เสียงรบกวนในหู (Tinnitus) บางคนได้ยินเป็นเสียงคล้ายจิ้งหรีด,จักจั่นร้องระงมอยู่ในหู บางคนได้ยินเป็นเสียงคล้ายลมดังฟู่ๆ หึ่งๆ ซ่าๆ หรือบางคนอาจได้ยินเป็นเสียงวิ๊งๆ วี้ๆ  ซึ่งเสียงรบกวนในหู เป็นอาการที่ผู้ป่วยได้ยินเสียงดังขึ้นมาเองภายในหู เกิดจากการสร้างเสียงขึ้นมาเองจากเส้นประสาทการได้ยิน ซึ่งอาการนี้สามารถเกิดขึ้นชั่วคราวแค่ 1-2 วินาทีขณะที่อยู่ภายในห้องเงียบๆ หรือสามารถเป็นแบบเรื้อรังคือมีเสียงดังอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดความรำคาญและกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้ 

สาเหตุที่ทำให้เกิดเสียงรบกวนในหู มีหลายปัจจัย ซึ่งขอแจกแจงเป็น2ประเภทเพื่อความเข้าใจง่ายดังนี้

1.ปัจจัยภายนอก

  • เสียงดัง การได้ยินเสียงดังติดต่อกันเป็นเวลานานอาจเป็นสาเหตุให้เกิดเสียงรบกวนในหูได้ บางรายเสียงรบกวนในหูอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหลังจากพักหูไม่ไปสัมผัสเสียงดังๆอีกอาการอาจหายไปได้เอง  
  • การเปลี่ยนแรงดันอย่างรวดเร็ว เมื่อดำน้ำลึก ,ขึ้น-ลงลิฟท์ ,ขึ้น-ลงเขา ,นั่งเครื่องบิน การเปลี่ยนแรงดันอากาศอย่างรวดเร็วทำให้ร่างกายปรับแรงดันไม่ทัน ส่งผลกระทบต่อแรงดันในหูชั้นกลาง ส่งผลถึงการทำงานของหูชั้นใน ทำให้เกิดเสียงรบกวนในหูขึ้นได้ 
  • ยาที่มีพิษต่อหู ยาบางชนิดมีผลข้างเคียง ก่อให้เกิดอาการเสียงรบกวนในหูได้

2. ปัจจัยภายใน

  • มีปัญหาในช่องหูชั้นนอก เช่น มีขี้หูอุดตัน ซึ่งเมื่อนำขี้หูที่อุดตันออกแล้วอาการเสียงดังรบกวนในหูอาจหายไป
  • มีปัญหาในหูชั้นกลาง เช่น แก้วหูทะลุเนื่องจากหูน้ำหนวก หรือ แก้วหูอักเสบเนื่องจากหวัด ซึ่งเป็นสาเหตุให้ท่อที่ต่อไปหูชั้นกลางอุดตัน ดังนั้นเมื่อกลืนน้ำลาย จึงปรับเปลี่ยนแรงดันไม่ได้ตามปกติ ก่อให้เกิดอาการตื้อที่หู และมีเสียงรบกวนในหูตามมาได้
  • ความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดแข็งตัว เส้นเลือดแดงโป่งพอง เป็นต้น
  • โรคทางสมอง เช่น เนื้องอกสมอง เส้นเลือดในสมองตีบ เลือดออกในสมอง เป็นต้น
  • อายุ เมื่ออายุมากขึ้นอาจมีการเสื่อมที่ประสาทหูขึ้นได้ ซึ่งการมีประสาทหูเสื่อมนั้นนอกจากจะมีปัญหาเรื่องการได้ยินลดลงแล้ว อาจมีอาการข้างเคียงเป็นเสียงดังรบกวนในหูร่วมด้วยได้
  • สาเหตุอื่นๆ  กระดูกในหูมีการงอกผิดปกติ, ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร, ไซนัสอักเสบ, โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

ผู้ที่มีเสียงรบกวนในหูควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของการเกิดเสียงที่ดังรบกวนในหู เพื่อการวางแผนการรักษาที่ได้ประสิทธิภาพ แพทย์จะส่งตรวจตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

1.ส่องหูโดยแพทย์เพื่อตรวจสภาพช่องหูชั้นนอก (Otoscopy)

2.ส่งตรวจวัดระดับการได้ยิน (Audiometry)

3.ส่งตรวจประเมินเสียงรบกวนในหู (Tinnitus Evaluation)

ซึ่งการตรวจทั้งหมดนี้เป็นเพียงการวินิจฉัยอาการเสียงดังรบกวนในหูเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุที่ก่อให้เกิดเสียงรบกวนในหูเพื่อการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมเป็นลำดับต่อไป

 

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *