่วยฟังทุกครั้ง ควรตรวจดูความสะอาดช่องหูของตัวเองก่อนเสมอ และควรเช็ดบริเวณรอบ ช่องหูด้านนอกให้สะอาดด้วยผ้าสะอาดหรือกระดาษทิชชู่ ไม่ควรใช้สำลีปั่นหูหรือวัสดุอื่นใดทำความสะอาดภายในช่องหู

2. ห้ามเปียกน้ำ

สำหรับเครื่องช่วยฟังบางรุ่นที่ไม่มีคุณสมบัติกันน้ำ วิธีการดูแลเครื่องช่วยฟังก็จะต้องระมัดระวังและทะนุถนอมเรื่องความเปียกชื้นมากกว่าเครื่องช่วยฟังรุ่นกันน้ำเป็นกรณีพิเศษ โดยต้องพยายามเก็บรักษาเครื่องช่วยฟังให้มีความเสี่ยงต่อการโดนน้ำน้อยที่สุด และเมื่อเครื่องช่วยฟังเปียกน้ำ ให้รีบซับน้ำออกด้วยผ้าสะอาดให้แห้งที่สุด ปิดเครื่อง แล้วนำถ่านหรือแบตเตอรี่ออกจากเครื่องช่วยฟัง หากไม่มั่นใจ ให้นำเครื่องช่วยฟังเข้าศูนย์การได้ยินที่น่าเชื่อถือเพื่อตรวจเช็กสภาพเครื่องช่วยฟัง

3. ห้ามใช้แอลกอฮอล์

ควรเช็ดทำความสะอาดเครื่องช่วยฟังเบื้องต้นด้วยผ้าสะอาดและแห้งหรือใช้ชุดทำความสะอาดเครื่องช่วยฟังโดยเฉพาะ แต่ไม่ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดด้วยตนเอง เพราะอาจเป็นสาเหตุให้ชิ้นส่วนอุปกรณ์ภายในเครื่องช่วยฟังเกิดความเสียหายได้

4. นำถ่านออกทุกครั้ง

หลังจากการใช้งานเครื่องช่วยฟังมาตลอดทั้งวันแล้ว แนะนำให้เช็ดทำความสะอาดคราบเหงื่อไคลที่อาจติดมากับเครื่องช่วยฟัง พร้อมกับดูดความชื้นทุกครั้ง และสิ่งสำคัญที่จะต้องไม่ลืมก็คือ การถอดถ่านหรือแบตเตอรี่ออกหลังเลิกใช้งานเครื่องช่วยฟังทุกครั้ง เพื่อป้องกันการผุกร่อนและเกิดสนิมจากของเหลวที่อาจจะออกมาสัมผัสกับเครื่องช่วยฟังได้

5. ใช้ถ่านที่ผลิตมาเพื่อเครื่องช่วยฟังโดยเฉพาะเท่านั้น

หลีกเลี่ยงการซื้อถ่านหรือแบตเตอรี่ตามท้องตลาดทั่วไปมาใช้ เนื่องจากระบบกำลังในการส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าของถ่านหรือแบตเตอรี่แต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ซึ่งจะส่งผลต่ออายุการใช้งานของเครื่องช่วยฟัง ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับเครื่องช่วยฟังในอนาคต จึงควรเลือกใช้ถ่านหรือแบตเตอรี่ที่ผลิตขึ้นมาสำหรับเครื่องช่วยฟังโดยเฉพาะเท่านั้น

6. เก็บไว้ในอุณหภูมิปกติ

การเก็บรักษาเครื่องช่วยฟังควรเก็บไว้ในห้องที่อุณหภูมิปกติ หลีกเลี่ยงการวางไว้ในบริเวณที่มีความชื้นสูง เช่น ห้องน้ำ และหลีกเลี่ยงการวางไว้ใกล้กับแหล่งกำเนิดความร้อนต่าง เช่น เตาไฟฟ้า นอกจากนี้ห้ามนำเครื่องช่วยฟังเข้าไมโครเวฟ หรือใช้ไดร์เป่าผมความร้อนสูงเพื่อไล่ความชื้นโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เครื่องช่วยฟังเสียหายได้

7. ตรวจเช็กสภาพเครื่องช่วยฟังที่ศูนย์อย่างสม่ำเสมอ

ควรนำเครื่องช่วยฟังส่งเข้าศูนย์การได้ยินที่เชื่อถือได้เป็นประจำทุก 4 เดือน แต่ไม่ควรเกิน 6 เดือน เพื่อให้ทีมช่างหรือวิศวกรตรวจเช็กสภาพเครื่องช่วยฟังให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และนอกจากจะมีการตรวจเช็กเครื่องช่วยฟังแล้ว ในศูนย์การได้ยินที่ได้มาตรฐานก็จะมีบริการตรวจเช็กการได้ยินให้กับท่านอีกด้วย เพื่อให้การปรับตั้งค่าเครื่องช่วยฟังมีความแม่นยำและเฉพาะเจาะจงกับแต่ละบุคคล

 

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *