ธรรมชาติสร้างมนุษย์ให้มีอวัยวะต่างๆเพื่อทำหน้าที่ที่แตกต่างกันไป บางอวัยวะถูกสร้างให้มีเพียงหนึ่งเดียว บางอวัยวะถูกสร้างขึ้นมาเป็นคู่ ซึ่งหูก็เป็นหนึ่งในอวัยวะที่ถูกธรรมชาติสรรค์สร้างขึ้นมาเป็นคู่เช่นกัน การที่มนุษย์เรามีหูสองข้างนั้นก็เพื่อประโยชน์ในด้านการรับเสียงจากทิศทางต่างๆได้ทั่วถึง การมีหูสองข้างที่มีการได้ยินดีพร้อมนั้นจะช่วยให้มนุษย์ดำรงชีวิตประจำวันได้โดยสะดวกสบาย

ซึ่งการได้ยินครบถ้วนปกติดีทั้งสองหูนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา มีหลายคนที่โชคดีเกิดมามีการได้ยินดีพร้อมทั้งสองหู บางคนโชคไม่ดีเกิดมาได้ยินเพียงข้างเดียว และมีอีกหลายคนโชคร้ายที่เกิดมาหูหนวกทั้งสองข้างเลย ซึ่งในอดีตกลุ่มคนที่โชคไม่ดีเหล่านั้นจำเป็นต้องยอมรับสภาพความไม่เท่าเทียมของตนเอง หลายคนต้องมีความลำบากในการรับฟังเสียง ต้องใช้ความพยายามมากคนอื่นในการพุดคุยสื่อสาร และมีอีกหลายคนที่ไม่มีโอกาสที่จะได้ยินเสียงต้องใช้ภาษาท่าทางหรือภาษามือในการสื่อสารกับผู้อื่น

เมื่อหูไม่ได้ยิน ควรทำอย่างไรดี?

จากบทความข้างต้นจะเห็นได้ว่าการมีสองหูย่อมดีกว่าหูเดียวเป็นแน่แท้ แต่ใครจะคาดคิดได้ว่าหากวันนึงหูเราเกิดมีอาการไม่ได้ยินเสียงเกิดขึ้นมาอย่างฉับพลัน เราจะทำอย่างไรดีนะ แน่นอนหากอยู่ดีๆเกิดไม่ได้ยินเลยทั้งสองข้างคงไม่มีใครนิ่งเฉยได้แน่ เราก็คงจะรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาให้ไวที่สุดอยู่แล้ว แต่สำหรับบางคนที่อาการหูดับฉับพลันเกิดขึ้นเพียงข้างเดียวล่ะ จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน สังเกตได้ว่าส่วนมากคนไข้กลุ่มนี้ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าหูตนเองเงียบไปข้างหนึ่ง กว่าจะรู้ตัวว่าหูตนเองมีปัญหาเวลาก็ผ่านมาเนิ่นนานจนรักษาด้วยยาไม่ทันซะแล้ว (ปกติอาการหูดับฉับพลัน ผู้ป่วยจะต้องได้รับยารักษาโดยเร็วที่สุด จึงจะมีโอกาสที่การได้ยินจะฟื้นคืนกลับมาได้) ดังนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่หูดับหนึ่งข้าง จะได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที เพราะกว่าจะทราบว่าหูข้างหนึ่งของตนไม่ได้ยินเสียงนั้นก็อาจเป็นตอนที่ คุยโทรศัพท์ที่ฝั่งนั้นแล้วไม่ได้ยินเสียง หรือขณะใส่หูฟัง เท่านั้น เนื่องจากหูอีกข้างหนึ่งยังรับฟังได้ปกติจึงทำให้สังเกตได้ยาก ดังนั้นผู้เขียนจึงขอแนะนำให้เราหมั่นเช็คการได้ยินเบื้องต้นด้วยตัวเองโดยใช้นิ้วมือถูกันบริเวณหน้ารูหู หากยังคงได้ยินเสียงนิ้วมือถูกัน ดังเท่ากันที่หูทั้งสองข้าง นั่นบ่งบอกถึงหูสองข้างยังสามารถรับเสียงได้เท่ากันอยู่ แต่หากมีข้างใดข้างหนึ่งที่ได้ยินเบากว่า นั่นอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพการได้ยินที่ลดลงแล้ว เมื่อสังเกตด้วยตนเองได้ดังนี้แล้วไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์หรือผู้เชียวชาญด้านการได้ยินโดยเร็วที่สุด

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *