การตรวจการได้ยินมีหลายรูปแบบ ซึ่งหากแบ่งตามวัตถุประสงค์ของการตรวจจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจได้โดยง่าย ดังต่อไปนี้ค่ะ

  • ตรวจเพื่อคัดกรองการได้ยิน
  • ตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค

สำหรับบทความนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะการตรวจเพื่อคัดกรองการได้ยินก่อน โดยการตรวจเพื่อคัดกรองการได้ยินเบื้องต้นเป็นการตรวจว่าผู้ที่ได้รับการตรวจมีระดับการได้ยินปกติหรือไม่ ซึ่งวิธีการตรวจก็จะมีความแตกต่างกันไปทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

1. ในเด็กแรกเกิดหรือเด็กเล็กๆ จะใช้วิธีตรวจวัดเสียงสะท้อนจากหูชั้นใน (Otoacoustic emission : OAEs)

เป็นการตรวจวัดเสียงสะท้อนจากเซลล์ขนภายในหูชั้นใน สามารถตรวจได้โดยง่ายและตรวจได้อย่างรวดเร็ว แค่เพียงให้เด็กนั่งนิ่งๆหรือตรวจขณะเด็กหลับ  มักใช้สำหรับตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด เพื่อหาความผิดปกติด้านการได้ยินในเด็กแรกคลอด ช่วยลดอัตราผู้พิการทางการได้ยิน หากได้รับการรักษาหรือแก้ไขการได้ยินตั้งแต่เล็ก สามารถป้องกันปัญหาพัฒนาการทางภาษาและการพูดล่าช้าไม่สมวัยได้  (บางโรงพยาบาลมีโครงการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด ซึ่งได้มีรายการตรวจชนิดนี้เพิ่มเข้าไปในโปรแกรมคลอดบุตร หรือโปรแกรมการตรวจสุขภาพเด็กแรกเกิดของทางโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะตรวจในเด็กทารกหลังคลอดที่มีอายุเกิน 24 ชม. เป็นต้นไป)

2. ในเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยและสามารถให้ความร่วมมือในการตรวจได้ จะใช้วิธีการตรวจแบบ Visual Reinforcement Audiometry

เป็นการประเมินการได้ยินแบบคร่าวๆโดยการปล่อยเสียงจากทางลำโพงให้เด็กฟัง เมื่อเด็กได้ยินเสียงแล้วตอบสนองโดยการหันมองตามเสียงที่ได้ยิน ผู้ตรวจจะเปิดตุ๊กตาเคลื่อนไหวที่ซ่อนอยู่ข้างลำโพงให้เด็กดูเป็นรางวัล

3. สำหรับผู้ใหญ่ จะใช้วิธีการตรวจการได้ยินแบบ Audiometry

เป็นการตรวจหาระดับเริ่มต้นการได้ยิน โดยการตรวจจะต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยในการตอบสนองต่อเสียงทุกครั้งที่ได้ยินโดยการกดปุ่มหรือยกมือเมื่อได้ยินเสียงสัญญาณ ซึ่งการตรวจการได้ยินแบบAudiometry ประกอบด้วยการตรวจการได้ยินโดยใช้เสียงบริสุทธิ์(เสียงปี๊ด ,ปู๊ด ทุ้มแหลมแตกต่างกันไปตามความถี่) ผ่านการนำเสียงทางอากาศ (ครอบหูด้วย headphone / earphone) และการนำเสียงทางกระดูก (วางอุปกรณ์สั่นสะเทือนไว้ที่กระดูกกกหู) ผลตรวจจะแสดงเป็นกราฟการได้ยินในหน่วยเดซิเบล(dB)

หากผลตรวจคัดกรองการได้ยินไม่อยู่ในเกณฑ์ปกติ  แพทย์อาจนัดตรวจซ้ำหรือสั่งตรวจการได้ยินชนิดอื่นๆเพิ่มเติมเป็นลำดับต่อไป

Tags

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *