เครื่องช่วยฟัง ชนิดที่มีการต่อลำโพงเข้าไปบริเวณช่องหู (RIC: Receiver In Canal) มีใช้กันมานานมากกว่า 3-4 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมมากเนื่องจากมีขนาดเล็กและตัวเครื่องซ่อนตัวอยู่หลังใบหูจนแทบมองไม่เห็น  อีกทั้งประสิทธิภาพเครื่องยังสามารถทำได้หลากหลาย บทความนี้จะช่วยตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับเครื่องช่วยฟังประเภท RIC เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น

เครื่องช่วยฟัง แบบ RIC คืออะไร…ลักษณะเครื่องมีความแตกต่างกับ BTE และ ITE อย่างไร 

เครื่องช่วยฟังแบบ RIC เป็นเครื่องช่วยฟังที่มีสายไฟขนาดเล็กต่อเข้ากับลำโพงที่จะถูกวางไว้บริเวณในช่องหู ซึ่งจะทำให้การรับฟังเสียงใกล้เคียงกับธรรมชาติโดยผ่านทางช่องหู เครื่องช่วยฟังประเภทนี้สามารถปรับเปลี่ยนระดับกำลังขยายได้ตามขนาดลำโพงที่เลือกใช้ เพื่อความสะดวกสบายของผู้ใช้งานและเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องช่วยฟังให้ดีขึ้น

เครื่องช่วยฟังแบบ BTE (ทัดหลังใบหู) จะเป็นเครื่องช่วยฟังที่มีอุปกรณ์และแผงวงจรที่สำคัญอยู่ภายในตัวเรือนของเครื่องทั้งสิ้น  ลำโพงที่ตัวเครื่องที่ถูกวางอยู่ด้านบนของใบหูและต่อโดยตรงกับท่อพลาสติกเพื่อส่งสัญญาณเสียงเข้าสู่หูของผู้ใช้งาน ซึ่งการรับฟังเสียงจากลำโพงที่อยู่บริเวณหลังใบหู (BTE) จะไม่เป็นธรรมชาติเท่ากับการรับฟังเสียงจากลำโพงที่ถูกวางไว้บริเวณช่องหู

ขณะที่เครื่องช่วยฟังแบบ ITE (แบบใส่ในช่องหู) ตัวเครื่องจะอยู่ภายในช่องหูทั้งหมด ซึ่งลักษณะการรับเสียงของรุ่น RIC จะคล้ายกับ ITE แตกต่างกันตรงที่กำลังขยายโดย  RIC สามารถรับได้มากกว่า ITE และคุณภาพเสียงจะเป็นธรรมชาติมากกว่า ผู้ใช้งานจะไม่รู้สึกว่ามีอะไรอุดกั้นอยู่ภายในช่องหูเหมือนรุ่น ITE

ดังนั้นเครื่องช่วยฟังแบบ RIC ตัวเครื่องจึงมีระบบคล้ายคลึงกับเครื่องแบบ BTE แต่มีการต่อวงจรในส่วนของลำโพงที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณเสียงออกมาไว้ภายนอกตัวเรือน  ลำโพงนี้จึงถูกวางไว้ที่ช่องหูเหมือนกับเครื่องแบบ ITE หากพิจารณาที่รูปลักษณะภายนอกแล้วจะพบว่าเครื่องแบบ RIC มีขนาดเล็กกว่าเครื่องแบบ BTE อยู่มาก และมีกำลังขยายที่สามารถรองรับการสูญเสียการได้ยินที่เกิดขึ้นได้ดีกว่ารุ่น ITE ซึ่งอาจจะใกล้เคียงกับ BTE ที่มีขนาดใหญ่กว่า

ประโยชน์ที่จะได้รับจากเครื่องแบบ RIC

เป็นอุปกรณ์ที่มีการออกแบบมาอย่างรอบครอบ เนื่องจากตัวเครื่องมีขนาดเล็กมากจึงซ่อนตัวอยู่บริเวณหลังใบหูได้อย่างแนบสนิท ประกอบกับท่อขนาดเล็กที่เป็นอุปกรณ์สำหรับเชื่อมต่อลำโพงเข้ากับตัวเครื่อง ซึ่งท่อส่งสัญญาณนี้จะแนบไปกับรอยพับของใบหูทำให้ไม่เป็นที่สังเกต และตัวเครื่องมีลำโพงที่สามารถต่อได้หลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับขนาดที่เหมาะสมกับการสูญเสียการได้ยินที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าหากมีการสูญเสียการได้ยินมากขึ้นในระหว่างใส่เครื่องช่วยฟังในอนาคตจะทำให้ไม่สามารถใช้เครื่องช่วยฟังได้อีกต่อไป เพราะเพียงแค่เปลี่ยนลำโพงเป็นชนิดที่เหมาะสมก็จะสามารถรองรับการได้ยินที่เสียมากขึ้นได้เช่นกัน แต่เนื่องจากมีการวางลำโพงไว้บริเวณในช่องหู บางครั้งอาจมีการสะสมของความชื้นจากสภาพแวดล้อมและเหงื่อของผู้ใช้งานจึงอาจทำให้เกิดความเสียหายกับอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ได้ ผู้ใช้จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังและดูแลรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งควรจะเข้าเครื่องดูดความชื้นทุกครั้งหลังการใช้งาน เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องช่วยฟัง

ผู้สนใจสามารถพิสูจน์ลักษณะของเสียงที่ใกล้เคียงธรรมชาติได้ด้วยตนเอง โดยติดต่อเข้ามาลองเครื่องแบบ RIC ได้ที่บริษัทโดยไม่มีค่าบริการ

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *