หูฟัง

หูฟัง … ภัยร้ายใกล้ตัว

ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ หูฟัง ทั้งด้านการสื่อสารและด้านความบันเทิง ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการใช้งานตามสถานที่ต่างๆมากมาย เช่น ในระหว่างเดินทางด้วยรถสาธารณะ รถไฟใต้ดิน รถไฟฟ้า เดินห้างสรรพสินค้า ออกกำลังกาย หรือแม้แต่การใช้งานในระหว่างทำงานหรือพักผ่อน แต่น้อยคนนักที่จะทราบถึงผลร้ายที่จะตามมาหากเราใช้งานผิดวิธี บทความนี้จะทำให้ท่านทราบว่าการใช้งานอย่างไรจึง จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อหูได้

หูฟังที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ หูฟังแบบใส่ในช่องหู (In Ear), แบบครอบหู (Headphone) หรือ แบบเอียร์บัด (Ear buds)

ซึ่งหูฟังแต่ละแบบก็ถูกออกแบบให้รองรับการใช้งานในแต่ละด้านแตกต่างกัน ปัจจุบันหูฟังที่คนนิยมใช้มากที่สุดก็คือแบบใส่ในช่องหู (In Ear) เนื่องจากพกพาสะดวก เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้ง่าย แต่หารู้ไม่ว่าหูฟังชนิดนี้ทำร้ายการได้ยินของผู้ใช้ได้อย่างถาวร เนื่องจากการใช้หูฟังประเภทดังกล่าวจะนำเสียงเข้าสู่หูโดยตรง ซึ่งเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีเสียงรบกวนผู้ใช้อาจเพิ่มเสียงโดยไม่รู้ตัว วัตถุประสงค์ที่เพิ่มเสียงก็เพียงเพื่อให้ได้ยินเสียงจากหูฟังดังฟังชัดเจน แต่หากเสียงรบกวนภายนอกอยู่ในระดับเสียงที่ดังมาก แน่นอนว่าผู้ใช้ก็จะเพิ่มเสียงในหูฟังให้ดังกว่าเสียงรบกวนภายนอก ซึ่งหากต้องการได้ยินเสียงที่ชัดเจนขึ้นจะต้องเพิ่มความดังมากกว่าเสียงรบกวน 10-15 เดซิเบล ลองสมมติว่าเสียงภายนอกมีความดังประมาณ 70-80 เดซิเบล นั่นความหมายว่าผู้ใช้จะต้องเพิ่มไปถึง 90 เดซิเบล ซึ่งเป็นระดับที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าเป็นอันตรายต่อระบการได้ยินแล้ว ด้วยเหตุนี้เองการใช้เสียงดังมากใส่เข้าไปในหูเป็นเวลานานหลายชั่วโมงติดต่อกัน อาจทำให้เกิดการล้าของเซลล์ระบบประสาทการได้ยินขึ้น ซึ่งหากยังคงทำพฤติกรรมเช่นนี้อย่างต่อเนื่องเซลล์ระบบประสาทที่เคยล้าก็จะไม่ได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาทำงานได้อย่างปกติ ซ้ำยังถูกกระตุ้นมากขึ้นเรื่อยๆจนทำให้เซลล์ในระบบประสาทการได้ยินเกิดการเสื่อมหรือตายลงจนไม่สามารถใช้งานได้

 

สัญญาณบ่งบอกว่าคุณใช้ระดับเสียงดังเกินไป

สัญญาณบ่งบอกว่าคุณใช้ระดับเสียงที่ดังเกินไป คือ อาการเสียงดังในหู ซึ่งเสียงดังกล่าวจะรู้สึกว่าได้ยินตลอดเวลาแม้จะถอดหูฟังออกแล้วก็ตาม เป็นอาการแสดงว่าประสาทได้รับการกระทบกระเทือนจากเสียง  และหากไม่รีบแก้ไขอาจมีอาการมากขึ้น เช่น รู้สึกว่าการได้ยินลดลง ฟังเสียงคนพูดคุยกันไม่ค่อยชัดเจน แสดงว่าเกิดปัญหากับระบบการได้ยินขึ้นแล้วฉะนั้นเมื่อมีอาการดังกล่าวควรหยุดใช้หูฟัง แล้วไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราหลีกเลี่ยงการใช้หูฟังในบริเวณที่มีเสียงรบกวน ดีกว่ารอให้มีปัญหาทางการได้ยินแล้วค่อยเลิกใช้งาน หรืออาจใช้อีกวิธีคือการตั้งระดับความดังที่ใช้ในห้องเงียบไว้และไม่เพิ่มความดังเมื่อต้องใช้งานในสถานที่ภายนอก เพียงเท่านี้ก็จะสามารถป้องกันอันตรายจะเกิดจากการฟังเสียงที่ดังเกินไปจากหูฟังได้

 

Tags

One response

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *